xs
xsm
sm
md
lg

นครวัดปิ๋ว!! สิ่งมหัศจรรย์ที่โลกลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0099> การรณรงค์ โหวตให้นครวัด เพิ่งจะเริ่มจริงๆ จังๆ ก็ปลายปีที่แล้วนี่เอง    <FONT></CENTER>
นครวัดไม่ติดอันดับ “7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” ของโลก จากการโหวตที่ดำเนินมาเป็นเวลา 6 ปี ที่จัดโดยบริษัทเอกชนรายหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ในนามมูลนิธิ New7Wonder ในทวีปเอเชียคงเหลือแต่กำแพงเมืองจีน กับอนุสรณ์สถานทัชมาฮาล (Taj Mahal) ในอินเดีย ที่ติดอันดับ

การโหวตให้คะแนนออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ทางโทรศัพท์ กระทั่งโดยทางอีเมล ในรอบสุดท้ายที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2549 ปรากฏว่า “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” อีก 2 แห่งอยู่ในยุโรปและตะวันออกกลาง คือ สนามประลองโคลอสเซียม (Colosseum) แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี วิหารเพตรา (Petra) ในจอร์แดน

อีก 3 แห่งอยู่ในอเมริกาใต้ ได้แก่ รูปปั้นพระคริสต์ (Christ the Redeemer) ที่ชายฝั่งทะเลนครริโอ เด จาไนโร (Rio de Janeiro) ซากเมืองโบราณมาชูพิคชู (Machu Picchu) ของชนเผ่าอินคาบนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในประเทศเปรู กับปีรามิดชิเชน อิตซา (Chichen Itza) ของชนเผ่ามายา ในประเทศเม็กซิโก

การประกาศผลการโหวตจัดขึ้นอย่างหรูหราในคืนวันเสาร์ (7 ก.ค.) ที่ผ่านมา ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มีการถ่ายทดสดทางโทรทัศน์อย่างตระการตา มีนักร้องนักแสดงกับบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมอย่างมากมาย

ผู้โหวตจากทั่วโลกได้ให้คะแนนโบราณสถานและสิ่งปลูกสร้างสวยงามทั้งจากสมัยโบราณและที่สร้างขึ้นในโลกในยุคใหม่ รวม 21 แห่ง ทั้งหมดคัดเลือกจากรอบรองสุดท้ายที่มีจำนวน 77 แห่งทั่วโลก ผู้จัดกล่าวว่า มีผู้ร่วมโหวตเกือบ 100 ล้านคน

เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การโหวตด้วยวิธีนี้นครวัดไม่มีทางจะติดอันดับ 1 ใน 7 “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” ได้ เนื่องจากมีชาวเขมรจำนวนไม่มากนักที่ใช้อินเทอร์เน็ต และถึงแม้ประชากรทั้ง 14 ล้านคนในประเทศนี้จะร่วมกันโหวตให้กับนครวัดทั้งหมด คะแนนก็จะยังไม่พออยู่ดี

“มีประชาชนกัมพูชาจำนวนไม่มากที่ใช้อินเทอร์เน็ต และถึงแม้ว่าชาวกัมพูชาทั้งมวลจะช่วยกันโหวต นครวัดก็จะยังไม่มีทางติดอันดับอยู่ดี” นายสิม วิรักษ์ (Sim Virak) เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชา กล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกัมพูชาได้มีการประชุมสัมมนาเพื่อหาทางอนุรักษ์ปราสาทหินอายุ 800 ปี ที่กำลังผุกร่อนลงทุกวัน โดยนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวชมปีละกว่าล้านคน

บรรดา “ตัวเก็ง” ที่หลุดโผ ยังรวมทั้งเทพีแห่งเสรีภาพ (Statue of Liberty) นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ วิหารอะโครโพลิส (Acropolis) ในกรีซ หอคอยไอเฟล (Eiffel) กรุงปารีส รูปสลักโบราณหมู่เกาะอีสเตอร์ แนวหินสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ในอังกฤษ และ โอเปราเฮาส์ (Opera House) นครซิดนีย์ ออสเตรเลียด้วย

การโหวตเพื่อคัดเลือก “7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” นี้ เกิดจากความคิดของ นายแบร์นาร์ด เวเบอร์ (Bernard Weber) ภัณฑารักษ์และนักสร้างภาพยนตร์ชาวสวิส โดยถือโอกาสที่พระพุทธรูปบามิยาน ซึ่งเป็นรูปสลักบนหน้าผาในอัฟกานิสถาน ถูกพวกกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงตอลิบาน (Taliban) ทำลายลง เมื่อปี 2544

อย่างไรก็ตาม องค์การการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำบัญชีมรดกโลก (World Heritage) ไม่ให้การสนับสนุนหรือร่วมรับรู้การลงมติคัดเลือก “7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” ในครั้งนี้

“สิ่งที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ทั้งเจ็ด จะเป็นผลจากการริเริ่มที่เป็นการส่วนตัว ซึ่งจะไม่มีผลมากมายใดๆ และไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืนในการอนุรักษ์แหล่งที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านั้น” ยูเนสโก ระบุในคำแถลงชิ้นหนึ่งที่ออกเมื่อเดือนที่แล้ว

