xs
xsm
sm
md
lg

ดันพันธบัตรไทย-ลาวเป็นตัวอย่างใน ACD

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน/กรุงโซล--- ไทยซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเกี่ยวกับการออกเอเชียบอนด์ (Asian Bond) ระดมทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ได้ยอมรับในความเป็นจริงว่ายังมีความยากลำบากในการเชื้อเชิญผู้ลงทุน และได้หันมาชูความร่วมมือระดมทุนในแวดวงที่จำกัดลง แทนที่จะเป็นกลุ่มใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะต้องใช้เวลายาวนานออกไป

นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวเมื่อวันจันทร์ (4 มิ.ย.) ว่าความร่วมมือเกี่ยวกับการออก "บาทบอนด์" (Baht Bond) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นกรณีตัวอย่างความเสร็จที่สามารถดำเนินการได้ในกลุ่ม (Asia Cooperation Dialogue) หรือ ACD

รมว.การต่างประเทศของไทยกำลังร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ 30 ประเทศสมาชิก ที่จัดขึ้นในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย. นี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ไทยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลัก (Prime Mover) เกี่ยวกับการระดมทุนได้นำเสนอความคิดย่อขนาดเอเชี่ยนบอนด์ต่อที่ประชุม ACD

นายนิตย์ กล่าวว่าในฐานะที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นประเทศผู้ประสานงาน จึงจะรายงานผลการดำเนินการทุกด้านอย่างตรงไปตรงมาและจะยังไม่มีการผลักดันอะไรต่อไปอีกในช่วงนี้ แต่จะมีการดำเนินต่อในที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ACD ที่จะจัดขึ้นในประเทศปากีสถานเดือน ก.ย.ปีนี้

"เราจะรายงานอย่างตรงไปตรงมาความคืบหน้าการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา จะยังไม่มีการผลักดันอะไรต่อไป" รมว.ต่างประเทศกล่าวระหว่างการบรรยายสรุปแก่ผู้สื่อข่าว

รมว.ต่างประเทศของไทยมีกำหนดพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรนในคืนวันจันทร์ ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีการเสนอให้บาห์เรนเป็นผู้หยิบยกเรื่องการลงทุนในเอเชี่ยนบอนด์ขึ้นเสนอ ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ACD ในปากีสถานได้พิจารณา

ตามแผนการที่ไทยริเริ่มเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนนั้น จะเชื้อเชิญให้กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิก ACD ให้นำเงินผลกำไรจากการจำหน่ายน้ำมันดิบข้าลงทุนในพันธบัตรเอเชีย แต่เจ้าหน้าที่ของไทยยอมรับว่ายังเป็นเรื่องยาก

"ทำอย่างไรจะสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มประเทศอ่าวให้หันมาลงทุนในเอเชียบ้าง หลังจากไปลงทุนในยุโรป เรา (เอเชีย) ก็ต้องหันมามองดูตัวเองว่ามีอะไรให้เขามั่นใจบ้าง ซึ่งยังต้องใช้เวลา" นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน"

นายวิทวัสกล่าวอีกว่า ACD สามารถร่วมมือกันด้านการระดมทุนเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยอาจจะเป็นระหว่าง 2-3 ประเทศ แทนที่จะเป็นกลุ่มใหญ่ 30 ประเทศ แต่ก็จะผลักดันต่อไปและหวังว่าจะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานในปากีสถาน
Baht Bond ตัวอย่างความสำเร็จ
รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการระดมทุนเพื่อนำไปสมทบการเข้าถือหุ้นในโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ในส่วนของลาว

ทางการาลาวจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 87.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับหุ้นส่วน 25% ในบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 (Nam Theun 2 Power Co) หรือ NTPC โดยผ่านรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Laos Holding State Enterprise) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือน ก.พ.2548

อย่างไรก็ตามลาวยังขาดเงินทุนอีกประมาณ 12.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีบริษัทจากประเทศไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย และได้เลือกวิธีระดมทุนในตลาดพันธบัตรไทย

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้ดำเนินการในเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวตลอดปีที่ผ่านมา แต่เดิมมีกำหนดจะออกพันธบัตรในต้นปี 2550 นั้ แต้สองฝ่ายได้ตกลงหารือในรายละเอียดด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่จำเป็นต่อไปอีก

ตามแนวความคิดนี้ ธสน.จะเป็นผู้ค้ำประกันและจำหน่ายให้แก่รัฐบาลลาว
นายสมสะหวาด เลงสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี "ผู้ประจำการรัฐบาล" สปป.ลาว ได้กล่าวไว้ว่า รัฐบาลลาวต้องการเลือกการออกพันธบัตร แทนการระดมทุนด้วยวิธีการอื่น และต้องการความร่วมมือช่วยเหลือจากไทย

เจ้าหน้าที่ของไทยกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับลาวครั้งนี้ เป็นตัวอย่างอันดี ในการร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างประเทศสมาชิก ACD ทั้ง 30 ประเทศ เพื่อให้สามารถระดมทุนไปใช้ในโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและกำจัดความยากจนของประชาชน

