xs
xsm
sm
md
lg

พม่าดี๊ด๊าชื่นชม “เด็กหลอดแก้ว” รายแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หญิงพม่าคนหนึ่งในเมืองตองอู (Taungoo) เขตพะโค (Bago) กลายเป็นคุณแม่คนแรกในพม่าที่คลอดเด็กการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการปฏิสนธิในหลอดทดลอง

“เด็กหลอดแก้ว” เพศหญิงคนแรกมีน้ำหนัก 3.2 กก.เกิดจากการทำคลอดด้วยการผ่าตัด หลังจากอยู่ในครรภ์ของนางทินเมย์ต่วย (Tin May Htwe) อายุ 33 ปี เป็นเวลา 38 สัปดาห์

เด็กทารกคนดังกล่าวลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองตองอู โดยมีการตั้งกล้องโทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดสดให้ผู้คนบนถนนมากกว่า 50 คน ได้รับชมการทำคลอดประวัติศาสตร์ครั้งนี้

“เรื่องนี้ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สำหรับแพทย์พม่า และเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์การแพทย์ของพม่าเช่นกัน” นพ.คินหม่องต่วย (Dr Khin Maung Htwe) กล่าว นายแพทย์ผู้นี้ทำงานอยู่ในศูนย์เจริญพันธุ์พะโหสี (Bahosi Fertility Centre) กรุงย่างกุ้ง

เมื่อปีที่แล้วที่นั่นมีการทดลองกระบวนการปฏิสนธิในหลอดแก้วเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยคู่สามีภรรยาที่มีปัญหาการมีลูกให้ฝ่ายภรรยาสามารถตั้งครรภ์ได้

“นางทินเมย์ต่วย เป็นหญิงสาวคนแรกที่ไปยังศูนย์เจริญพันธุ์พะโหสี และเข้ารับการทดลองด้วยวิธีดังกล่าว ก่อนจะกลายเป็นคุณแม่คนแรกของพม่าที่คลอดเด็กหลอดแก้ว” นพ.คินหม่องต่วย กล่าว

ศูนย์เจริญพันธุ์พะโหสีจัดตั้งขึ้นในสังกัดของคลินิกพะโหสีเมื่อเดือน ส.ค.2549 โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งนำโดย พญ.เมย์ทูเมียวยู้นต์ (Dr May Thu Myo Nyunt) สูตินรีแพทย์ประจำท้องถิ่น

ในปีที่ผ่านมา ศูนย์แห่งนี้ได้การปฏิสนธิในหลอดแก้วให้สตรีรวม 50 คน โดยมี 6 คนประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ แต่ 2 ใน 6 คนดังกล่าวแท้งหลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์

การปฏิสนธิในหลอดแก้ว คือ การที่ไข่ได้รับการผสมพันธ์กับสเปิร์มภายนอกมดลูก

นางทินเมย์ต่วย ผ่าตัดทำการปฏิสนธิในหลอดแก้วที่ศูนย์เจริญพันธุ์พะโหสีในเดือน ธ.ค.โดยคณะแพทย์ได้นำเซลล์ไข่ 11 ใบ ไปผสมกับเสปิร์มของสามี ไข่ 8 ใบได้รับการผสมพันธุ์ และนำกลับไปใส่ในมดลูกของนางหลังจากผ่านไป 21 วัน

“พวกเรารู้ว่ามีโอกาสที่จะได้ลูก 8 คน...เราใช้ไข่หลายใบเนื่องจากต้องการลูกแฝด” นพ.บาส่วย (Dr Ba Swe) วัย 36 ปี สามีของนางทินเมย์ต่วย กล่าว

นพ.บาส่วย เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการมีลูกทั้งหมดคิดเป็นเงินประมาณ 6,000 ดอลลาร์ ซึ่งรวมถึง 3,000 ดอลลาร์ สำหรับการปฏิสนธิในหลอดแก้ว

“แต่ผมไม่ต้องการวัดความสุขจากจำนวนเงินที่ใช้ไป เนื่องจากพวกเรารู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับการคลอดที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้”

นพ.บาส่วย ยอมรับว่า ขั้นตอนทั้งหมดค่อนข้างตึงเครียด และเขาไม่ขอเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคตอันใกล้

“มันเป็นการเสี่ยงอย่างมาก พวกเราตื่นเต้น กังวล และเครียดกันมาก จนถึงเวลาที่การคลอดสำเร็จ หากเกิดการแท้งขึ้น พวกเราคงต้องเสียเงินฟรี”

“ผมขอแนะนำผู้ที่สนใจการปฏิสนธิในหลอดแก้วว่า ควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ทั้งหมด และต้องมั่นใจว่า พวกเขาสามารถที่จะอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรทำดีกว่า” นพ.บาส่วย กล่าว

นพ.คินหม่องต่วย เห็นด้วยว่าการปฏิสนธิในหลอดแก้วควรจะให้เป็นวิธีสุดท้าย

“พวกเราไม่ขอแนะนำว่า ผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกตามธรรมชาติได้ควรทำสิ่งนี้ มันควรเป็นทางเลือกท้ายสุด สามีภรรยาควรแน่ใจว่า พวกเขาได้พิจารณาหนทางทุกอย่างแล้ว ก่อนที่จะคิดถึงการปฏิสนธิในหลอดแก้ว” นพ.คินหม่องต่วย กล่าว

พญ.เมียะเมียะ (Mya Mya) จากคลินิก กล่าวว่า อุปสรรคประการสำคัญของวิธีการนี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมากเมื่อเที่ยบกับโอกาสประสบความสำเร็จที่ค่อนข้างน้อย

“อัตราการผสมพันธุ์สำเร็จมีเพียง 10% แต่พวกเราต้องเรียกเก็บเงินแพง เนื่องจากเครื่องมือทางการแพทย์ทุกชิ้นที่ใช้ต้องนำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว...พวกเรารู้ว่าค่าใช้จ่ายสูง แต่เราต้องการให้บริการนี้แก่หญิงพม่า และช่วยพัฒนาด้านการแพทย์ของประเทศ” พญ.เมียะกล่าว

ขณะที่ นายก๊ออาเชย์ยี (Ko Ashay Gyi) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของคู่สามีภรรยา กล่าวว่า รู้สึกยินดีกับนางทินเมย์ต่วย แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิสนธิในหลอดแก้วมากนัก

“นางทินเมย์ต่วย ต้องการตั้งครรภ์อย่างมากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และ พยายามปลอบใจตัวเองด้วยการดูแลลูกๆ ของเพื่อนบ้าน” นายยีกล่าว

“ตอนนี้เธอมีความสุขมากที่สามารถมีลูกของตนเองได้ แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเธอตั้งครรภ์ได้เช่นไร ผมพยายามขบคิดอยู่หลายชั่วโมง แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ”

ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเครียดและความกังวลมาได้ ตอนนี้นางทินเมย์ต่วยทำทุกอย่างอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา

“ตอนนี้ฉันมีลูกแล้ว ฉันมีความสุขมาก ต้องขอบคุณทุกคนเป็นอย่างยิ่ง” คุณแม่คนใหม่กล่าวกับทุกคนที่ให้กำลังใจเธอ
กำลังโหลดความคิดเห็น