กรุงเทพฯ-- บริษัทการบินลาวกำลังพัฒนาระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นแบบที่ไม่ใช้กระดาษ โดยได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายอะมาเดส (Amadeus) ซึ่งจะทำให้สามารถออกตั๋วในระบบออนไลนส์ได้ทั่วโลกในอนาคตอันใกล้
ในชั้นแรกนี้ระบบ e-Ticket จะทำให้การบินลาวสามารถออกตั๋วผ่านระบบออนไลน์ให้กับบริษัทท่องเที่ยวหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้จำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจะขยายออกไปครอบคลุมผู้จำหน่ายตั๋วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับบริษัทท่องเที่ยวทั่วเอเชียแปซิฟิก
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATA (International Air Transport Association) ที่ขีดเส้นให้ทุกสายการบินสมาชิก ต้องใช้ระบบตั๋วออนไลน์ให้ทันภายในวันที่ 1 ม.ค.2551 สำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก Asiatravel.com
เมื่อสายการบินต่างๆ สามารถใช้ระบบตั๋วออนไลน์ หรือ การจำหน่ายตั๋วโดยไม่ใช้กระดาษได้ถึง 100% สมาคมฯ เชื่อว่าจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การบินลาวยังได้ทำความตกลงแยกอีกฉบับหนึ่ง กับอะมาเดส เพื่อใช้ระบบ e-Travel Airline Suite ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถจองตั๋วได้ด้วยตัวเองที่บ้าน หรือ กระทั่งจากอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สักแห่งหนึ่ง โดยไม่จำกัดสถานที่
ปัจจุบันระบบที่ทันสมัยนี้มีให้บริการใน 23 ภาษา เปิดให้บริการในเว็บไซต์กว่า 120 แห่ง สำหรับสายการบินกว่า 70 แห่ง และ ในตลาดกว่า 5 แห่งทั่วโลก ขปล.กล่าว
เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสายการบินแห่งชาติผู้หนึ่งกล่าวว่า e-Ticket จะทำให้สายการบินลาวสามารถเชื่อมโยงการให้บริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เป็นเครือข่ายเดียวกันกับสายการบินขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนี้
"ขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะใช้ระบบออนไลน์เพื่อช่วยขยายการจอง-ซื้อตั๋วไปยังนักเดินทางทั้งหลาย เพื่อเชื่อมพวกเราเข้ากับสายการบินใหญ่ๆ ของโลกด้วย" ผู้บริหารคนเดียวกันกล่าว
ในช่วงปี 2549-2550 นี้ สายการบินแห่งชาติของลาวได้ขยายเครือข่ายการบินออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งการบินในประเทศและบินเชื่อมในระดับภูมิภาค
เมื่อปีที่แล้วการบินลาวได้ซื้อเครื่องบินโดยสารแบบ MA60 ที่ผลิตในจีนจำนวน 2 ลำ และนำไปให้บริการเที่ยวบินเวียงจันทน์-กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง และ เที่ยวบินหลวงพระบาง-ฮานอย ด้วย
เครื่อง MA60 ผลิตโดยบริษัทเครื่องบินซีอัน (Xi'an Aircraft Company) ราคาลำละประมาณ 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบพร็อบ (Turbo Prop) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 56 คน ทำให้การบินลาวบินเชื่อมประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนามได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
สายการบินแห่งชาติของลาวยังมีเครื่องบินแบบ ATR72 ที่ผลิตในฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่งเป็นเครื่องบินหลัก ใช้สลับกับ MA60 บินเส้นทางหลวงพระบาง-ฮานอย รวมทั้งเส้นทางใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปีนี้คือ หลวงพระบาง-ปากเซและเสียมราฐ ในประเทศกัมพูชา
ปัจจุบันการบินลาวได้เปิดบินเชื่อมปลายทางสำคัญในภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ กรุงฮานอย เชียงใหม่ คุนหมิง เสียมราฐ และ กรุงพนมเปญ
เมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดเส้นทางบินในประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายปลายทางโดยใช้เครื่องบิน ขนาดเล็กรวมทั้งเชียงขวางด้วย ขณะที่การพัฒนายกระดับสนามบินยังกำลังดำเนินไปในหลายแขวง รวมทั้ง อุดมไซในภาคเหนือและสะหวันนะเขตในภาคใต้
สื่อของทางการรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า การบินลาวมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินแบบ ATR72 เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งในปีนี้.