สำหรับ 7 สิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณที่ยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ มีเหลืออยู่เพียงแค่มหาพีระมิดแห่งกิซา (Great Pyramid of Giza) ในอียิปต์เท่านั้น

แรกเริ่มเดิมทีผู้จัดการลงคะแนนได้รวมเอามหาพีระมิดแห่งกิซาเข้าร่วมในบัญชีโหวตออนไลน์ครั้งนี้ด้วย แต่ภัณฑารักษ์ที่มีชื่อเสียงของอียิปต์ได้ออกประณามการกระทำดังกล่าว โดยระบุว่าการทำเช่นนั้น “เป็นการหยามกันเกินไป”

เจ้าหน้าที่ดังกล่าวระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมาพิสูจน์อะไรอีก ในปัจจุบันยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในโลกนี้ ที่จะมีความเกรียงไกรเท่ากับมหาพีระมิด และการจัดอันดับใหม่ดังกล่าวก็เป็นเพียง “การประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่” ของผู้จัดเท่านั้น

ในที่สุดคณะผู้จัดก็ได้ถอดพีระมิดของอียิปต์ออกจากบัญชีการให้คะแนน ซ้ำยังมอบตำแหน่งโบราณสถานกิตติมศักดิ์ของโลกให้อีกด้วย

นอกจากมหาพีระมิดแล้ว แหล่งอื่นๆ ที่เคยเป็น “7 สิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณ” ที่จัดอันดับขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน เหลือให้เห็นเป็นเพียงซากหักพัง

นอกจากสวนลอยแห่งบาบิลอน (Hanging Garden of Babylon) ที่อยู่ใกล้กับกรุงแบกแดด ประเทศอิรักในปัจจุบัน กับ กรีซ ประภาคารเกาะฟาโรส (Pharos) นอกชายฝั่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Pharos of Alexandria) ในอียิปต์ ที่เหลือล้วนอยู่ในดินแดนเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) เมื่อก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกรีซกับตุรกีในปัจจุบัน

สถานที่เหล่านั้น ได้แก่ วิหารเทพซีอุซ (Zeus) แห่งโอลิมเปีย วิหารจันทรเทพอาร์เทมิส (Artemis) กับ สุสานสถานฮาลิคาร์นัสซุส (Halicarnassus) กับ รูปสลักโคลอสซุส แห่งเกาะโรดส์ (Colossus of Rhodes)

นครวัดไม่ได้หมายถึงเพียงแค่องค์ปราสาทใหญ่ แต่หากหมายถึงอาณาบริเวณที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 3 ตารางกิโลเมตร ในนั้นประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อายุ 500-900 ปี จากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ


<CENTER><FONT color=#FF0099> อัปสราหน้าเศร้า.. มีผู้ไปเยือน 1.7 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว จนสถานที่เริ่มจะรับไม่ไหวและผุกร่อนลงทุกวันๆ <FONT></CENTER>

ที่ตั้งองค์ปราสาทเพียงอย่างเดียวก็มีความใหญ่โต สามารถมองเห็นได้จากชั้นบรรยากาศ ที่อยู่สูงขึ้นไปหลายสิบกิโลเมตร

แต่นครวัดมีฐานะเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ที่โลกลืม” มาตลอด อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโบราณสถานอีก 19 แห่ง กำแพงเมืองจีน ทัชมาฮาล เมืองโบราณมาชูพิคชู วิหารเพตรา และ สโตนเฮนจ์ ก็เคยถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

สิ่งปลูกสร้างมัศจรรย์ที่มีอายุกว่า 800 ปีนี้ ถูกจัดเข้าเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2537

การรณรงค์จัดอันดับ “7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” นี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 โดยนำเอาโบราณสถาน สิ่งปลูกสร้างทุกยุคทุกสมัยเกือบ 200 แห่ง คละกันเข้าเป็นตัวเลือก มีการโหวตติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งคณะผู้เชี่ยวชาญคัดเลือกให้เหลือเพียง 21 ตัวเลือกเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดยอมรับว่า ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่า คนๆ หนึ่งจะโหวตกี่ครั้ง เพราะไม่มีข้อจำกัดการให้คะแนนสิ่งที่ทุกคนชื่นชอบ

มีผู้เข้าร่วมรับฟังการประกาศผลหลายหมื่นคน ที่สนามกีฬากรุงลิสบอนในคืนวันเสาร์ ผู้คนจำนวนมากส่งเสียงฮือ แสดงความไม่พอใจเมื่อกรรมการอ่านชื่อ เทพีเสรีภาพในบัญชี “ตัวเก็ง” ทั้ง 21 แห่งในรอบสุดท้ายด้วย

การหยั่งประชามติเมื่อหลายปีก่อน ได้พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของชาวโปรตุเกสคัดค้านการรุกรานอิรักของทางการสหรัฐฯ

ชมภาพอื่นๆ ของนครวัด กับ "7 สิ่งมหัศจรรย์ใหม่" ได้ที่:
http://www.new7wonders.com/index.php?id=426

กำลังโหลดความคิดเห็น