xs
xsm
sm
md
lg

ขำขำสยามก๊ก..บ้านนอกตื่นกรุงสุดทึ่งนครวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000> แม่ทัพนิรนามงามสง่าง้างธนู พร้อมรบอยู่บนหลังช้างศึก แต่ไพร่พลอลเวง ไร้ระเบียบ ไร้วินัยอยู่เบื้องล่าง.. เนะ..เสียมกุ๊ก  </FONT></CENTER>

ในสายตาของช่างเขมรโบราณ.. กระทั่งชาวเขมรในปัจจุบันก็มีจำนวนไม่น้อย พากันมองกองทหารสยามที่ปราสาทหินนครวัดเป็นพวก "บ้านนอกเข้ากรุง" อย่างเด๋อสุดๆ

ภาพสลักนูนต่ำบนผนังระเบียงคดในห้องหนึ่ง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าสูรยะวรมันที่ 2 ทรงยกกองทัพอันเกรียงไกรไปปราบพวกจามทื่อยู่ทางใต้ ซึ่งเข้ารุกรานอาณาจักรเขมรอยู่เป็นระยะๆ

ภาพสลักนูนต่ำในห้องนั้น แสดงให้เห็นแม่ทัพนิรนามของทหารอีกกองหนึ่งยื่นเด่นบนหลังช้างท่าทางแข็งขัน แต่ข้างล่างลงมาพวกไพร่พลเดินเท้ากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ภาพสลักแสดงให้เห็นความไร้ระเบียบวินัย และทหารพวกนั้นมีท่าทางแปลกๆ

บางคนหันหน้า บางคนหันหลัง บ้างก็หันซ้ายหันขวา บ้างก็หันข้าง ราวกับว่าตื่นตะลึงต่อสิ่งที่พวกเขาพบเห็นรอบข้าง ระหว่างอยู่ในขบวนแถวที่กำลังมุ่งหน้าไปรบทัพจับศึก

มีอยู่รายหนึ่งหันไปมองดูคนที่อยู่แถวหลังจนคอเอียง ขณะที่ทั้งกองทัพกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า

จารึกที่ลบเลือนไปแล้วบอกแต่เพียงว่า "เนะ..เสียมกุ๊ก" ..นี่..พวกสยาม.. แต่ไม่ได้บอกอย่างเจาะจงว่า เป็นสยามพวกไหน

"ทหารพวกนี้ไม่มีวินัย เดินหน้าไม่ตรง ไม่มองไปข้างหน้า ผิดกับกองทหารเขมร" สุวรรณ (Sovann) มัคคุเทศก์หนุ่ม บอกกับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยกลุ่มหนึ่ง เมื่อปลายเดือนที่แล้ว

“สุวรรณ” ในที่นี้เป็นชื่อสมมติ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัว..

นักท่องเที่ยวในคณะหลายคนไม่ได้มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ไม่มีความรู้ที่จะซักค้านการบรรยายของมัคคุเทศก์หนุ่ม ฟังแล้วก็จึงได้แต่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง.. แต่เมื่อดูรูปสลักนูนอย่างละเอียดแล้ว ก็จำเป็นต้องคล้อยตาม
<CENTER><FONT color=#FF0000>  สูรยะวรมันที่ 2 กษัตริย์ที่ทรงสร้างปราสาทนครวัด ทรงพระปรีชาในการศึก นำทัพที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยพระองค์เองทุกครั้ง </FONT></CENTER>
ยกเว้นแม่ทัพที่นั่งบนหลังช้าง กองทหารสยามค่อนข้างจะไร้ระเบียบ ราวกับช่างสลักจงใจจะบอกให้รู้ว่า “ทหารเลว” พวกนี้ถูกเกณฑ์ไปช่วยรบ

ง้าวกับคันทวนอาวุธของทหารสยามปลายชี้ไปคนละทิศละทาง จนเกะกะ ผิดวิสัยกำลังพลที่ได้รับการฝึกปรือมาอย่างดี ซึ่งจะต้องอยู่ในระเบียบแถว เดินตรงและมองไปยังเบื้องหน้า

แน่นอน.. ช่างเขมรโบราณไม่ได้สลักเรื่องราวเหล่านี้ ขึ้นจากเหตุการณ์สดๆ เหมือนกดชัตเตอร์ถ่ายรูป

ภาพสลักนูนต่ำในห้องนี้อาจจะเกิดขึ้นจากความประทับใจของช่างเอง บอกเล่าความน่าขบขันแบบไม่รู้ลืม ที่เขาพบเห็นมากับตา

หรือไม่ก็จะต้องมีการถ่ายถอดเรื่องราวต่างให้ประติมากรเหล่านี้ฟัง โดยบุคคลที่จดจำบุคลิกลักษณะที่น่าขบขันของกองทหารสยามได้เป็นอย่างดี

มันเป็นเพียงอารมณ์ขันแค่นั้นหรือ? หรือเป็นการจงใจดูหมิ่นดูแคลน ดูถูกเหยียดหยาม “พวกสยาม” จากบ้านป่าเมืองเถื่อน!! ยังไม่มีคำตอบในขณะนี้

นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงอย่างศาสตราจารย์ยอร์ช เซย์เดส์ ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าการก่อสร้างปราสาทนครวัดใช้เวลาเพียง 37 ปี แต่การสลักภาพบนผนังระเบียงคดรวมความยาว 600 เมตร อาจจะใช้เวลาอีกหลายสิบปีหรือ 100 ปีต่อมาจึงแล้วเสร็จ และโดยช่างหลายกลุ่มในต่างยุคกัน


แต่นักโบราณคดีเชื่อว่า ช่างที่สลักเรื่องราวของกองทหารสยามที่ต่ำต้อย กับ เรื่องราวของกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าสูรยะวรมันที่ 2 นั้น เป็นกลุ่มเดียวกัน

พวกเขาสร้างภาพกองทัพสยามให้ดูน่าขัน แต่ฉายภาพกองทหารของอาณาจักรนครวัดอย่างยิ่งใหญ่!!

"นักโบราณคดีของเขมรเชื่อว่าเป็นสยามจากละโว้" มัคคุเทศก์คนเดียวกันกล่าว

อย่างไรก็ตามจะเป็นสยามก๊กไหน ยังเป็นปริศนา ในตำราเรียนบางเล่มระบุว่า ภาพสลักนูนที่นครวัดนั้นอาจจะบอกเล่าเรื่องกองทหารจากเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ก็เป็นได้

นั่นคือเรื่องราวเมื่อสัก 800-900 ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า "สุโขทัย" อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่แสดงร่องรอยของอารยะธรรมเขมรโบราณอยู่มากมายหลายแห่ง

จารึกในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1724 ได้กล่าวถึงชื่อ หัวเมืองขึ้นที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยอย่างน้อย 7 แห่ง รวมทั้งละโว้ (ลพบุรี) และ อีก 2 แห่ง ในจังหวัดราชบุรีกับกาญจนบุรี ด้วย

นั่นเป็นยุคที่นครวัดรุ่งเรืองและรุ่งโรจน์ที่สุด ก่อนจะถึงกาลล่มสลาย

............................................

ขอตัดภาพกลับไปยังดินแดนกัมพูชาเมื่อ 800-900 ปีก่อน.. นักประวัติศาสตร์ออสเตรเลียที่ศึกษาเรื่องนี้ได้เคยฉายภาพเมืองพระนคร (Angkor Wat) ไว้อย่างยิ่งใหญ่มาก

อาณาจักรนครวัดเคยมีประชากรไม่น้อยกว่า 700,000 คน หรือ อาจจะถึง 1 ล้านคน ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้น กรุงลอนดอนที่อยู่คนละซีกโลก เพิ่งจะมีพลเมืองประมาณ 40,000 คนเท่านั้น

นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash) เชื่อกันว่าอาณาจักรนครวัดเมื่อ 8-9 ศตวรรษก่อน มีฐานะเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนที่เรียกกันว่า “สุวรรณภูมิ”

ฐานะอันนี้ไม่ต่างกับนครลอสแอนเจลีสทางฝั่งตะวันตก และ นครนิวยอร์ก ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

ก็จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าหากกองทหารจากสยามที่เดินทางข้ามเทือกเขาพนมดงรัก ผ่านบ้านป่าเมืองดง ไปไกลแสนไกล จะตื่นตาตื่นใจกันบ้าง เมื่อถึงนครวัด.

ขอขอบคุณอาจารย์สุปราณี หลักคำ
ผู้ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
ที่กรุณาเอื้อเฟื้อโครงเรื่องและภาพประกอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น