xs
xsm
sm
md
lg

ยุ่งละซี.. กษัตริย์เขมรเคยไปใหญ่ถึงอินเดีย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แปลกแต่จริง.. ภาพสลักบนฝาผนังที่อยู่ไกลกันหลายพันกิโลเมตร มีความคล้ายคลึงกันอย่างเหลือเชื่อ.. เทวดาดีดพิณ องค์หนึ่งปรากฏเป็นรูปสลักนูนอยู่บนฝาผนังที่ปราสาทบายน (Bayon) แห่งเมืองพระมหานคร หรือ นครธม (Angkor Thom) ประเทศกัมพูชา

ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นรูปสลักนูน อยู่ที่ผนังวิหารวิกุนตา เปรุมาล (Vikunta Perumal) แห่งเมืองกัญชีปุราม (Kanchipuram) รัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) ทางตอนใต้ของอินเดียทุกวันนี้...

หรือว่า เทพทั้งสองพระองค์นี้เป็นเครือญาติกัน? ไป-มาจากแหล่งเดียวกัน? ร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน? มีรากเหง้าเดียวกัน?

ความสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์โบราณแห่งอินเดียใต้ กับ ราชวงศ์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณมีมานานแล้ว มันเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดอารยธรรมนครวัด-นครธมจึงสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย และ หายไปไหน..

เคยมีนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พวกผู้ปกครองอาณาจักรนครวัด แท้จริงแล้วก็ไปจากอินเดีย และ เมื่อเกิดภัยพิบัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหนึ่ง พวกนี้ก็อพยพโดยทางเรือกลับสู่เอเชียใต้.. ที่ตั้งของประเทศอินเดียในปัจจุบัน จริงหรือไม่!?

แต่ทฤษฎีใหม่ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ กำลังทำให้เรื่องราวกลับตาลปัด ซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย หลังเป็นหน้า และหน้าเป็นหลัง..

นักวิชาการกับศิลปินกัมพูชากลุ่มหนึ่ง ที่ไปเยี่ยมชมวิหารวิกุนตาเปรุมาล เมื่อเร็วๆ นี้ พากันแปลกใจกับรูปสลัก "เทวดาสีซอ" ดังกล่าว

เครื่องดนตรีที่ปรากฏอยู่บนผนังในอินเดียนั้น ช่างมีรูปร่างเหมือนกับพิณที่เรียกกันว่า ksei diev เครื่องสายที่ใช้กันมาจนถึงยุคปัจจุบันในกัมพูชา

มันมีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือ? หรือ เป็นเพียงสิ่งบังเอิญ?

วิหารกันตาเปรุมาลแห่งนั้นมีอายุเก่าแก่กว่า 800 ปี มีรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมปัลลวะ สร้างขึ้นในยุคปลายราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนภาคใต้อินเดียอยู่นานถึง 500 ปี.. แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับที่มาที่ไปของพวกปัลลวะน้อยมาก

เมื่อนำเอาตัวเลข 500 รวมเข้ากับ 800 ก็เป็นอันว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องราวที่เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในตอนใต้ของอินเดียดังกล่าว ไล่เลี่ยกันมากกับยุคอารยธรรมนครวัด-นครธม ที่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร

ทราบหรือไม่.. คำว่า "กัมพูชา" (Kamboja) กับ คำว่า "ปัลลวะ" (Pallava) นั้น ปรากฏคู่กันมานานนับพันปี!.. เชื่อหรือไม่ว่าสองดินแดนที่อยู่ไกลกันหลายพันกิโลเมตร มีความเกี่ยวพันกัน?

มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำนานการขึ้นครองราชย์ ของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ที่มีพระนามว่า "พระเจ้านันทิวรมัน ปัลลวะมาลา" (Nandivarman Pallavamalla) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี ค.ศ.760-800 (พ.ศ.1303-1343)

เรื่องมันเริ่มจากจารึกบนฝาผนังวิหารกุนตาเปรุมาล ที่เล่าว่า.. พระเจ้าปรเมศวรวรมันที่ 2 (Paramesvara Varman II) แห่งกัญชีปรุราม ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1248-1253 ได้สิ้นพระชนม์ลงโดยไม่มีรัชทายาท

พวกขุนนางกาติกะ (Ghatika) ได้เดินทางไปทั่วแว่นแคว้นและน่านน้ำ บุกฝ่าป่าหนาทึบ และ ดินแดนที่รกชัด ต้องใช้พาหนะหลากชนิด ทั้งช้าง ม้าและเรือ จนไปถึงอาณาจักรของกษัตริย์หิรวรมัน (Hiravarman) และ ทูลเชิญพระองค์ไปครองเมืองกัญชีปุราม

แต่กษัตริย์หิรวรมันตรัสว่า พระองค์มีดินแดนแว่นแคว้นที่ต้องดูแลอยู่แล้ว แต่จะถามพระโอรสทั้ง 4 ดูว่า พระองค์ใดสนพระทัยจะไปครองกัญชีปุรามหรือไม่

