xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา...ชาวเขมรต้องกินปลาร้าให้น้อยลง!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



จัดการรายวัน-- ในประเทศกัมพูชา ปลายปีเก่ากับต้นปีใหม่จะเป็นฤดูที่ชาวบ้านทั่วไปวุ่นวายอย่างมากกับการหาปลาเพื่อทำ ประฮ๊อก (Pra Hok) สิ่งนี้เป็นมรดกตกทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน แม้แต่ในยุคที่ประเทศย่ำแย่ที่สุดคือ ช่วง 3 ปีที่พวกเขมรแดงขึ้นครองอำนาจ กิจกรรมสำคัญนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

แต่ปัญหาในวันนี้ก็คือ ปลานับวันร่อยหรอลง

ทะลาบใหญ่ "โตนเลซับ" (Tonle Sap) ได้ชื่อเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ฉายานี้ อาจจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว จำนวนปลาเล็กร่อยหรอลง พวกปลาตัวโตๆ เริ่มหาลำบาก

หรือว่า..ถึงเวลาที่ชาวเขมรจะต้องหยุดล่า หยุดจับ เพื่อให้ประชากรปลามีโอกาสตั้งตัวได้อีกสักระยะ

ในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค. เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ชาวบ้านจะพากันหาปลาอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อจับปลาให้ได้มากที่สุด

ชาวเขมรจะนำปลาที่จับได้ไปทำความสะอาด คัดขนาด และนำไปหมักเกลือ ด้วยกรรมวิธีและภูมิความรู้ที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละครอบครัว จากนั้นก็จะต้องรออีกนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หรืออาจจะถึงข้ามปีเพื่อให้ได้ "ปลาร้า" รสดี ที่ทุกคนต่างภาคภูมิใจ

ทำไม "ประฮ๊อก" จังถูกเรียกว่า "ปลาร้า" มีการตั้งคำถามนี้กันมากขึ้นทุกวันๆ

ก็เพราะว่าปัจจุบันชาวเขมรจะทำประฮ๊อกแบบลัดขั้นตอน ไม่นำปลาที่หมักเกลือขึ้นมาตากแดด อีกแล้ว

ต่างกับวิธีดั้งเดิมซึ่งนอกจากจะหมักไว้สักระยะหนึ่งแล้ว ยังจะต้องนำขึ้นมาผึ่งแดด ก่อนจะนำไปหมักต่อ อันเป็นกรรมวิธีที่คล้ายกับการทำ "ปลาเจ่า" ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งในเขตภาคกลางของประเทศไทย


หลายคนไปจาก จ.เปร็ยแวง (Prey Veng) ติดกับชายแดนเวียดนาม เพื่อไปจับปลาที่ จ.กัมปงธม (Kampong Thom) หรือ เสียมราฐ (Siem Reap) ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติที่ผูกพันอย่างใกล้ชิด กับสิ่งที่ธรรมชาติเนรมิตให้แก่ชาวเขมร

"มันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในชีวิตประจำวันของเรา" นางดิม เอียง (Dim Eang) แม่บ้านในกัมปงชะนัง (Kampong Chhnang) นอกเขตกรุงพนมเปญกล่าวกับผู้สื่อข่าว ขณะที่เอามือล้วงเข้าไปในกะละมังบรรจุปลาหมักเกลือจนพูน

นางเอียงวัย 52 ปี วางแผนว่า จะเก็บปลาร้าเอาไว้สัก 80 กิโลกรัม เอาไว้แลกข้าว และเก็บอีก 20 กก.เอาไว้บริโภคในครอบครัว

ประฮ๊อก หรือ "ปลาเจ่าเขมร" ก็เลยกลายเป็น "ปลาร้า" ในความหมายแบบไทยๆ ไปโดยปริยาย

ปลาร้าเขมรมีกลิ่นแบบไหน? แรงไหม? คำถามพวกนี้ก็มีคนถามกันอยู่เสมอ

แต่นักท่องเที่ยวผู้หนึ่งให้คำตอบบนเว็บท่องเที่ยวของเขาว่า.. “สำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นปลาร้าในบ้านเรา อยากจะแนะนำให้หาโอกาสไปลองชิมปลาร้าสูตรเขมรให้ได้สักครั้ง ขอรับรองว่าจะชอบปลาร้าแบบไทยๆ ไปชั่วนิรันดร”

ชาวเขมรเกือบ 14 ล้านคน รวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงพอลืมตาขึ้นมาก็จะได้กลิ่นปลาร้าแล้ว ที่นั่นนิยมบริโภคกันมาก เป็นเครื่องปรุงรสในอาหารทุกมื้อ เป็นอาหารเมนูเด็ด มีเสิร์ฟในภัตตาคารหรูของกรุงพนมเปญ เพียงแต่คุณภาพของวัตถุดิบจะแตกต่างกันไป

เพราะฉะนั้นจึงมีการทำปลาร้ากันมากในประเทศนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ การจับปลาไปทำประฮ๊อก ก็จะไม่คึกคักเหมือนกับในเขตรอบๆ ทะเลสาบใหญ่โตนเลซับ

ทำไมถึงเป็นช่วงเดือนนี้?

