ผู้จัดการรายวัน-- โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในจำนวน 6 สายของนครโฮจิมินห์ได้กลายเป็นความจริง ทางการนครใหญ่แห่งนี้ได้ลงนามอนุญาตโครงการก่อสร้างมูลค่าราว 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร (10 เม.ย.) ที่ผ่านมา ในนั้นเงินทุนราว 83% เป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ JBIC (Japan Bank for International Cooperation)
นับเป็นความสำเร็จของฝ่ายญี่ปุ่นในยกแรก ในการแข่งขันกับบริษัทจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กลุ่มบริษัทซีเมนส์ (Siemens AG) จากเยอรมนีที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย
ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับเงื่อนไขเงินกู้ก้อนใหญ่ แต่สื่อทางการเวียดนาม ระบุว่าส่วนหนึ่งในนั้นเป็นความช่วยเหลือ ในขณะที่ทางการนครโฮจิมินห์เองจะใช้เงินทุนเพียง 186.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าในโครงการก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเขตเมืองในนครที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของประเทศ
นครโฮจิมินห์ซึ่งมีประชากรกว่า 8 ล้านคน มีโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่สลับซับซ้อนและทันสมัยหลายโครงการ ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2563 ทั้งระบบรางใต้ดินและลอยฟ้า รถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ “โมโนเรล” (Monorail) และ ยังมีรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชนอีกด้วย
ทางการนครโฮจิมินห์ได้ประกาศเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเมื่อวันอังคาร แจ้งว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายตลาดเบ๊นแท็ง-เสื่อยเตี๋ยน (Ben Thanh- Suoi Tien) ความยาว 19.7 กิโลเมตร จะเริ่มในปลายปี 2550 หรือ ต้นปี 2557 และคาดว่าจะเปิดใช้การได้ในปี 2556
ยังไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์และเทคโลโลยีที่ใช้ แต่เป็นที่แน่นอนว่าทุกอย่างจะดำเนินการโดยบริษัทจากญี่ปุ่น
เมื่อปีที่แล้วบริษัทสุมิโตโม ได้แสดงความสนใจเข้าลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินนครโฮจิมินห์ โดยยื่นเสนอการก่อสร้างและบริหารภายใต้สัญญาแบบ BTO (Build-Transfer-Operate)
บริเวณ 6 แยกตลาดเบ๊นแท็งของนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นกำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบขนส่งมวลชนทันสมัย ในปัจจุบันที่นั่นก็ยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถโดยสารของนคร
จากตลาดเบ๊นแท็งรถไฟฟ้าสายแรกนี้จะมุดลงบนดินรวมความยาว 2.6 กม.ไปตามถนนสายหลัก ผ่านโรงละครโอเปราเฮ้าส์ (Opera House) เข้าอุโมงค์ลอดแม่น้ำไซ่ง่อนก่อนจะโผล่ขึ้นพื้นดินกลายเป็นทางรถไฟฟ้ายกระดับ ไปสิ้นสุดลงที่ จ.บิ่งเยวือง (Binh Duong) ซึ่งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมและการลงทุนของต่างประเทศขนาดใหญ่
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนาม เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว บริษัทซีเมนส์ ทรานสปอร์ตซีสเต็มกรู๊ป หรือ STS (Siemens Transport System Group) ในเครือซีเมนส์อีจี (Siemens AG) จากเยอรมนีได้เสนอแผนเข้าดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 2 เส้นทางในนครโฮจิมินห์
ผู้บริหารของ STS แถลงในนครโฮจิมินห์เมื่อเดือน ส.ค. ระบุว่าได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนีทุ่มเงิน ODA (Official Development Assistance) หรือ เงินช่วยเหลืออย่างเป็นการเพื่อการพัฒนา แก่เวียดนาม เป็นมูลค่า 100 ล้านยูโร เพื่อเป็นทุนในการเริ่มต้น
กลุ่มซีเมนส์ได้เสนอตัวเข้าเป็นผู้จัดหารถไฟฟ้าและวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนเทคโนโลยีควบคุมให้กับโครงการ ที่มีมูลค่ากว่า 800 ล้านยูโร
นายเจิร์น เอฟ.เซ็นส์ (Joern F. Sens) รองประธานกรรมการของเอสทีเอสประกาศเรื่องนี้ในวันที่ 2 ส.ค. หลังเข้าพบหารือกับนายเลแท็งหาย (Le Thanh Hai) เลขาธิการพรรคสาขานครใหญ่แห่งนี้ กับนายเลฮว่างก๊วน (Le Hoang Quan) ประธานคณะปกครองของนคร
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์ กลุ่มซีเมนส์ยังรับปากจะผลักดันเพื่อขออนุมัติงบ ODA อีกราว 20 ล้านยูโรจากรัฐบาลออสเตรีย และ เจรจาเงินกู้อีกราว 300 ล้านดอลลาร์จากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี เพื่อโครงการก่อสาร้างรถไฟฟ้าใต้ดินนครโฮจิมินห์ทั้ง 2 สาย
ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มบริษัทจากเยอรมนีแห่งนี้อีก
เมื่อปีที่แล้วบริษัทไชน่าเซี่ยงไฮ้คอร์ป (China Shanghai Corporation) จากจีนได้เข้าศึกษาความเป็นไปรถไฟฟ้าใต้ดินอีกโครงการหนึ่ง รวมความยาว 12 กม. จากเขตสอว๊าป (Go Vap) ไปยังเขตที่ 4 ซึ่งตามกำหนดการแล้วบริษัทจีนจะต้องยื่นรายงานผลการศึกษาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ยังมีข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทจีนเช่นเดียวกัน
ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจนถึงปี 2563 นั้น นครโฮจิมินห์ยังจะมีระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวจำนวน 3 สาย รวมความยาว 37 กม. กับรถไฟฟ้าใต้ดิน-ยกระดับทั้ง 6 สาย ซึ่งจะมีความยาวรวมกันถึง 107 กม.
ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นยังได้ให้คำมั่นจะให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ในเวียดนามอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการก่อสร้างทางรถไฟเหนือ-ใต้ความยาวเกือบ 2,000 กิโลเมตร และ การก่อสร้างทางหลวงอีก 3 สาย
การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงฮานอย-นครโฮจิมินห์ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สื่อของทางการเวียดนามรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นกำลังจะเข้าเวียดนามในเร็วๆ นี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ระบบรถไฟความเร็วสูงและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง.