xs
xsm
sm
md
lg

ปีใหม่เพี้ยน..ลืมสิ้นธรรมเนียมเขมรแท้แต่โบราณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้สูงอายุในกัมพูชาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณี (สงกรานต์) ที่กำลังลืมการละเล่นประเพณีต่างๆ และหันไปเอาอย่างในประเทศไทย ซึ่งผู้คนดื่มกันจนเมามาย เปิดเพลงเสียงดังและวาดลวดลาย เต้นแร้งเต้นกา

ชาวกรุงพนมเปญ กับชาวกัมพูชา ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มฉลองเทศกาลปีใหม่ประเพณีอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ (15 เม.ย.) ซึ่งตามฤกษ์ยามนั้น จะผ่านจากปีจอ (ปีหมา) และ เข้าสู่ปีกุน (ปีหมู) ในเวลาเที่ยงวันกับ 48 นาที (12.48 น.) แต่การเฉลิมฉลองเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 แล้ว

ในตอนเช้าตรู่ของวันปีใหม่ (15 เม.ย.) ผู้คนทั่วไปจะไปจับจ่ายที่ตลาดใกล้บ้าน เพื่อซื้อผลไม้ ขนม ดอกไม้ ธูป และเทียน รวมทั้งอาหารสดเพื่อไปทำกับข้าว

ครอบครัวต่างๆ จะจัดสำรับกับข้าว ขนมหวาน ตั้งถวายเทวดา (Tevoda) ที่บริเวณหน้าบ้านเรือน ขอพรให้สมาชิกครอบครัวประสบแต่โชคดีตลอดปี ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ และคนทั่วไปจะเข้าวัด นำสิ่งของและอาหาร ไปถวายพระสงฆ์ และฟังเทศน์ ฟังธรรม

เมื่อขึ้นปีใหม่ ชาวเขมรมีความนิยมทำบุญหาพ่อแม่ สมาชิกครอบครัว ผู้ล่วงลับ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณอีกด้วย การเข้าวัดทำบุญนี้ยังจะดำเนินต่อไปในวันที่สองของการฉลองปีใหม่ คือ วันที่ 16 เม.ย.นี้

ส่วนอีกทางหนึ่ง ตามประเพณีนิยมแต่โบราณกาลนั้น เยาวชน หนุ่มสาว กระทั่งผู้สูงอายุจะพากันตั้งวงละเล่นพื้นเมืองตามท้องถนนในชุมชนต่างๆ การละเล่นที่นิยมกันมาก ก็คือ ชักเย่อ หรือดึงเชือก ระหว่างสองฝ่าย การเล่นปิดตาซ่อนผ้า (คล้ายๆ กับมอญซ่อนผ้าในประเทศไทย) ปิดตาตีหม้อ

สำหรับเด็กๆ ผู้ใหญ่จะตัดไม้ไผ่ท่อนยาว ทำที่เหยียบสูงจากพื้นสักครึ่งเมตร เพื่อให้พวกเขาได้ขึ้นเหยียบและเดินแบบขายาวๆ ได้ เป็นที่สนุกสนาน ในบางท้องที่จะจัดแข่งขัน “วิ่งไม้ไผ่” ชิงรางวัลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏให้เห็นน้อยมากในเขตเมืองหลวงพนมเปญ มีเพียงในวัดบางแห่งเท่านั้นที่จัดขึ้นมาให้เป็นสีสัน หรือเพียงแค่ต้องการอนุรักษ์ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งในประเทศนี้เคยมีการละเล่นเหล่านี้อย่างแพร่หลาย

ในวันนี้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะยังคงยึดถือในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัดแน่นเหนียว แต่การฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณีของชาวกัมพูชาส่วนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาหันไปเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ ประเทศไทย

ตามรายงานของสถานีวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร เมื่อวันจันทร์ (16 เม.ย.) นี้ ผู้สื่อข่าวได้ตระเวนไปตามถนนสายต่างๆ จะพบแต่หนุ่มสาวพากันพอกหน้าขาว ปาแป้งเข้าใส่กัน นอกจากนั้น ก็จะเป็นขบวนรถน้ำที่แล่นไล่สาดกันอึกทึก แม้ทางการจะห้ามปรามแล้วก็ตาม

ตามถนนหนทางต่างๆ ในคุ้มบ้านและนิคมต่างๆ จะพบเห็นแต่ผู้คนตั้งดื่มกัน หลายคนเมามายแทบคุมสติไม่ได้ ออกไปเต้นตามจังหวะเพลง ที่เปิดกันจนเสียงดังลั่นไปหมด

ใน จ.กันดาล (Kandal) ใกล้ๆ กับกรุงพนมเปญก็ไม่ต่างกัน สภาพ “ขี้เมาดิ้น” นี้พบเห็นได้ทั่วไป ถึงแม้ว่าจะพบเห็นหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งพากันเล่นดึงเชือกชักเย่อ แต่ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งไล่ปาแป้งกัน ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเขมร

“ชาวเขมรทั้งหลายควรจะเลิกเลียนแบบประเทศไทยได้แล้ว เราควรจะหันมาฟื้นฟูการละเล่นประเพณีของเราเองที่เคยมีในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เรามีประเพณีของเราเองที่ควรปฏิบัติในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่” นักวิชาการที่ไม่ประสงค์จะให้ออกชื่อคนหนึ่งกล่าว






อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ที่เมืองเสียมราฐกำลังย่ำแย่ที่สุด ผู้คนที่นั่นเกือบจะลืมไปด้วยซ้ำว่า ตัวเองเป็นชาวเขมร การฉลองเทศกาลปีใหม่ไม่ต่างกับที่ อ.อรัญประเทศ หรือที่ จ.สุรินทร์ ของประเทศไทย ผู้คนที่นั่นสาดน้ำกันเป็นบ้าเป็นหลัง เห็นอีกพวกก็เปิดเพลงไทยดังลั่น แล้วเต้นกันไม่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมให้เห็น

ในเสียมราฐไม่เพียงแต่ชาวเขมรจะทำทุกอย่างที่ทำกันในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขนาดพูดภาษาเขมรสำเนียงออกไปทางภาษาไทยอีกด้วย ไม่ต้องพูดถึงพวกเพลงและดนตรีต่างๆ เลย ที่นั่นฟังเพลงไทยแทนเพลงเขมรอยู่แล้ว

ในเมืองหลวง ผู้สูงอายุที่บ้านขวา (Khva) ต.เจืองแอก (Cheung Ek) เขตดางกาว (Dang Kao) กรุงพนมเปญ กล่าวว่า เด็กๆ ที่หมู่บ้านไม่มีใครนิยมการละเล่นพื้นเมืองกันอีกแล้ว พวกนี้เลียนแบบผู้ใหญ่ เปิดเพลงดังๆ แล้วเต้น ตนเองไม่อยากจะเห็นสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

นายแมน เชือน (Man Chhoeun) หัวหน้าฝ่ายสำนักงาน ศาลาว่าการกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณีนี้ ทางการได้เรียกร้องไปยังหน่วยบริหารระดับท้องถิ่นต่างๆ ให้จัดการละเล่นพื้นเมืองด้วย เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวกัมพูชา

แต่ นายเชือน ก็ยอมรับว่า ในช่วงวันหยุด 14-16 เม.ย.นี้ จะมีคนสนใจเรื่องนี้น้อย และในกรุงพนมเปญเองก็จะดูโหรงเหรงลงด้วย เนื่องจากคนส่วนใหญ่เดินทางออกต่างจังหวัด อีกส่วนหนึ่งกลับบ้านไปเยี่ยมใครอบครัวในต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น