ญาติๆ ของอดีตเชลยศึกในสงครามอินโดจีน ได้ส่งหนังสือถึงทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Rescue Dawn ระบุว่ามีการบิดเบือนเนื้อหา และ สร้างพระเอกในเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนี้ ให้เป็นวีรบุรุษมากจนเกินไป จนกลายเป็นการดูแคลนเชลยศึกคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์
ภาพยนตร์เรื่อง Rescue Dawn ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ฮอลลีวูดแล้งหนังสงครามเวียดนาม ภาพยนตร์ทำรอบพรีเมียร์ในนครนิวยอร์ก วันที่ 25 มิ.ย. และ มีกำหนดลงโรงพร้อมกันสัปดาห์หน้านี้ในสหรัฐฯ
ไม่ใช่เวียดนาม แต่คราวนี้เกี่ยวกับลาว
ญาติของอดีตเชลยศึกเหล่านั้นกล่าวว่า บางฉากในภาพยนตร์ได้ยกย่องพระเอกให้เป็นวีระบุรุษจนเกินจริง อย่างเช่นในฉากที่หลบหนีออกจากสถานกักัน และ ถูกชาวบ้านเราไล่ฟันนั้น พระเอกได้กลับไปช่วยเพื่อนที่อยู่ข้างหลัง ต่อสู้กับชาวบ้านลาวที่โกรธแค้น
แต่ญาติๆ กล่าวว่า ความจริงแล้วในเหตุการณ์จริงเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนนั้น นักบินสหรัฐฯ ที่เป็นตัวเอกในเรื่องวิ่งหนีเอาตัวรอดคนเดียวด้วยความหวาดกลัว และ ไม่ได้กลับไปช่วยเพื่อนร่วมชะตากรรมแต่อย่างไร ปล่อยให้ถูกชาวบ้านลาวที่โกรธแค้นศัตรูผู้รุกราน ทำร้ายจนเสียชีวิต
พยานในเหตุการณ์ (ในลาว) ได้เล่าให้ญาติของผู้เสียชีวิตฟังในภายหลังว่า เรื่องราวในเหตุการณ์จริงนั้น ต่างกันกับในหนังมาก
ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ Rescue Dawn ได้แต่งเรื่องขึ้นใหม่ เชิดชูคนๆ หนึ่งให้เป็นวีระบุรุษ มากเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นการดูแคลน หมิ่นความสามารถของคนอื่นๆ ที่ร่วมชะตากรรม
ภาพยนตร์ได้ปั้นให้นักบินคนหนึ่งเป็นวีระบุรุษ อุปโลกน์ขึ้นเป็นผู้นำในการวางแผนหลบหนี แต่ในเหตุการณ์จริง เขาผู้นี้เป็นตัวปัญหาในหมู่เพื่อนๆ พร้อมที่จะทะเลาะกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
และ ไม่ได้รับความเชื่อถือ
คริสเตียน เบล (Christian Bale) พระเอกที่กำลังมาแรงคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด รับบทเป็นผู้หมวดดีเทอร์ เด็งเกลอร์ (Dieter Dengler) นักบินเครื่อง เอ-1 สกายเรดเดอร์ (A-1 Skyraider) นาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ถูก ปตอ.ฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวสอยร่อง ในการออกบินปฏิบัติการครั้งแรก เหนือดินแดนภาคใต้
นักบินปลอดภัย แต่ถูกฝ่ายปะเทดลาวควบคุมตัว ถูกนำไปคุมขังและถูกทรมาน ร่วมห้องขังกับเชลยอเมริกัน นักโทษชาวลาวและชาวจีนอีกรวมเป็น 6 คน
หลังจาก 5 เดือนผ่านไปเดงเกลอร์กับเพื่อนเชลยอเมริกันอีกคนหนึ่งหลบหนีออกจากที่คุมขัง
ผู้หมวดเดงเกลอร์ หลบซ่อนตัวอยู่นาน 23 วัน ก่อนที่เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยของกองทัพสหรัฐฯ จะตามหาจนพบ ก่อเป็นอีกตำนานหนึ่งขึ้นมาในช่วงสงครามอินโดจีน
สหรัฐฯ ทำสงครามกับเวียดนาม แต่ไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการในการทำศึกกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ซึ่งก็คือพรรคประชาชนปฏิวัติลาวกับกองทัพประชาชนลาว และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันนี้
ตามบันทึกของกระทรวงกลาโหม ร.ท.เดงเกลอร์ เป็นเชลยศึกศึกอเมริกันเพียง 1 ใน 2 รายที่หลบหนีจากที่คุมขังได้สำเร็จ เมื่อปี 2509
เดงเกลอร์ได้รับเหรียญ Navy Cross และ อิสริยาภรณ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก หลังสงครามสิ้นสุดลงเขายังทำหน้าที่เป็นนักบินทดสอบ เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปี 2545 ด้วยโรคลูเกริก (Lou Gehrig) หรือโรคระบบควบคุมของสมองเสื่อม
หนัง Rescue Dawn จึงเป็นเรื่องที่เล่าถึงการเผชิญภัยอันตรายของผู้หมวดดีเทอร์ในดินแดนลาว แต่.. ภาพยนตร์เรื่องนี้ "ได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง และดูแคลนบุคคลอื่นๆ ที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์ต่างเกี่ยวกับแหกที่คุมขังในครั้งนั้น" ..
นั่นคือข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายที่นักเคลื่อนไหวและ สมาชิกอดีตเชลยสงครามจำนวนหนึ่งเขียนถึงทีมสร้างภาพยนตร์เป็นการประท้วง
นิตยสาร Military Times ซึ่งตีพิมพ์จดหมายดังกล่าว รายงานว่ากลุ่มที่มีชื่อในท้ายจดหมายได้ "แสดงความรังเกียจและประณาม" ภาพยนตร์ แม้กระทั่งเดงเกลอร์เอง หากเขายังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะรู้สึก ช็อกอย่างรุนแรง หากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้" จดหมายกล่าว
สมาชิกครอบครัวของเชลยสงคราม พากันออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่า ภาพยนตร์ Rescue Dawn บิดเบือน ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยพื้นฐานของเหตุการณ์
นายเจอร์รี่ ดีบรูน (Jerry DeBruin) ซึ่งเป็นน้องชายของยีน ดีบรูน (Gene DeBruin) ที่แสดงโดย เจเรมี เดวีส์ (Jeremy Devies) กล่าวในจดหมายอีกฉบับหนึ่งว่า ผู้สร้างผู้กำกับได้ทำให้ พี่ชายผู้ล่วงลับของเขาเป็นนักฆ่าสุดโหดแบบชาร์ลส แมนสัน (Charles Manson) เก็บตัวเงียบและฆ่าทุกคนที่ขวางหน้า
เจอร์รี่กล่าวว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้น พี่ชายของเขาแบ่งปันผ้าห่ม อาหาร ให้แก่เพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ตลอดจนสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักโทษชาวจีน และ มีส่วนร่วมในการวางแผนหลบหนีด้วย
ในเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้น มีเชลยศึก-นักโทษ อยู่เพียง 6 คน แต่ในหนังทำให้ใหญ่โตขึ้นกลายเป็น 7
ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นความพยายามทำให้ ร.ท.เดงเกลอร์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน เป็นวีรบุรุษเกินจริง
หลังจากเดงเกลอร์แหกที่กักขังออกไปได้ในสภาพที่อิดโรยจากอดอาหาร และแทบจะสิ้นเรี่ยวแรง วิ่งหนี หลบซ่อนเพื่อเอาชีวิตรอดนั้น เดวน มาร์ติน (Duane Martin) เพื่อนร่วมชะตากรรมอีกคนหนึ่งที่หนีตามกันไปติดๆ ถูกชาวบ้านถือมีดวิ่งไล่กวดและฟันจนตาย
ในหนังกลับเป็นว่า เดงเกลอร์ (เบล) ได้ปรากฏตัว กลับไปช่วยดเวน (สตีฟ ซาห์น) ต่อสู้กับชาวลาว ซึ่งไม่เป็นความจริง
เจอร์รี่กับเพื่อนร่วมกลุ่มเดียวกันกล่าวว่า การบิดเบือนเรื่องราวในภาพยนตร์ให้ผิดไปจากข้อเท็จจริงนั้น เป็นการ "ลดคุณค่า" ของเชลยศึกคนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์
พวกเขาส่งจดหมายประท้วงถึงผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงชาวเยอรมันคือ เวอร์เนอร์ เฮอร์ซ็อก (Werner Herzog) บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แต่ก็ไม่มีการตอบกลับ
นิตยสาร Military Times ได้ส่งจดหมายประท้วงเหล่านี้ไปยังไปโฆษกของบริษัทเมโทรโกลด์วินเมเยอร์ (MGM) ซึ่งเป็นผู้สร้างหนัง แต่โฆษกหญิงคนนั้นก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ แต่รับปากจะนำเรื่องราวเหล่านี้ส่งต่อไปยังเฮอร์ซ็อก และ ทุกอย่างก็เงียบหายไปอีก
เมื่อปี 2540 เฮอร์ซ็อก ได้ติดตามผู้หมวดเดงเกลอร์กลับไปยังลาว ไปเยือนสถานที่เขาเคยถูกควบคุมตัวกับคนอื่นๆ ทีมผู้กำกับเยอรมันได้สร้างภาพยนตร์สารคดีขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ Little Dieter Needs to Fly แต่ก็มีรายงานว่า เมื่อนำออกฉาย เดงเกลอร์ไม่ค่อยสบอารมณ์นัก
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์สารคดี Little Dieter Needs to Fly ได้รับรางวัลอย่างมากมายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั้งในยุโรปและในอเมริกา
สำหรับ Rescue Dawn ถ่ายทำในประเทศไทยตลอดทั้งเรื่อง และ มีนักแสดงชาวไทย เป็นตัวประกอบอยู่ด้วย พล็อตเรื่องไม่มีอะไรเด่นมาก แต่น่าจะสะใจอเมริกันชนบางกลุ่ม ในยามที่กำลังกลัดกลุ้มกับสงครามในอิรัก
ส่วนทางการลาว ไม่น่าจะมีความสุขกับภาพยนตร์เรื่องนี้..