รัฐบาลลาวหวังที่จะมีรายได้เป็นเงินทั้งสิ้น 2 พันล้านดอลลาร์ ตลอดเวลา 25 ปีของสัมปทาน ในนั้น 700 ล้านดอลลาร์จะได้จากเงินปันผล อีก 1.3 พันล้านจากการจัดเก็บภาษี และค่าสัมปทาน รวมเป็นเงินรายได้เฉลี่ยปีละ 240 ล้านดอลลาร์

บริษัทไฟฟ้าฝรั่งเศส (Electricite du France Internationale) ถือหุ้น 35% ใน NTPD อีก 25% ถือโดยรัฐบาลลาว ส่วนที่เหลืออีก 25% ถือโดย บมจ.ผลิตไฟฟ้า ของไทยและอีก 15% เป็นของ บมจ.อิตาเลี่ยนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จากไทยเช่นเดียวกัน

เชื่อมความร่วมมือแบบใยแมงมุม

ไม่เพียงแต่ไทยจะมองความร่วมมือด้านระดมทุนแตกต่างออกไปจากเดิมเท่านั้น แต่ยังมองภาพรวมความร่วมมือของ ACD ว่า สามารถที่จะจัดขึ้นมาให้มีรูปแบบใยแมงมุม (Cobweb of Cooperation) ได้ โดยใช้จุดแข็งของประเทศสมาชิกเชื่อมโยงเข้าเป็นความร่วมมือ ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการได้โดยเร็วกว่า ในระดับทั้งกลุ่ม

เกาหลีใต้เจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 6 ได้เสนอตัวเองเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เสนอความเชี่ยวชาญของตัวเอง ก็จะสามารถเชื่อมโยงกับความเชี่ยวชาญด้านไอทีของเกาหลีได้ นายวิทวัสกล่าว

ปัจจุบันประเทศสมาชิก ACD ได้เสนอตัวเองเป็นผู้ผลักดันความร่วมมือต่างๆ รวม 19 หัวข้อตามความเชี่ยวชาญ เช่นสิงคโปร์ที่ดำเนินการเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม มาเลเซียด้าน E-Education จีนเรื่องการเกษตร อินเดียด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ ปากีสถานเรื่องการพลังงาน และ บังกลาเทศเสนอหัวข้อการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น

"ทั้งหมดนี้สามารถนำเอาความเชื่อมชาญด้านไอทีของเกาหลีไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถเชื่อมโยงกันได้" นายวิทวัสกล่าว

การประชุมในวันอังคารนี้ รัฐมนตรีของ 30 ประเทศ ACD ยังจะพิจารณาเรื่องการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการของกลุ่ม รวมทั้งการพิจารณารับหรือไม่รับสมาชิกเพิ่มเติมอีกด้วย

หารือทวิภาคีกับเกาหลี-คูเวต-รัสเซีย

เมื่อวันจันทร์ รมว.ต่างประเทศของไทย ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนายซง มิน-ซูน (Song Min-Soon) รมว.การต่างประเทศและการค้าเกาหลี สองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะให้มีการประชุมหารือกันต่อไปเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าประเทศไทยและเพื่อนบ้านของไทย

รมว.ต่างประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านั้นบนพื้นฐานมนุษยธรรม แต่ก็จะต้องมีการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ ลาวกับพม่าอีกด้วย

ไทยกับเกาหลียังเห็นพ้องกัน ที่จะสืบต่อเจรจาเกี่ยวในรายละเอียดเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีไทย-เกาหลีต่อไปบนพื้นฐานต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องรีบด่วนในการเซ็นความตกลงเรื่องนี้

รมว.ต่างประเทศของไทยยังได้หารือทวิภาคีกับ ดร.โมฮัมหมัด ซาบาห์ อัล-ซาเล็ม อัล-ซาบาห์ (Mohammad Sabah Al-Salem Al-Sabah) รมว.การต่างประเทศคูเวต ซึ่งได้ยินยันว่าคูเวตสนใจด้านการค้าขายกับไทย รวมทั้งการลงทุนด้านการาสาธารณสุข การแพทย์ และ เห็นร่วมกันที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ ของทั้งสองฝ่ายขึ้นอีกครั้ง

สำหรับการหารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รมว.การต่างประเทศสาธารณรัฐรัสเซีย นายนิตย์กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ตกลงจัดถวายการต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเยื่ององค์พระประมุขแห่งรัฐ การเสด็จเยือนรัสเซียมีกำหนดขึ้นในเดือนหน้านี้

รัสเซียยังได้เชิญไทยเข้าร่วมในการบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังฤดูหนาวในเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยให้มีการจัดเนื้อหาดานวัฒนธรรมไทยเข้าไปในนั้นด้วย พระราชวังดังกล่าวเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คราวเสด็จประพาสรัสเซียเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

ทั้งนี้ไทยกับรัสเซียกำลังเตรียมการฉลองครบรอบ 110 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น