คำตอบก็คือว่า มันเป็นช่วงเวลาที่น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มเคลื่อนตัวลงไปมาก ขณะที่น้ำในทะเลสาบใหญ่เริ่มงวดลง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ น้ำในแม่น้ำโขงไหลก็จึงวนจากกรุงพนมเปญย้อนขึ้นทางทิศเหนือ เข้าไปในทะเลสาบใหญ่

นั่นก็คือ เป็นช่วงที่ปลาตัวเล็กๆ ขนาดเท่านิ้วมือ ก่อตัวกันเป็นฝูงไปตามกระแสน้ำ อพยพเข้าสู่เขตทะเลสาบ เช่นที่บรรพบุรุษปลาของพวกมันทำมาตลอด

ที่นั่นจะเป็นแหล่งที่อยู่ เจริญเติบโต เพื่อเจริญพันธุ์ ก่อนจะอพยพออกจากทะเลสาบอีกรอบหนึ่งในฤดูน้ำหลาก

ส่วนอีกทางหนึ่ง พอถึงหน้านี้ ชาวเขมรจากทั่วทั้งประเทศก็ว่าได้ จะพากันมุ่งไปที่ทะเลสาบ ไปเพื่อเก็บเกี่ยวความร่ำรวยจากธรรมชาติ เช่นที่บรรพบุรุษของพวกเขาปฏิบัติกันมา

นี่คือ ปราร้าที่ครอบครัวของนางทำได้ในปีนี้ จากที่เคยมากกว่านี้สัก 2 เท่าตัวในปีก่อนๆ

แต่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็จับปลาเพื่อนำส่งจำหน่ายให้แม่ค้า ที่เดินทางไปรอบซื้อถึงถิ่น เพราะทุกคนกำลังประสบปัญหาเดียวกัน

การจับปลาในกัมพูชามีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวันๆ เดี๋ยวนี้หลายท้องที่มีการแบ่งซอยแหล่งน้ำต่างๆ เป็น "เขตสัมปทาน" จับปลา นั่นหมายความว่า ชาวบ้านที่ไปจะไม่มีสิทธิ์ก้าวย่างลงไปเหยียบผืนน้ำ

นายโลส มาน (Los Mann) ผู้ได้รับสิทธิ์สัมปทาน ในลำน้ำใกล้กับทะเลสาบใหญ่กล่าวว่า ปีนี้เขาต้องรีบเอาอวนลงลาก ก่อนที่คู่แข่งทางตอนบนของลำน้ำจะลงมือเสียก่อน เพราะปลาเริ่มมีน้อยร่อยหรอลง

"ปีนี้มีปลาน้อยกว่าปีที่แล้ว.." เจ้าของสัมปทานอีกคนหนึ่งพูดเป็นเสียงเดียวกัน แต่ก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าถึงปลายเดือน ก.พ.นี้ จับปลาได้เท่าไรกันแล้ว

ส่วนแม่ค้าก็บ่นอุบ เพราะราคาปลาในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปีที่แล้ว เป็นประมาณ 560 เรียล (ราว 4.60 บาท) ต่อกิโลกรัม

แต่คนอีกหลายล้านกำลังจะลำบาก เพราะราคาปลาร้าแพงขึ้น พวกเขาเป็นราษฎร ประชาชนคนพื้นฐานของประเทศที่จะต้องอยู่กับประฮ๊อกไปตลอดทั้งปี

นายจาง อืน (Trang Oeun) ชาวเมืองอุดง (Oudong) จ.กัมปงชะนัง ใกล้กับกรุงพนมเปญ กล่าวว่า เขาตั้งใจจะทำประฮ๊อกสัก 100 กก. แต่คงจะได้แค่ 50 กก.เท่านั้น

นักวิชาการด้านสัตว์น้ำของโลก ได้เคยออกเตือนก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการลดฮวบของสินในน้ำ ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชา ที่ตั้งของทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นักวิชาการด้านประมงได้ประมวลตัวเลขออกมาว่า ในทั่วอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม ประเทศไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม มีการจับปลาตลอดฤดูกาลต่างๆ ปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน

ในฤดูประฮ๊อก เพียงช่วงเดียว อาณาบริเวณทะเลสาบใหญ่กัมพูชาเพียงแห่งเดียวก็มีการจับปลา 70,000-80,000 ตัน

นักวิชาการได้เตือนมานานแล้วว่า หากไม่ลดการจับปลาในเขตทะเลสาบลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสภาพทางนิเวศน์โดยรวมไปทั่วอนุภูมิภาค สินในน้ำก็จะร่อยหรอไปทั่วทั้งอาณาบริเวณที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น