จะเชื่อได้อย่างไร? เครื่องประดับหยกที่หาซื้อได้ทั่วไปนั้น เป็นหินล้ำค่าจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่สิ่งของที่ทำขึ้นจากพลาสติกคุณภาพดี..
นักค้าจากกรุงย่างกุ้งเตือนให้ผู้บริโภคชาวไทยพึงระวัง
หยกเป็นหินล้ำค่าที่คนเชื้อสายจีนนิยมซื้อหาเก็บไว้เป็นเครื่องประดับมงคล เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ (Stone of Heaven) ช่วยเสริมโชคลาภ ความร่ำรวย ความสงบสุขและทำให้มีสุขภาพดีอายุยืนยาว
แต่ใครจะทราบว่า..แท้จริงแล้วหยกที่ขายตามท้องตลาดอันไหน คือ ของจริง หรือเป็นเพียงแค่พลาสติกหรือเป็นหินย้อมสีเท่านั้น
พม่าเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยหยก มีการประมูลซื้อขายกันอย่างเป็นทางการปีละหลายๆ ครั้ง
แท้จริงแล้วหยกส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยนำเข้าจากพม่า ไม่ใช่จีนอย่างที่หลายคนเข้าใจ หยกจากพม่าก็มีสีสันสวยงามและคุณภาพดีไม่เป็นรองใครในโลก นายสุริยา สาทไทย ผู้ค้าหยกกล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน”
วิธีการดูหยกนั้น นายสุริยา กล่าวว่า หยกแท้จะต้องเย็น แม้อยู่ในอุณหภูมิห้องธรรมดา ซึ่งอาจทดสอบด้วยการยกหยกขึ้นแตะที่แก้ม
การดูราคาของหยกให้ดูสีและเนื้อหยก โดยหยกที่สียิ่งเข้มราคาก็จะยิ่งสูง และ หากเป็นหยกเนื้อใสด้วยก็จะมีราคาสูงกว่าหยกเนื้อธรรมดาประมาณ 30% ปัจจัยต่อมาคือ การออกแบบ โดยหยกรูปไข่เป็นรูปทรงที่นิยมมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายสุริยา กล่าวอีกว่า เครื่องประดับหยกจากพม่ามีจุดอ่อนด้านการออกแบบที่ยังไม่สวยงามและยังดูไม่ทันสมัย เมื่อเทียบกับชิ้นงานที่ผลิตจากประเทศอื่นรวมทั้งไทยด้วย ดังนั้นจึงพบว่ามีการว่าจ้างแรงงานฝีมือจากไทยเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีของพม่าด้วย
“มีแรงงานฝีมือไทยประมาณ 50 คน ที่บริษัทว่าจ้างมาทำงาน โดยได้ค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ 30,000 บาท” นายสุริยา ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยที่ทำงานกับบริษัท PYI WAI CHAN GEMS CO กล่าว
นอกจากหยกแล้ว พม่ายังมีอัญมณีล้ำค่าอีกหลายชนิด เช่น ทับทิม เพทาย บุษราคัม นิล เป็นต้น โดยมีแหล่งผลิตใหญ่ที่เมืองโมก๊ก (Mogok) ซึ่งเป็น "เมืองแห่งอัญมณี" ของประเทศ เช่นเดียวกับ จันทบุรีของ และ ไพลิน (Pailin) ของกัมพูชาเมื่อก่อน
โมก๊ก (Mogok) เป็นเมืองเล็กๆ ในเขตมัณฑะเลย์ ห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 200 กม.ตามเส้นทางทุรกันดาร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 150,000 คน ที่นี่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งอัญมณีที่คุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากที่เคยเป็นเมืองเล็กๆ จำนวนประชากรในยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ต้องขับรถไป 5 ชั่วโมงจากมัณฑะเลย์ ไม่มีทางอื่นเข้าถึง” นายสุริยา กล่าว
อัญมณีที่มีชื่อเสียงอย่างมากจากโมก๊ก ก็คือ ทับทิม และ พลอยสีน้ำเงิน (Blue Sapphire) นอกจากนั้น ยังมีหินล้ำค้าหลากสีสันอีกหลายชนิด รวมทั้งพวก Spinel โปร่งใสสีฟ้าอ่อนสวยงาม
อย่างไรก็ตาม โมก๊ก ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางไปชม เจ้าหน้าที่ร้าน Naing Family จากกรุงย่างกุ้งกล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน”
ผู้ค้าจากพม่าจำนวน 5 บริษัท รวมทั้ง 4 บริษัทจากเมืองโมก๊ก ได้นำสินค้ามาร่วมแสดงและจำหน่ายในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 40 (40th Bangkok Gems & Jewelry Fair) ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 18-22 ก.ย. ที่ผ่านมา
งานนี้มีบริษัทผู้ค้าอัญมณี 1,186 แห่ง จาก 40 ประเทศทั่วโลกมาร่วมด้วย
บริษัทอัญมณีจากโมก๊ก 4 แห่ง ได้เข้าร่วมนำเสนออัญมณีประจำเมืองด้วย ซึ่งมีทั้งสินค้าที่ยังเป็นหินพลอนยังไม่ได้เจียระไน (Gemstone) และ ที่เจียระไนแล้วในรูปแบบอัญมณี (Jewelry)
นอกจากทับทิมและบลูแซฟไฟร์ ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโมก๊ก ผู้ร่วมงานยังได้ชมความงามของหินแร่สปิเนล (Spinel) บุษราคัม (Topaz) และ พลอยเพอริด็อต (Peridot) ซึ่งแต่ละชิ้นมีมูลค่าหลายพันจนถึงหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