ผู้จัดการรายวัน-- รัฐบาลเวียดนามได้ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง (Hi-speed Train) เชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้ของประเทศ เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างให้สั้นลง โดยจะให้สัมปทานรวดเดียวทั้งโครงการเพื่อให้สามารถก่อสร้างได้พร้อมกันแบบรวดเดียวจบ โดยไม่มีการแบ่งออกเป็น 3-4 ระยะตามที่เคยวางแผนเอาไว้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20 ปี
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโฮจิมินห์ มีมูลค่าก่อสร้างราว 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 180,000 ล้านบาทไทย ซึ่งเป็นเงินก้อนโต แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นจะให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่สามารถสร้างรายได้ในตลาดที่มีประชากรกว่า 84 ล้านคน และ เป็นสาธารณูปโภคที่สามารถสนองการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี
นายเหวียนหูบ่าง (Nguyen Hu Bang) ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทรถไฟเวียดนาม หรือ VRC (Vietnam Railway Corporation) เปิดเผยเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์สื่อของทางการในวันอังคาร (10 เม.ย.) ที่ผ่านมา
นายบ่างกล่าวว่า แผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จแบบรวดเดียวนี้ ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง ในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้เกิดข้อสรุปอีกหลายประเด็น
รัฐบาลเวียดนามจะยังคงรักษาบริการรถไฟที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเอาไว้ต่อไป โดยจะพัฒนายกระดับขึ้นมาให้ทันสมัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนรถไฟความเร็วสูงนี้จะเป็นอีกระบบหนึ่งที่ก่อสร้างควบคู่ขนานกับเส้นทางรถไฟเดิม เพียงแต่ว่าจะใช้เกจมาตรฐานรางกว้างขนาด 1.435 เมตร เทียบกับระบบเดิมที่มีรางกว้างเพียง 1 เมตรเท่านั้น
นายบ่างกล่าวว่าคณะผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมีกำหนดจะลงสำรวจถึงแหล่งก่อสร้างในเดือน มิ.ย.ปีนี้ ตามข้อตกลงในระดับรัฐบาลของสองประเทศ ที่ญี่ป่นรับจะให้ความช่วยเหลือด้านทุนรอนในขั้นตอนการสำรวจ และทำการศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ที่จะติดตามมาตลอดระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จากนั้นจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการเริ่มก่อสร้างโครงการอีกครั้งหนึ่ง
ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นความคืบหน้าสำคัญของโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเวียดนาม ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ลงเหลือเพียงประมาณ 8 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 28-30 ชั่วโมงโดยรถไฟ
"ผมบอกได้เลยว่าทุกอย่างจะไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเป็นบัญชาของนายกรัฐมนตรี" ผู้อำนวยการใหญ่รถไฟเวียดนามกล่าว
บริษัทรถไฟเวียดนามวางแผนที่จะให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงเปิดให้บริการได้ในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อครั้งที่ก่อสร้างระบบรถไฟเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้เช่นเดียวกัน แต่ก็อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าได้สำหรับเวียดนาม ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ แหล่งที่มาของเงินทุน
ทางการญี่ปุ่นได้รับปากจะช่วยเหลือเวียดนามในหลายรูปหลายแบบในโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ แต่เงินทุน 33,000 ล้านดอลลาร์ก็เป็นเงินก้อนใหญ่มาก เวียดนามจำเป็นต้องเล็งหาจากแหล่งอื่นๆ ด้วย
"เราจะระดมทุนจากหลายแหล่ง ดังที่ทราบก็คือ ญี่ปุ่นจะลงทุนส่วนที่เป็นโครงร้างพื้นฐานให้ซึ่งจะเป็นประมาณ 70% ของมูลค่าทั้งโครงการ อีก 30% จะเป็นการลงทุนจากภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ ผมคงแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ได้เพราะยังเร็วเกินไป แต่เอกอัครราชทูตญี่ป่นได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่" นายบ่างกล่าว
ผู้อำนวยการใหญ่รถไฟเวียดนามกล่าวอีกว่า รถไฟระบบดีเซลรางของเดิมจะยังใช้การอยู่ต่อไป เพื่อเชื่อมกับระบบรถไฟของประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้รางกว้าง 1 เมตรเหมือน
นอกจากนั้นขนาดของรถไฟในปัจจุบันก็เหมาะสมกับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในระยะสั้น ถึงวันนั้นระบบรถไฟในปัจจุบันก็จะกลายเป็นรถไฟชุมชน (Community Train Service) ไป
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบ้ (Shinzo Abe) ได้ไปเยือนเวียดนามในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ได้พบหารือกับนายยวุ๋ง โดยญี่ปุ่นรับที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายชนิด รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ด้วย
ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงของเวียดนามอาจจะมีความยาวตลอดเส้นถึง 1,800 กิโลเมตรหรือกว่านั้น
ก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาแนวทางใหม่ ซึ่งจะแยกทางรถไฟความเร็วสูงออกจากแนวทางรถไฟในปัจจุบัน ตั้งแต่เมืองญาจาง (Nha Trang) จ.แค๊งหว่า (Khanh Hoa) ไปยังนครโฮจิมินห์ โดยอ้อมไปผ่านเขตที่ราบสูงภาคกลาง เพื่อนำความเจริญไปสู่ดินแดนที่ยังด้อยพัฒนาที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
อย่างไรก็ตามที่ราบสูงภาคกลางแถบ จ.เลิมด่ง (Lam Dong) ดั๊กลัก (Dak Lak) และ จ.ดั๊กนง (Dak Nong) ยังเป็นดินแดนของชนชาติส่วนน้อยหลายชนเผ่า และ ยังจะต้องผ่านเขตวนอุทธยานแห่งชาติ และ เขตชีวะนานาพันธุ์ต่างๆ จึงยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเส้นทางใหม่นี้
วันอังคาร (10 เม.ย.) ที่ผ่านมาคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ ได้อนุมัติรถไฟฟ้าใต้ดินขนส่งมวลชน เส้นทางแรกจากทั้งหมด 6 เส้นทาง ความยาวประมาณ 19.7 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในนั้นเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากญี่ปุ่นกว่า 900 ล้านดอลลาร์
ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างทางหลวงสายเหนือ-ใต้ ช่วงนครโฮจิมินห์-โด่ว-ซยาย (Dau Giay) ใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) ความยาวประมาณ 100 กม. กับทางหลวงสายโฮจิมินห์-เกิ่นเทอ (Can Tho) ความยาวกว่า 100 กม. โดยเป็นความช่วยเหลือแบบ ODA (Official Development Assistance).