ผู้จัดการรายวัน-- ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนชาวกับรัฐบาลไทยได้ร่วมกันลงนามในสัญญาเงินกู้และเงินช่วยเหลือมูลค่ารวม 320 ล้านบาท ในวันอังคาร (24 เม.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อช่วยฝ่ายลาวพัฒนาสนามบินปากเซให้สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดที่ใหญ่ขึ้น
รัฐบาลลาวได้ขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้จากรัฐบาลไทยเมื่อปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีของไทยเพิ่งจะอนุมัติในวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน รวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ
รัฐบาลลาวกำลังจะพัฒนายกระดับสนามบินเมืองปากเซขึ้นเป็นสนามบินที่ได้มาตรฐานโลกอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ของลาว จะสามารถรับการขึ้นลงของเครื่องบินโดยสารขนาดโบอิ้ง 737-400 แอร์บัส A321 หรือ A321 หรือ ฟ๊อคเกอร์ 70 (Fokker 70) ที่สามารถขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 150 ที่นั่งขึ้นไป
ในปัจจุบันสนามบินเมืองปากเซสามารถรองรับได้แค่เครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ขนาด ATR72 กับ แอนโตนอฟ (Antonov) รวมทั้ง MA60 ที่ผลิตในจีนด้วย ทั้งหมดนี้บรรทุกผู้โดยสารระหว่าง 50-70 ที่นั่ง
การเซ็นสัญญามีขึ้นระหว่างนายอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย กับ ร.ท.นพดล พันธุ์กระวี ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
"ในนามรัฐบาลและประชาชนไทย ข้าพเจ้าขอขอบใจในความช่วยเหลือจากรัฐบาลและประชาชนชาวไทยในครั้งนี้" เอกอัครราชทูตลาวกล่าวระหว่างการแถลงข่าว
คณะรัฐมนตรีของไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการและรายละเอียด การให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาวเป็นวงเงิน 320 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี และมีระยะปลอดหนี้ 10 ปี รวมเป็นเงิน 224 ล้านบาท กับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าอีก 96 ล้านบาท
มติของ ครม.ยังระบุให้ต้องใช้บริษัทที่ปรึกษาและบริษัทก่อสร้างของไทยที่เชื่อถือได้ รวมทั้งการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
เอกสารแถลงข่าวของ สพพ.ที่ออกในวันเดียวกันระบุว่า "นอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางและการขนส่งระหว่าง สปป.ลาวและประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนใต้ของ สปป.ลาว.."
เมืองปากเซเป็นเมืองเอกของแขวงจำปาสักทางตอนใต้สุดของประเทศ มีอาณาเขตติดกับ จ.อุบลราชธานีของไทย ซึ่งตัวเลขการค้าขายข้ามแดนในแถบนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตรจากลาวหลายสิบรายการ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษีขาเข้า
จากฝ่ายไทย
เจ้าหน้าที่ของทางการลาวกล่าวก่อนหน้านี้ว่า แผนการพัฒนายกระดับสนามบินปากเซจะประกอบด้วย การเสริมความแข็งแกร่งรันเวย์ ราดยางมะตอยหนา 0.12 ม. ขยายความยาวจาก 1,625 เมตรในปัจจุบันเป็น 2,400 ม. และ ขยายความกว้างจาก 36 ม. เป็น 52 ม. รวมทั้งขยายลานจอดเครื่องบินให้สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 เข้าจอดได้ถึง 2 ลำ รวมทั้งสร้างหอบังคับการบินสูง 29 ม.
"ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ สนามบินปากเซก็จะกลายเป็นสนามบินที่ได้มาตรฐานระดับสากล" นายสมบูน จะเลินลิด เจ้าหน้าที่แผนกการบินพลเรือนแขวงจำปาสัก ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ กล่าวในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว
โครงการปรับปรุงสนามบินปากเซ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของรัฐบาลลาวที่ต้องการยกระดับด้านบริการการบินของประเทศให้มีมาตรฐาน ครอบคลุมถึงสนามบินหลวงน้ำทาที่กำลังดำเนินการปรับปรุงอยู่ในปัจจุบัน ส่วนการปรับปรุงสนามบินหลวงพระบาง สนามบินสะหวันนะเขต คาดว่าจะเริ่มในปี 2551
สปป.ลาวยังมีโครงการก่อสร้างสนามบินใน 5 แขวงภาคเหนือ ได้แก่ในแขวงไซยะบุลี เซียงขวาง อุดมไซ หัวพัน และบ่อแก้ว ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว
สายการบินแห่งชาติของลาวได้เปิดเส้นทางบินหลวงพระบาง-ปากเซ ในปลายเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้เปิดเส้นทางบินเชื่อมปากเซ-เสียมราฐ ในกัมพูชา ตามแผนการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก คือ เมืองเก่าหลวงพระบาง-วัดพูจำปาสัก กับ ปราสาทหินนครวัด ช่วยให้นักท่องเที่ยวประหยัดเวลาเดินทาง มีเวลาท่องเที่ยวมากขึ้น
การพัฒนาสนามบินเมืองปากเซยังเป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจการบินของไทย ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส "บูติคแอร์ไลนส์" ของเอกชนไทยได้เปิดบินกรุงเทพฯ-ปากเซ สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน และ ยังร่วมกับสายการบินเสียมราฐแอร์ บินต่อไปยังถิ่นปราสาทนครวัดในวันเดียวกัน
ตามรายงานของสื่อทางการลาว ปัจจุบันทั่วแขวงจำปาสักมีสถานที่ท่องเที่ยวกว่า 100 จุด โดยมีปราสาทหินวัดพู น้ำตกตาดคอนพะเพง น้ำตกหลี่ผี และดินแดน 4,000 เกาะ ที่มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นหลัก
เมืองปากเซได้กลายเป็นชุมทางของการเดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้ของลาว เป็นศูนย์กลางติดต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย รถรถบัสโดยสารปะจำทางไปยัง จ.อุบลราชธานี และ ไปยังเมืองกวีเญิน (Quy Nhon) เมืองเอกของ จ.บิ่งดิง (Binh Dinh) ในภาคกลางเวียดนาม
ขณะเดียวกันในกัมพูชาก็กำลังมีการพัฒนาหลวงเลข 6 จาก จ.กระแจ๊ะ (Kratie) ในภาคตะวันออกไปยัง จ.สะตึงแตร็ง (Stung Treng) หรือ "เชียงแตง" ที่มีชายแดนติดกับแขวงจำปาสัก เมื่อเปิดใช้การได้ในปลายปี 2551 ก็จะสามารถเดินทางจากปากเซเข้าสู่กัมพูชาหรือไปยังนครโฮจิมินห์ของเวียดนามโดยทางบกได้อีกด้วย.