กรุงเทพฯ-- กัมพูชากับพม่ากำลังจะเปิดบินตรงระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะมีการบินเชื่อมระหว่างสองประเทศ ตามแผนความร่วมมือภายในกลุ่มสมาชิกใหม่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่ประกอบด้วยเวียดนาม กัมพูชา พม่าและ ลาว
ความร่วมมือดังกล่าวกำลังจะเป็นไปตามแผนการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการบินของทั้ง 4 ประเทศบรรลุข้อตกลงกันได้ในการประชุมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ในกรุงพนมเปญ สองประเทศกำลังจะทำความตกลงในเรื่องนี้ระหว่างการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน (Hun Sen) ซึ่งเดินทางถึงเมืองเนย์ปีดอ เมื่อวันจันทร์ (21 พ.ค.)
นายฮุนเซนได้เข้าพบหารือกับ พล.ท.เต็งเส่ง (Thein Sein) เลขาธิการที่ 1 สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (SPDC) ซึ่งเป็นองค์การปกครองสูงสุดของทหารพม่า ที่กำลังรักษาการนายกรัฐมนตรี
การพบหารือระหว่างสองฝ่ายเมื่อวันจันทร์ (21 พ.ค.) มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สื่อของทางการพม่ากล่าว
ฝ่ายกัมพูชายังประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ นายฮอร์นัมฮง (Hor Nam Hong) รัฐมนตรีอาวุโสและ รมว.กระทรวงการคลัง นายจัม ประสิด (Cham Prasidh) รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว นายทองคอน (Thong Khon) ด้วย
ระหว่างการพบหารือ สองผู้นำได้ "สนทนากันเกี่ยวกับหนทางที่จะส่งเสริมความร่วมมือสองฝ่ายและสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ" หนังสือพิมพ์นิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาล รายงานในฉบับวันอังคาร (22 พ.ค.) นี้ โดยไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ
นายฮุนเซนมีกำหนดเข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย (Than Shwe) ประธาน SPDC ผู้นำสูงสุดของประเทศในวันพุธนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเยือนอย่างเป็นทางการ
นายศรี ธรรมรงค์ (Sri Thamrong) ผู้ช่วยคนหนึ่งของนายฮุนเซฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ ก่อนออกเดินทางว่า พม่ากับกัมพูชามีความคล้ายกันอยู่หลายประการ "ไม่เพียงแต่จะเป็นชาวพุทธด้วยกันเท่านั้น แต่ยังมีเจดีย์และปราสาทที่สวยงามเหมือนกัน เราสามารถที่จะจัดบริการแพ็คเกจทัวร์ร่วมกันได้"
ปราสาทหินในเขตเมืองพระนคร (นครวัด) อายุกว่า 800 ปี เป็นจุดดึงดูดสำคัญทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมุ่งไปยังกัมพูชา ประเทศที่ยังเต็มไปด้วยรอยแผลแห่งสงครามและการเข่นฆ่า เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปที่นั่นถึง 1.7 ล้านคน
ในภาคกลางของพม่ามี "ทุ่งเจดีย์แห่งพุกาม" ที่มีความเก่าแก่ไล่เลี่ยกัน เป็นแม่เหล็กสำคัญของการท่องเที่ยว แต่ทั้งสองแหล่งนี้ยังขาดเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกัน และ ยังไม่เคยมีการเปิดบินเชื่อมระหว่างสองประเทศนี้มาก่อน ขณะเดียวกันในพม่าเองก็ยังไม่มีความพร้อมในด้านการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร รวมทั้งไฟฟ้าที่ดับอยู่บ่อยๆ
ความคิดที่จะเปิดการบินตรงเชื่อม 4 ประเทศในกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่การบินของ 4 ประเทศได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังประชุมหารือกันที่เมืองเสียมราฐ ในเดือน พ.ค.2548 จากนั้นได้มีการประชุมกันอีกหลายครั้ง ครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ ของพม่า
ในเดือน มี.ค.ปีนี้สายการบินลาวได้เปิดบินจากเมืองปากเซเข้าสู่เมืองเสียมราฐ ส่วนการบินเวียดนามเปิดบินเชื่อมนครโฮจิมินห์-เสียมราฐมานานแล้ว แต่ยังไม่มีสายการบินเวียดนามและกัมพูชาบินไปยังกรุงย่างกุ้งหรือเมืองพุกามในพม่า
ตามตัวเลขของทางการ ในปีงบประมาณ 2549-2550 ที่สิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพม่ารวมทั้งสิ้น 576,700 คน เพิ่มขึ้นถึง 22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2548-2549 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพียง 472,704 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ทางการเป็นห่วงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยังขาดปัจจัยรองรับอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรงแรมกับห้องพักตามปลายทางใหญ่ต่างๆ
ตามสถิติที่เป็นทางการของกระทรวงฯ ราว 60% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพม่าในปีงบประมาณ 2549-2550 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวอย่างอิสระ หรือ FIT (foreign independent travellers) ที่เหลือจึงเป็นพวกทัวร์เป็นหมู่คณะ หรือ เพ็กเกจทัวร์
ประธานคณะกรรมการการตลาดแห่งพม่า ดร.ออง ม๊าต จอ (Aung Myat Kyaw) กล่าวว่า พม่า ลาวและกัมพูชา สามารถแสวงหาความร่วมมือและแบ่งปันผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวกับประเทศไทยได้โดยจัดทัวร์ร่วมกัน
“.. คนจำนวนมากไปเที่ยวประเทศไทยเนื่องจากมีสิ่งรองรับที่ดีมาก แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องมีข้อเสนอใหม่ๆ ให้แก่ผู้ไปเยือนด้วยเหมือนกัน" ดร.ม๊าตจอกล่าว.