พระโอรส 3 พระองค์แรกทรงปฏิเสธ แต่พระองค์ที่ 4 ทรงรับที่จะไปเป็นกษัตริย์เหนือดินแดนที่อยู่แสนไกล

พระโอรสพระองค์น้อยทรงมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษาเท่านั้น ต้องเสด็จรอนแรม อย่างยากลำบากยิ่ง ต้องทรงช้าง ม้า และ เรือ ไปยังกัญชีปุรามพร้อมกับพวกขุนนาง ในที่สุดก็ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระเจ้านันทิวรมัน ปัลลวะมาลา"

นี่คือความเป็นมาของกษัตริย์ที่เต็มไปด้วยปริศนาแห่งอาณาจักรปัลลวะ..

ความลี้ลับก็คือ จารึกมิได้บอกว่าพวกขุนนางกาติกะ ได้เดินทางไปที่ใดเพื่อทูลเชิญพระเจ้าหิรวรมัน แต่ได้ยุวกษัตริย์พระองค์นี้กลับไปยังกัญชีปุราม?

ปราชญ์หลายคนจึงเชื่อว่าดินแดนแห่งนั้นน่าจะเป็นแคว้นใดแคว้นหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานว่า พวกปัลลวะอาจเคยอยู่ที่นั่นมาก่อน.. ก่อนจะอพยพลงใต้ และ ครอบครองดินแดนที่เป็นรัฐทมิฬนาดูปัจจุบัน จนกระทั่งอาณาจักรล่มสลายลง

“พระเจ้านันทิวรมัน ปัลลวะมาลา” น่าจะทรงไปจากดินแดนที่กลายมาเป็นรัฐอันธราประเทศ (Andhra Pradesh) กับรัฐโอริสสา (Orissa) ในปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตามปราชญ์อีกค่ายหนึ่งไม่เชื่อเช่นนั้น

กลุ่มความคิดหลังนี้ได้โต้แย้งว่า "ปัลลวะ" (Pallava) น่าจะไปจากคำว่า "Pahlawa" เช่นเดียวกับคำว่า "Yavana" และ คำว่า " "Kamboja" หรือกัมพูชา! ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มชน 5 กลุ่มที่มีการกล่าวถึงใน "มหาภารตะ" (Mahabharata) อภิมหากาพย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกเรื่องหนึ่งแห่งซีกโลกตะวันออก

กลุ่มคนทั้งหมดนั้น เป็นชาวต่างด้าว ท้าวต่างแดน ไม่ใช่ชาวอินเดีย! ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองกลุ่มใดๆ ในชมพูทวีป!

จารึกที่วิหารกุนตาเปรุมาล ยังมีคำที่เป็นปริศนาอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า "Gahana" ซึ่งปราชญ์ทางประวัติศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า เป็นคำที่บรรยายถึงความลึกแห่งมหาสมุทร.. และ เชื่อว่า พวกขุนนางกาติกะได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลแสนไกล..

ขุนนางพวกนั้นเดินทางไปดินแดนกัมพูชา (Kamboja) หรือไม่? พวกเขานำยุวกษัตริย์ "นันทิวรมัน" ไปจากดินแดนแห่งนครวัด-นครธม เช่นนั้นหรือ?

คราวนี้ชักจะยุ่งละซี..

นาย ซี.เอ็ม. ภัณดารี (C.M.Bhandary) อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียที่ประจำอยู่ในกรุงพนมเปญระหว่างปี พ.ศ.2534-2537 ได้เขียนถึงเรื่องราวความเกี่ยวพันระหว่างราชวงศ์ในกัมพูชาโบราณ กับราชวงศ์ปัลลวะแห่งกัญชีปุราม อย่างน่าสนใจยิ่ง..

ท่านทูตเขียนไว้ว่า หลังจากกษัตริย์ปัลลวะ คือ พระเจ้าปรเมศวรวรมันที่ 2 สิ้นพระชนม์ เชื้อพระวงศ์จากกัมพูชาที่ทรงพระนามว่า "ปรเมศวร" (Paramesvara) ทรงรับอัญเชิญ เสด็จไปยังอินเดียภาคใต้ และ ทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ "นันทิวรมันที่ 2" (Nandivarman II) ครองอาณาจักรของปัลลวะ

แย่หน่อย.. ท่านทูตไม่ได้อ้างแหล่งที่มาของเหตุการณ์ที่เขียนถึง.. แต่ระบุว่าชื่อ "Paramesvara" กับ "Pallavamalla" นั้น ออกเสียงคล้ายกันมากในภาษาของพวกปัลลวะ ซึ่งมีอักษรของตัวเองใช้ตั้งแต่กว่า 1,000 ปีก่อน

พระเจ้านันทิวรมัน ปัลลวะมาลา เป็นใครกันแน่!? ที่แท้ก็เป็นกษัตริย์จากดินแดนกัมพูชาอย่างนั้นหรือ!?
กำลังโหลดความคิดเห็น