xs
xsm
sm
md
lg

ปลาบึกของปู่เญอ-ย่าเญอ..ระวังกรรมติดจรวด!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เดือน พ.ค. หลังบุญสงกรานต์ปีใหม่ เป็นช่วงที่พรานล่าปลาบึกเริ่มออกปฏิบัติการอีกครั้ง เพราะเป็นฤดูกาลที่ปลาว่ายน้ำจากเมืองหนองแส.. กลับคืนถ้ำติ่ง เมืองปากอู แขวงหลวงพระบาง..

ปลาบึกเป็นปลาของปู่เญอ-ย่าเญอ เป็นปลาของภูติที่สิงสถิตอยู่ในลำน้ำโขงกับถ้ำติ่ง มายาวนานเท่ากับอายุของฟ้าดิน

รู้หรือไม่? ปลาบึกตัวที่ชาวบ้านล่าขึ้นมาได้ทุกตัวล้วนเป็นปลาที่มีกรรม เคยก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้แต่ปางก่อน และ เกิดมาชดใช้กรรม

แต่ที่สำคัญก็คือ.. ผู้ที่จับได้ก็จะต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย

ทั้งหมดนี้ข้อมูลส่วนหนึ่งเกี่ยวกับปลาบึก สื่อของทางการรวบรวมจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ในแขวงหลวงพระบาง และ ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว

ตามข้อมูลที่สถาบันค้นคว้ากสิกรรมและป่าไม้ของลาวรวบรวมได้นั้น ชาวลาวเริ่มออกล่าปลาบึกมาตั้งแต่ปี 1928 (พ.ศ.2471) ก็ที่เมืองห้วยทรายเช่นทุกวันนี้ ที่นั่นเป็นสนามล่าปลาบึก ที่ใหญ่ที่สุด ตลอดเวลา 79 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลของสถาบันนี้ระบุอีกว่า แรกเริ่มทีเดียวที่บ้านตีนหาดมีพรานล่าปลาบึกเพียง 3 คน เรือ 3 ลำ กับตาข่ายอีก 3 หลังเท่านั้น จนกระทั่งปี 1973 จำนวนนักล่าก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว คือ 9 คน ในปัจจุบันที่นั่นมีชาวประมงที่ออกล่ารวม 35 คน มีตาข่าย (หนาม) ทั้งหมด 39 หลัง

การล่าปลาบึกทุกวันนี้จะใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ขึ้น การล่าไม่สามารถทำโดยลำพังได้อีกต่อไป จะต้องมีผู้ร่วมทีมเป็นผู้ช่วย 3-4 คน ต่อเรือ 1 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติๆ กัน

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ก็คือ ผู้ออกหาปลาบึกในลำน้ำโขงทางฝั่งลาวไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาอีกแล้ว แต่เป็นครอบครัวที่มีฐานะดี สามารถลงทุนซื้อหาอุปกรณ์ราคาแพงไปใช้งานได้

การหาปลาบึกไม่ใช่อาชีพอันถาวรของชาวบ้าน แต่ได้กลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาว่า เดือนนี้นะ.. ถึงเวลาแล้ว

ตกถึงปี 2527 ทางการเมืองห้วยทรายได้ออกกฎระเบียบ ใครจะออกล่าปลาบึกจะต้องขออนุญาต โดยมี้ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์

กล่าวคือ นักล่าที่ประสบความสำเร็จจะต้องจ่ายเงินภาษีเข้ารัฐ ในอัตรา 2,500 กีบ (อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ อยู่ระหว่าง 260-270 กีบต่อ 1 บาท) ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม จ่ายเข้ากองทุนสวัสดิการอีกจำนวนเท่ากัน หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่รายงานเรื่องนี้ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เด็กนักเรียนได้ท่องกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ว่าปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น พอโตขึ้นมาเป็นนักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ว่า ปลาบึกเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในสนธิสัญญาไซเตส (CITES)

แน่นอน ทุกคนทราบดีว่าประชากรในลำน้ำตามธรรมชาติเหลือน้อยลงทุกทีๆ แต่ก็ยังไม่ใคร (ทั้งไทยและลาว) ออกกฎระเบียบห้ามล่า



แต่เอาเถิด.. มาฟังเรื่องราวของปลายักษ์์พันธุ์นี้กันต่อ

เมื่อปีที่แล้วนักวิชาการจากกรมเลี้ยงสัตว์ กรมประมง ศูนย์วิจัยการประมง ตลอดจนหน่วยงานอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับปลาบึก และ ได้ไปยังหมู่บ้านตีนหาด เมืองห้วยทรายด้วย

ปลาบึกมีเจ้าของนะ!!

