ผู้จัดการรายวัน-- หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการลงทุนในรัฐวิสาหกิจของเวียดนามได้ยืนยันการเจรจาซื้อขายหุ้นของสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลน์ (Pacific Airlines) กับ สายการบินแควนตัส (Qantas Airways Ltd) จากออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงกันได้ในสิ้นเดือน มี.ค. หรือ ต้นเดือน เม.ย.นี้
สื่อของทางการได้รายงานเรื่องราวดังกล่าวโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวใน บริษัทการลงทุนแห่งชาติ หรือ SCIC (Sate Capital Investment Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลที่เข้าถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจต่างๆ
การเจรจาจำหน่ายหุ้นสายการบินแปซิฟิกฯ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งที่ 2 ของประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดย SCCIC มีแผนจะนำเอารัฐวิสาหกิจหลายแห่งเข้าจดทะเบียน เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
ผู้บริหารของสายการบินแควนตัสได้เปิดเผยเกี่ยวกับการเจรจากับแปซิฟิกแอร์ไลนส์ครั้งแรกเมื่อต้นปีนี้ แต่ก็ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวียดนามออกให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่า แควนตัส ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินแบบโลว์คอสท์เจ็ทสตาร์ แอร์เวย์ส(JetStar Airways) กำลังพยายามหาทางย้ายฐานการบินแบบโลว์คอสท์ออกไปจากสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางสภาพภูมทิศาสตร์ทำให้ขาดทุนมาตลอดช่วง 2 ปีมานี้
เจ้าหน้าที่เวียดนามไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขาย ตลอดจนจำนวนหุ้นที่กำลังจะจำหน่ายให้แก่ Qantas Airways ในครั้งนี้ กล่าวแต่เพียงว่าฝ่ายเวียดนามจะยังคงถือหุ้นใหญ่ต่อไป
เจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส ได้เริ่มบินเข้าเวียดนามตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว โดยเปิดบริการเส้นทางนครโฮจิมินห์-นครซิดนีย์ และ เมื่อวันอาทิตย์ (25 มี.ค.) นี้ เจ็ทสตาร์ ก็ได้เปิดให้บริการบินนครโฮจิมินห์-สิงคโปร์ เป็นครั้งแรกด้วยค่าตั๋วโดยสารเริ่มตั้งแต่ 37 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
เจ็ทสตาร์ใช้เครื่องแอร์บัส A320 บินตรงจากท่าอากาศยานเติ่นเซินเญิ๊ต (Tan Son Nhat) ไปลงที่ท่าอากาศยานชางงี (Changi) ซึ่งต่างกับไทเกอร์แอร์ (Tiger) สายการบินต้นทุนต่ำของของสิงคโปร์เอง ที่ไปลงจอดอีกแห่งหนึ่ง สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะ
ตามรายงานของสื่อในออสเตรเลียก่อนหน้านี้ แควนตัสได้เริ่มเจรจาซื้อหุ้นแปซิฟิกแอร์ไลนส์ มาตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้ เป็นมูลค่าประมาณ 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นหุ้นส่วนประมาณ 30% แต่ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่เวียดนาม
แปซิฟิกแอร์ไลนส์ เช่นเดียวกันกับสายการบินแห่งชาติคือ เวียดนามแอร์ไลนส์ รวมอยู่ในวิสาหกิจ 10-22 แห่งที่ รัฐบาลมีแผนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย SCIC จะจำหน่ายหุ้นส่วนของตนออกไปให้แก่นักลงทุนเอกชน
ในปี 2550 นี้ SCCIC มีแผนที่จะถอนทุนออกจากรัฐวิสาหกิจจำนวน 50 แห่ง เป็นเงินประมาณ 227 ล้านด่ง หรือ ประมาณ 14.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนักในเศรษฐกิจของประเทศ
รัฐวิสาหกิจต่างๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นบริษัทธุรกิจ ที่จะต้องยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แท็งเนียน
เจ็ทสตาร์เป็นหนึ่งในสายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกๆ ที่บินสู่เวียดนามในขณะนี้ เช่นเดียวกันกับ ไทเกอร์แอร์ (Tiger Air) แอร์เอเชีย (AirAsia) จากมาเลเซีย และ ไทยแอร์เอเชีย (Thai AirAsia) จากประเทศไทย
นักวิเคราะห์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า แควนตัสได้พบสิงคโปร์ไม่เหมาะที่จะเป็นฐานธุรกิจการบิน เนื่องจากเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเปิดบินภายในประเทศได้ การมีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแปซิฟิกแอร์ไลน์ส จะช่วยให้แควนตัสกับเจ็ทสตาร์ เปิดช่องทางทำธุรกิจบินโลว์คอสท์ในตลาดใหญ่เวียดนาม และในภูมิภาคเอเชียได้
เจ็ทสตาร์เอเชีย (Jetstar Asia) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548จากการร่วมทุนระหว่างสายการบินเจ็ทสตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแควนตัส กับบริษัทร่วมทุนสิงคโปร์ ความคิดเดิมก็คือ จะใช้เกาะเล็กๆ แห่งนี้เป็นศูนย์กลางบินเชื่อมกับออสเตรเลีย และปลายทางอื่นๆ ที่มีระยะเวลาทำการบินไม่เกิน 2 ชั่วโมงในภูมิภาคแถบนี้
แต่สองปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า การตั้งฐานบินในสิงคโปร์ทำให้การตลาดไม่เข้าเป้า และ เจ็ทสตาร์เอเชีย ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามนายไซมอน รัชตัน (Simon Rushton) โฆษกสายการบินแควนตัส กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากการเจรจากับฝ่ายเวียดนามประสบผลสำเร็จ ผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในแปซิฟิกแอร์ไลน์สน่าจะเป็นแควนตัส มากกว่าจะเป็นเจ็ทสตาร์
สำหรับแปซิฟิกแอร์ไลนส์เองก็ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด เนื่องจากกฎระเบียบที่ห้ามบินทับเส้นทางสายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ ในเส้นทางบินภายในประเทศที่มีผลกำไร จนกระทั่งต้องผันตัวเองไปเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ โดยเริ่มเปิดบินในประเทศต้นเดือนที่แล้ว
รัฐบาลเวียดนามได้เปิดทางให้คณะผู้บริหารของแปซิฟิกแอร์ไลน์ส หาทางแก้ไขปัญหา โดยปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ ตลอดจนเจรจากับนักลงทุนต่างชาติเพื่อระดมทุนเข้าพัฒนาสายการบินแห่งนี้
ในปี 2547-2548 แปซิฟิกแอร์ไลน์สได้เจรจาแผนการร่วมทุนอย่างยืดเยื้อกับ กลุ่มเทมาเสก (Temasek) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนของเวียดนาม เปิดเผยในเวลาต่อมา ว่า การเจรจายุติลงตั้งแต่สิ้นปี 2548 หลังจากฝ่ายเวียดนามไม่สามารถรับเงื่อนไขของเทมาเสกได้ เนื่องจากฝ่ายนี้เรียกร้องขอเปิดสายการบินในเวียดนามอีกแห่งหนึ่งในระยะข้างหน้า.