xs
xsm
sm
md
lg

จับ “นวนเจีย” ผู้นำหมายเลข 2 เขมรแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน -- ตำรวจกัมพูชากับเจ้าหน้าที่คณะตุลาการระหว่างประเทศ ที่กำลังไต่สวนกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอดีตผู้นำเขมรแดง ได้เข้าจับกุมนายนวนเจีย (Nuon Chea) ที่บ้านพักในเมืองไพลิน เมื่อวันพุธ (19 ก.ย.) นี้ และนำตัวไปยังกรุงพนมเปญ เพื่อสอบสวน

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและช่างภาพจำนวนมากได้ติดตามไปทำข่าวการจับกุมครั้งนี้ถึงไพลิน อันเป็นถิ่นพำนักของบรรดาผู้นำเขมรแดงสูงวัย ที่อยู่ติดชายแดนไทย และได้เห็นนายนวนเจียจะถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่เมืองหลวง

โฆษกของคณะตุลาการฯ ได้แถลงยืนยันการจับกุมในเวลาต่อมา

ปัจจุบันอายุ 82 ปี นายนวนเจีย เคยถูกเรียกขานเป็น “พี่ชายหมายเลข 2” และนักวิเคราะห์ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่ได้ศึกษาวิจัย กล่าวว่า เป็นผู้ที่เคยได้รับความไว้วางใจมากที่สุดจากนายพลพต (Pol Pot) อดีตผู้นำสูงสุดที่ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน

ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ต้องรับผิดชอบต่อการสังหารโหดชาวกัมพูชานับหมื่นๆ คน และต้องรับผิดชอบต่อการล้มตายของผู้คนราว 1.7 ล้านคน จากการถูกทำร้าย การทรมาน ความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในช่วงที่รัฐบาลเขมรแดงเรืองอำนาจ ในชั่วระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษ

นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งได้อาสาเป็นทนายความให้กับอดีตผู้นำเขมรแดงเหล่านี้ ในการไต่สวนของคณะตุลาการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติ

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุม นายกังคึ๊กเอียว (Kaing Khuek Eav) หรือ “สหายดุจ” (Duch) ไปสอบปากคำเป็นคนแรก นายเอียว เป็นอดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวลสเลง (Tuol Sleng) ในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีการสังหาร และทรมานนักโทษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

อย่างไรก็ตาม “สหายดุจ” เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวเนท เธเยอร์ (Nate Thayer) เมื่อปี 2542 ระบุว่า พลพต กับ นวนเจีย เป็นผู้ “สั่งการโดยตรง” ในการสังหารหมู่ที่ตวลสแลง

อดีตผู้นำอีก 2 คน ที่ยังมีชีวิตและอยู่ในข่ายจะต้องถูกจับกุมและสอบสวน รวมทั้งนายเคียว สมพอน (Khieu Samphan) กับ นายเอียงซารี (Ieng Sary) ด้วย ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ไพลินเช่นเดียวกัน

การจับกุม นายนวนเจีย ในตอนเช้าตรู่วันพุธใช้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษหลายนาย ทั้งหมดติดอาวุธครบมือ รวมทั้งแก๊สน้ำตาด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการป้องกันการหลบหนี หลังจากองครักษ์เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ว่า จะคุ้มครองอดีตผู้นำอย่างถึงที่สุด หากจะมีการจับกุม

ประวัติสั้นๆ คือ นายนวนเจีย เกิดปี 2468 ในครอบครัวชาวจีนมีอันจะกิน ที่ จ.พระตะบอง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในกรุงเทพฯ นี่เอง นายนวนเจีย ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี 2493
<CENTER><FONT color=#3366FF> การเข้าจับกุมตอนเช้าตรู่วันพุธ (19 ก.ย.) นี้ ใช้ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ อาวุธครบมือ หลังองครักษ์ประกาศก่อนหน้านี้ จะไม่ยอมให้นายนวนเจียถูกจับกุม</FONT></CENTER>
ปีถัดมา นายนวนเจีย ได้เข้าสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และเข้าสายจัดตั้งหน่วยพรรคในกัมพูชา นายนวนเจีย ไต่อันดับขึ้นอย่างรวดเร็วในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือลัทธิเหมาเจ๋อตง (Maoism) ในการปฏิวัติชาวนาและการทำสงครามกองโจรแบบป่าล้อมเมือง

ในเดือน เม.ย.2518 พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (Communist Party of Kampuchea) ที่นำโดย พลพต เข้ายึดอำนาจในกรุงพนมเปญ และเปลี่ยนประเทศสาธารณรัฐกัมพูชา (Republic of Cambodia) เป็นกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea)

การศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญได้พบว่า นวนเจีย เป็นอยู่เบื้องหลังนโยบายและวิธีการใช้ความรุนแรงต่างๆ ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในกรุงพนมเปญ ในช่วงที่เรืองอำนาจระหว่างปี 2518 จนถึงเดือน ม.ค.2522

ความขัดแย้งเรื่องแนวทางระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ลัทธิมาร์กซ์-เลนินสายโซเวียต นำไปสู่การเป็นปรปักษ์กันอย่างล้ำลึก

ในช่วงปีแห่งความขัดแย้งนั้นได้มีการปะทะตามแนวชายแดนระหว่างกองกำลังของสองฝ่ายเป็นระยะ ผลัดกันกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รุกราน

ในที่สุดปลายปี 2521 เวียดนามได้ส่งทหารราว 200,000 คน ข้ามพรมแดนเข้ากัมพูชา และ ยึดกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2522 โดยร่วมกับอดีตผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเขมรแดงแปรพักตร์จำนวนหนึ่ง

ต่อมาเวียดนามได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นบริหาร เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (Kampuchean People's Republic)

พรรคคอมมิวนิสต์ใหม่ในกรุงพนมเปญ ใช้ชื่อว่า “พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา” (Kampuchean People's Revolutionary Party) กลายเป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียต เช่นเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

บรรดาผู้นำที่แต่งตั้งโดยเวียดนามในครั้งนั้น หลายคนยังคงอยู่ในอำนาจมากระทั่งทุกวันนี้ ภายใต้พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) พรรคการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในปัจจุบัน
<CENTER><FONT color=#3366FF> ไร้เขี้ยวเล็บ-- ภาพถ่ายวันที่ 20 ก.ค.2550 นายนวนเจียและภรรยาวัย 71 ปี กับหลานๆ ที่บ้านพักเมืองไพลิน ห่างจากกรุงพนมเปญราว 375 กม. จากผู้ที่อำนาจมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศกลายเป็นเพียงชายชราที่ไร้เขี้ยวเล็บในปัจจุบัน </FONT></CENTER>
ผู้นำเหล่านี้รวมทั้ง นายฮุนเซน (Hun Sen) นายกรัฐมนตรี นายเจียซิม (Chea Sim) ประธานวุฒิสภา นายเฮง สัมริน (Heng Samrin) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ.เตียบัญ (Tea Banh) รัฐมนตรีกลาโหม กับ นายพล สะเรือน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย และ พล.อ.แก กิมยาน (Ke Kimyan) ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาด้วย

การดำเนินการอย่างล่าช้าในการจัดตั้งคณะตุลาการระหว่างประเทศ ได้ทำให้พลาดการไต่สวนผู้นำเขมรแดงสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ “ตา ม๊อก” (Ta Mok) ที่มีบทบาทอย่างสูงในกรณีสังหารหมู่

ตาม๊อกเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเขมรแดงทั้งหมดในสงครามต่อต้านกับเวียดนามที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 15 ปี

เขาได้รับฉายาจากบรรดาผู้ที่ใกล้ชิดว่าเป็น “คนฆ่าสัตว์” (The Butcher) สั่งสังหารนายซอนเซน (Son Sen) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมโดยการยิงแล้วใช้รถบรรทุกทับจนแหลกเหลว

ต่อมา ตาม๊อก นำพลพรรคก่อการแข็งข้อต่อการนำของพลพต สถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำกองกำลังเขมรแดง และไม่ยอมเข้ามอบตัวต่อทางการ ตามสัญญาสันติภาพกรุงปารีสในเดือน ต.ค.2534

ตาม๊อกได้สั่งตั้งคณะตุลาการขึ้นไต่สวนนายพลพต ในเขตฐานที่มั่นสุดท้ายที่ อ.อันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย (Oddor Meanchey) คณะตุลาการได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตอดีตผู้นำสูงสุด ในความผิดฐานดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้เกิดการสังหารผู้คนอย่างกว้างขวาง

พลพต อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจในปี 2542 ขณะอยู่ในที่คุมขัง

พิธีฌาปนกิจศพของเขาจัดขึ้นในชายป่าอันลองแวง โดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ ผู้ที่ยังเลื่อมใสศรัทธาได้จัดสร้างศาลเพียงตาขึ้นที่นั่น ทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจ

ตาม๊อกได้ถึงแก่กรรมเมื่อปีที่แล้วในโรงพยาบาลทหาร กรุงพนมเปญ ศพของเขาถูกนำกลับไปยังเมืองอันลองแวงใน จ.อุดรมีชัย และฌาปนกิจที่นั่น เช่นเดียวกันกับพลพต
กำลังโหลดความคิดเห็น