ไม่มีใครทราบว่าปลาบึกมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่มีภาพเขียนปลาตัวโตปรากฏอยู่ตามผนังถ้ำที่อาศัยของมนุษย์โบราณ หลายแห่งตามแนวแม่น้ำโขง

ปลาบึกจึงอยู่มาคู่กับลำน้ำซึ่งมีมาพร้อมๆ กับดินและฟ้า จึงเป็นปลาของปู่เญอ-ย่าเญอ ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี บรรพบุรุษของมวลมนุษย์ ที่ยังคอยติดตามดูแลทุกข์สุขของคนรุ่นหลานเหลนโหลนมาจนทุกวันนี้ ตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ (โปรดดูหน้าตาของปู่เญอ-ย่าเญอ ได้ในภาพสุดท้าย)
<CENTER><FONT color=#660099> ในถ้ำติ่งมีพระพุทธรูปอยู่กว่า 2,500 องค์ มีพระดาบส มีเทพ มีคชสีห์ เฝ้าถ้ำ ที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ภาพ: www.umdiewelt.de) </FONT></CENTER>
ปลาบึกเป็นปลาที่มีเจ้าของ ทั้งหมดจะถูกกักเอาไว้ที่ถ้ำติ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ในแขวงหลวงพระบาง เป็นถ้ำที่อยู่บนตลิ่งสูงชันริมฝั่งแม่น้ำอู ในเขตเมืองปากอู เชื่อกันว่าที่ก้นถ้ำ ใต้ลงไปเป็นที่อยู่ของเหล่าปลาบึก

พอถึงช่วงปีใหม่สงกรานต์ของทุกปี เจ้าของจะปล่อยปลาบึกให้ออกไปเล่นน้ำ พวกนี้ก็จะว่ายจากลำน้ำอู ไปสู่แม่น้โขง หลายตัวได้ว่ายทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองหนองแสในประเทศจีน เพื่อไปกินทองคำ

ปลาบึกบางตัวจึงถูกพรานจับได้ในช่วงเดือน มี.ค.-ต้น เม.ย. เพราะเล่นน้ำกันเพลินในขาขึ้น

พอพ้นช่วงสงกรานต์ปีใหม่ปลาบึกก็จะว่ายตามน้ำลงมา ระหว่างทางก็จะแวะหลายๆ ที่ เพื่อวางไข่ ก่อนจะกลับคืนสู่ถ้ำติ่งอีกครั้ง

คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ปลาบึกเป็นปลาขี้เล่น ชอบสนุก แทนที่จะว่ายตรงดิ่งกลับไปยังถ้ำติ่ง ก็จะแวะเวียน เที่ยวตามรายทาง ไข่ไป เที่ยวไป ทำให้บางตัวไม่ระมัดระวัง จนเสียทีไปติดข่ายของนักล่า

ตำนานเล่าว่า ปลาบึกที่กลับไปถึงถ้ำติ่งได้ทุกตัว ถือเป็นปลาที่มีโชคมีชัย ไม่เคยก่อกรรมกับใครไว้
<CENTER><FONT color=#660099> ปีใหม่ 2550 เมืองหลวงพระบาง.. เทศกาลสำคัญเช่นนี้ปู่เญอ-กับย่าเญอ ขาดไม่ได้ จะต้องไปร่วมกับหลานเหลนโหลนด้วย   </FONT></CENTER>
ชาวประมงยอมรับว่า ปลาบึกเป็นปลาที่ฉลาด รู้หลบหลีกให้พ้นแหและตาข่ายที่ใช้ดัก ใช่ว่าใครๆ ก็จะจับได้

เพราะฉะนั้นผู้เฒ่าผู้แก่จึงเชื่อว่า ปลาบึกตัวที่ถูกจับได้นั้นเป็นปลาที่มีกรรม ต้องชดใช้กรรม และ กรรมนั้นก็จะตกตามไปถึงผู้ที่จับได้ รวมทั้งผู้ที่บริโภคเนื้อของปลาด้วย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากลำตัวที่มีขนาดใหญ่โต ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า กินเนื้อปลาบึกเข้าไปแล้วจะมีโชคมีลาภ มั่งมีศรี และ มีสุขภาพแข็งแรง

การสำรวจยังได้พบ บรรดาผู้ที่ "รับประทานกรรม" เข้าไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะดี ทั้งในเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง

ถ้าหากเชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเพราะว่า กรรมในยุคนี้ตามทันไวปานติดจรวด ไม่ต้องรอจนถึงอีกชาติเหมือนปลาบึกเคราะห์ร้ายตัวที่ถูกจับได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น