แกรี่ กลิตเตอร์ (Garry Glitter) อดีตนักร้องชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเวียดนามจากข้อหาทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศเด็กจะขออภัยโทษให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวในเดือนนี้
อดีตซูปเปอร์สตาร์เพลงร็อกยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ถูกจับกุมตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2548 และถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2549 ฐานทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงเวียดนาม 2 คน วัย 11 และ 12 ปี ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในเมืองหวุงเต่า (Vung Tau) ใน จ.บ่าเหรียะ-หวุงเต่า ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
"ผมหวังว่ากลิตเตอร์จะได้รับการอภัยโทษภายในเดือนนี้เนื่องในโอกาสวันชาติเวียดนาม วันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา" นายเลแท็งกิ๋ง (Le Thanh Kinh) ทนายความกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
"กรณีของกลิตเตอร์จะได้รับการพิจารณาและส่งมอบให้กับคณะกรรมการนิรโทษกรรมส่วนกลาง ผมหวังว่ากลิตเตอร์จะเป็นหนึ่งในรายชื่อ(ของผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษ)"
นักร้องเพลงร็อกวัย 63 ปี มีชื่อจริงว่า พอล ฟรานซิส แกดด์ (Paul Francis Gadd) ได้รับการลดหย่อนโทษลง 3 เดือน ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณี (Tet) ทำให้มีกำหนดได้รับการปล่อยตัวในเดือน ส.ค. 2551
นายเหวียนมิงเจี๊ยต (Nguyen Minh Triet) ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวเมื่อสัปดาห์นี้ว่า นักโทษบางคนจะได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลกลางเนื่องในโอกาสวันชาติเวียดนาม หลังจากหลายจังหวัดอภัยโทษแก่ผู้ถูกคุมขังไปแล้วบางส่วนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อของทางการรายงาน
เพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับการอภัยโทษ นักโทษต้องแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาการในการประพฤติตัวเป็นคนดี และต้องได้รับโทษไปแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
ทนายของกลิตเตอร์กล่าวว่า ในปลายเดือนนี้ กลิตเตอร์จะรับโทษครบ 2 ใน 3 จากบทลงโทษทั้งหมด รวมถึงการคุมขังก่อนการตัดสินคดีด้วย และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการได้รับการปล่อยตัว
"เขาปฏิบัติตามกฎทุกอย่างในคุก และจ่ายค่าเสียหายให้แก่เหยื่อ...ผมคิดว่าเขาน่าจะได้รับอิสรภาพในเดือนนี้" นายกิ๋งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
กลิตเตอร์ อดีตร็อกเกอร์เจ้าเสน่ห์ ซึ่งเคยโด่งดังมากในเกาะอังกฤษจากการสวมวิกผมฟูอันหรูหราและแต่งตัวด้วยเสื้อกางเกงสีเงิน มีเพลงดังมากมายในช่วงทศวรรษ 1970 เช่น "I'm The Leader of The Gang (I Am!)" และ "Do You Wanna Touch Me?"
ชื่อเสียงกับอนาคตของเขาดับวูบลงในปี 2542 เมื่อถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกในข้อหามีภาพอันไม่เหมาะสมของเยาวชนไว้ในครอบครอง ตำรวจตรวจค้นบ้านพักในกรุงลอนดอน และพบภาพโป๊กับภาพลามกของเด็กๆ กว่า 4,000 ภาพในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา โดยกลิตเตอร์จำคุกเป็นเวลา 4 เดือนก่อนได้รับการปล่อยตัว และเดินทางออกจากอังกฤษ
กลิตเตอร์เข้าไปอาศัยอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งในกัมพูชา ซึ่งเขาถูกสื่ออังกฤษติดตามโดยตลอด ก่อนถูกขับออกจากประเทศในปี 2546
หลังจากนั้นกลิตเตอร์ย้ายไปอยู่ในเมืองหวุงเต่าของเวียดนามกับโสเภณีชาวเวียดนาม 3 คน ซึ่งพบกันในกัมพูชา และเป็นผู้จัดหาเด็กมามีเพศสัมพันธ์ให้กับเขา ทั้งนี้เป็นคำกล่าวอ้างของอัยการในคดี
เขาถูกจับอีกครั้งที่สนามบินในนครโฮจิมินห์เมื่อเดือน พ.ย. 2548 ขณะที่กำลังพยายามหลบหนีออกจากเวียดนาม หลังจากถูกจับกุม กลิตเตอร์ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่กลับจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของเด็กคู่กรณีแต่ละคน ครอบครัวละ 2,000 ดอลลาร์
กลิตเตอร์รอดพ้นจากการตั้งข้อกล่าวหาข่มขืนและกระทำชำเราเด็ก ซึ่งหากกระทำผิดจริงจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต.