องค์การสหประชาชาติร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาจัดตั้งโครงการเพื่อคุ้มครองโลมาน้ำจืดแห่งลุ่มแม่น้ำโขง หรือ โลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์น้ำหายาก และอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ พร้อมทั้งช่วยฟื้นฟูหมู่บ้านริมแม่น้ำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น
โครงการดังกล่าวซึ่งดูแลโดยทีมงานขององค์การสหประชาชาติ วางแผนที่จะแปรสภาพพื้นที่บริเวณลำน้ำแม่โขงความยาวกว่า 200 กม.ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
"โลมาอิรวดี เป็นทรัพย์สมบัติทางธรรมชาติอันล้ำค่าที่เราควรช่วยกันคุ้มครอง นับว่าเป็นสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศอันดับ 2 รองจากนครวัดเลยทีเดียว" นาย ธก สุขุม (Thok Sokhum) เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของกัมพูชา กล่าว
ข้อมูลของกองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก หรือ World Wildlife Fund (WWF) ระบุว่า มีโลมาประมาณ 80 หรือ 100 ตัว อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ระหว่าง จ.กระแจ๊ (Kratie) ถึงเขตชายแดนกัมพูชาและลาว ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเคยกล่าวเตือนเมื่อหลายปีก่อนว่า ยุคที่โลมาจะสูญพันธุ์กำลังใกล้เข้ามาแล้ว ดังนั้นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โลมารอดชีวิตอยู่ได้
จากเหตุผลดังกล่าว องค์การการท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติ (World Tourism Organisation) จึงกำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าว และส่งเสริมกิจกรรมที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีค่าครองชีพเพียงวันละไม่ถึง 50 เซนต์
รายได้ของคนในหมู่บ้านยิ่งลดน้อยลงไป หลังจากมีตำรวจออกลาดตระเวน เพื่อดูแลคุ้มครองโลมา โดยมีมาตรการเด็ดขาดในการใช้ตาข่ายจับปลา จัดพื้นที่สำหรับตกปลาอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งตรวจสอบเพ่งเล็งการจับปลาที่ผิดกฎหมาย เช่น การระเบิด การใช้สารไซยาไนด์ และการช็อตด้วยไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาในแม่น้ำได้
โครงการนี้ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกัมพูชา องค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานด้านการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์ หรือ SNV มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก คือ การวางแผนฟื้นฟูพื้นที่เขตเมืองในบริเวณใจกลางจังหวัดกระแจ๊ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเมืองริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ให้กลายเป็นประตูหน้าด่านสู่สถานที่อันน่าตื่นตาตื่นใจของประเทศ แต่ยังไม่ค่อยมีคนเข้ามามากนัก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้
หลังจากพัฒนาเมืองกระแจ๊ให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดทำเแผนผัง Mekong Discovery Trail ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นทางการขี่จักรยาน และกิจกรรมต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้วางแผนโครงการกล่าวว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจขนาดเล็ก และโลมาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ในแต่ละปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเข้ามาเที่ยวในพื้นที่นี้มีเพิ่มมากขึ้นกว่า 20% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมียอดมากกว่า 2 ล้านคนในปีนี้