xs
xsm
sm
md
lg

หายหน้าไปนานปี..โผล่อีกทีมีลูกๆ ให้ชื่นใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ตะพาบหัวกบ (Pelochelys cantorii).. ชื่อนี้ฟังดูคุ้นๆ และใกล้ตัวมาก มีอยู่ในบ้านเป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนปลาตู้ มีอยู่ตามบ่อของผู้เพาะพันธุ์ขาย แต่พวกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้นใกล้สูญพันธุ์เต็มที

นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์สัตว์ป่าพากันดีอกดีใจ เมื่อพบตะพาบยักษ์แห่งแม่น้ำโขงอีกครั้ง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือกัมพูชา ในอาณาบริเวณที่มีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์มากที่สุด ที่พวกนี้ใช้เป็นแหล่งวางไขและฟักตัวอ่อน ในธรรมชาติ

สำนักข่าวต่างประเทศแพร่ข่าวนี้กันครึกโครมในตอนต้นสัปดาห์ หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ รับลูกต่อกันเป็นทอดๆ

เชื่อกันว่าตะพาบหัวกบในธรรมชาตินั้น ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม แต่อาจจะยังมีหลงเหลืออยู่ในลาวบ้าง

เพราะฉะนั้นการค้นพบในกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงทำให้มีความหวังอีกครั้งหนึ่งว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำยักษ์พันธุ์นี้จะไม่สูญหายไปจากโลก.. ซึ่งก็ยังไม่แน่

"การค้นพบที่สุดยอดนี้ ย่อมหมายถึงว่า จะสามารถช่วยเจ้าตะพาบ (ในธรรมชาติ) เหล่านี้ ไม่ให้หายไปจากดาวเคราะห์ของเรา" นายเดวิด เอ็มเมต (David Emmett) นักชีววิทยาขององค์การอนุรักษ์ระหว่างประเทศ (Conservation International) หรือ CI กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเผยแพร่บนเว็บไซต์ เมื่อต้นสัปดาห์


เจ้าตะพาบหัวกบ (Cantor’s giant soft shell turtle) .. ชื่อนี้เรียกตามรูปร่างหน้าตาของมันที่ดูคล้ายกบมากกว่าจะเป็นเต่า รวมทั้งการจ้องมองของมันที่ดูเลื่อนๆ ลอยๆ ไร้จุดหมายแบบกบ ซึ่งแตกต่างไปจากตะพาบพันธุ์อื่นๆ

เมื่อโตเต็มที่ตามธรรมชาติพวกนี้อาจจะมีความยาวถึง 2 เมตร น้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม หรือ ขนาดเท่าๆ กับโต๊ะตัวใหญ่ๆ ตัวหนึ่ง และ อาจจะมีอายุยืนนับ 100 ปี

นักวิทยาศาสตร์-นักวิจัยของ CI และ กองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่า (World Wildlife Fund) ได้ลงพื้นที่ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และได้ไปเจอตะพาบตัวเมียตัวหนึ่งกำลังฟักไข่อยู่บนหาดริมแม่น้ำโขง

เจ้าหน้าที่ได้ใช้กับดักและ จับได้ในเวลาต่อมา ชั่งน้ำหนักดูได้ 24 ปอนด์ (ประมาณ 11 กก.) ก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ.. ไม่นานก็มีตัวเมียที่เล็กกว่าอีกตัว น้ำหนักเพียง 7 กก. ไปติดกับอีก

นายเอ็มเมตได้นำไข่ตะพาบยักษ์ขึ้นจากผืนทรายไปฟักในกรุงพนมเปญ และ ประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงได้นำเจ้าตัวเล็กนับสิบๆ ตัว กลับไปปล่อยที่จุดเดิม พร้อมตะพาบตัวโตอีก 1 ตัวที่ชาวบ้านแถบนั้นจับได้และนำส่งคณะสำรวจ

มีรายงานการพบเจอตะพาบหัวกบในแม่น้ำโขงของกัมพูชาครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2546 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดแน่ใจมันยังอยู่หรือไม่หรือถูกจับไปหมดแล้ว เนื่องจากในปัจจุบันราษฎรกำลังรุกล้ำถิ่นที่อยู่ของพวกมัน

ตะพาบพวกนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ราว 95% ซุกอยู่ใต้ผืนทราย เพื่อให้รอดพ้นจากนักล่าต่างๆ.. สงบนิ่งคงเหลือแต่ส่วนตากับจมูกโผล่พ้นทรายออกมา เพื่อดูรอบๆ ตัวรวมทั้งรอคอยเหยื่อซึ่งก็คือ พวกปลาเล็กและสัตว์เล็กๆ ในแม่น้ำ

แต่ละวันตะพาบหัวกบอาจจะยืดคอ หรือโผล่พ้นน้ำขึ้นไปหายใจสัก 2-3 หน นายเอ็มเมต กล่าว

เวลาล่าเหยื่อ "มันจะยืดคอฉกเร็วกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ผมเคยเห็นมา รวมทั้งงูจงอางด้วย" นายเอ็มเมตกล่าวถึงคุณสมบัติเด่นของตะพาบยักษ์ นอกเหนือจากจะงอยปากที่แข็งแรง จนบดกระดูกให้แตกคาปากได้

ตะพาบหัวกบไม่มีกระดองเหมือนเต่า หรือ ตะพาบอีกบางสายพันธุ์ แต่หลังของมันที่นุ่มๆ เหนียวๆ เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันกับกระดูกส่วนหน้าท้อง และ มีลำตัวออกแบนๆ

นายเจ เอฟ แม็กซ์เวล (K F Maxwell) เจ้าหน้าที่ของ CI ที่ได้เคยร่วมคณะสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพตลอดแนวแม่น้ำโขงมาก่อน กล่าวว่าแหล่งที่พบตะพาบพวกนี้ในกัมพูชายังเป็น "ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดตลอดแนวแม่น้ำ"

อาณาบริเวณดังกล่าวตามแนวความยาว 30 กิโลเมตรเศษ เป็นหนึ่งในบรรดาฐานที่มั่นแห่งสุดท้ายของพวกเขมรแดง ที่เรืองอำนาจเหนือกัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 ทำให้ไม่มีพ่อค้าหรือนักล่าคนไหนกล้าย่างเข้าไปใกล้ ตะพาบหายากพันธุ์นี้จึงรอดมาได้

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่งอนุญาตให้เข้าสำรวจทางวิชาการในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ในช่วงปี 2530-2540 และ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเข้าสำรวจถึงพื้นที่กว้างไกลที่สุด เก็บรายละเอียดได้มากที่สุด การสำรวจคราวต่อไปจะมีขึ้นในเดือน ก.ค.ข้างหน้า

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ยังค้นพบสัตว์ป่าและพืชพรรณอีกหลายอย่างในอาณาบริเวณเดียวกัน รวมทั้งพืชบางชนิดที่เชื่อว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นยังพบพวกปลา นก นกเหยี่ยว นากน้ำ รวมทั้งลิงใบไม้สีเทา ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่ขึ้นบัญชีใกล้สูญพันธุ์ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ของตะพาบยักษ์ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรุกล้ำเขตที่อยู่อาศัยและวางไข่ อย่างรวดเร็วมาก รวมทั้งการจับปลาตามลำน้ำที่ไร้การควบคุม

"มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอนุรักษ์พื้นที่ตรงนั้นไว้ เพราะถ้าหากหมดไปก็จะไม่มีอะไรแทนที่ได้" นายเอ็มเมตกล่าว

"เรือติดเครื่องยนต์กำลังทวนน้ำขึ้นไป ราษฎรกำลังอพยพเข้าไป และ ไม่มีฝ่ายไหนควบคุมได้" เจ้าหน้าที่ CI ซึ่งปกติประจำอยู่ใน จ.เชียงใหม่ของไทยกล่าว

การพัฒนากำลังคืบคลานเข้าไป ทางต้นน้ำมีโรงงานเกิดขึ้นหลายแห่ง มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำโขง ราษฎรในท้องที่มีอุปกรณ์จับปลาที่ทันสมัยขึ้น จับปลาโดยไม่แยกแยะ และ ไปแย่งอาหารของพวกตะพาบอีกด้วย

มลภาวะในลำน้ำ รวมทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ล้วนแต่ทำให้ตะพาบสัตว์พันธุ์หายากต่างๆ สูญพันธุ์ได้.
อ่านเรื่อง "ตะพาบหัวกบ" เพิ่มเติม
http://www.siamensis.org/article/articledetail.php?article_id=13&articlecat_id=1&articlesubcat_id=1
อ่านข่าวคล้ายกันนี้จากเว็บไซต์ World Wildlife Fund
http://www.panda.org/about_wwf/where_we_work/asia_pacific/index.cfm?uNewsID=102340

กำลังโหลดความคิดเห็น