xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์ห่วย Qantas ซื้อแปซิฟิกแอร์บินเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน - สายการบินแควนตัส (Qantas) ได้ยืนยันในวันพุธ (24 ม.ค.) ที่ผ่านมา เกี่ยวกับข่าวที่ว่า กำลังมีการเจรจาซื้อหุ้นในบริษัทสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลน์ส (Pacific Airlines) ในเวียดนาม ที่กำลังจะเปิดให้บริการบินราคาต่ำ (Low-Cost) ในเดือนหน้านี้ เช่นเดียวกันกับสายการบินเจ็ทสตาร์เอเชีย (Jet Star Asia) ที่เป็นสายการบินจำหน่ายตั๋วราคาถูกในเครือแควนตัส

นักวิเคราะห์และสื่อของออสเตรเลีย มองว่า เป็นความพยายามของแควนตัส ที่จะย้ายฐานการบินต้นทุนต่ำของเจ็ทสตาร์เอเชีย ออกจากสิงคโปร์

เจ็ทสตาร์เป็นหนึ่งในสายการบินแรกที่บินต้นทุนต่ำเข้าสู่เวียดนามในขณะนี้ เช่นเดียวกันกับ ไทเกอร์แอร์ (Tiger Air) จากสิงคโปร์ แอร์เอเชีย (AirAsia) จากมาเลเซีย และ ไทยแอร์เอเชีย (Thai AirAsia) จากประเทศไทย

วิเคราะห์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า แควนตัสได้พบว่าสิงคโปร์ไม่เหมาะที่จะเป็นฐานธุรกิจการบิน เนื่องจากเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเปิดบินภายในประเทศได้ การมีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแปซิฟิกแอร์ไลน์ส จะช่วยให้แควนตัสกับเจ็ทสตาร์ เปิดช่องทางทำธุรกิจบินโลว์คอสต์ในตลาดใหญ่เวียดนาม และในภูมิภาคเอเชียได้

เจ็ทสตาร์เอเชีย ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างสายการบินเจ็ทสตาร์ จากออสเตรเลีย กับบริษัทร่วมทุนสิงคโปร์ ความคิดเดิมก็คือจะใช้เกาะเล็กๆ แห่งนี้เป็นศูนย์กลางบินเชื่อมกับออสเตรเลีย และปลายทางอื่นๆ ที่มีระยะเวลาทำการบินไม่เกิน 2 ชั่วโมงในภูมิภาคแถบนี้

แต่สองปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า การตั้งฐานบินในสิงคโปร์ทำให้การตลาดไม่เข้าเป้า และ เจ็ทสตาร์เอเชีย ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด

นายไซมอน รัชตัน (Simon Rushton) โฆษกสายการบินแควนตัส กล่าวว่า หากการเจรจากับฝ่ายเวียดนามประสบผลสำเร็จ ผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในแปซิฟิกแอร์ไลน์สน่าจะเป็นแควนตัส มากกว่าจะเป็นเจ็ทสตาร์

ยังไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับราคา และสัดส่วนหุ้นในแปซิฟิกแอร์ไลน์ส ที่ฝ่ายออสเตรเลียกำลังเจรจาซื้ออยู่ในขณะนี้ แต่ตามกฎหมายเวียดนาม ในชั้นแรกนี้แควนตัสจะร่วมเป็นเจ้าของสายการบินในเวียดนาม ได้เพียง 30% เท่านั้น และอาจจะถือได้สูงถึง 49% ในเวลาข้างหน้า

ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสายการบินแห่งที่ 2 ของประเทศ ตามแผนพัฒนานั้น แปซิฟิกแอร์ไลน์สจะเข้าจดทะเบียนระดมทุนในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ นำหุ้น 10-30% จำหน่ายให้แก่นักลงทุน รัฐบาลยังจะคงสัดส่วนของตน จำนวนที่เหลือจะเป็นหุ้นส่วนของพนักงานบริษัท

เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบิน เป็นอีกแขนงหนึ่งที่ทางการคอมมิวนิสต์จะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าแข่งขันได้

ตามพันธกรณีที่ให้ไว้แก่ WTO นั้น เวียดนามจะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นในบริษัทธุรกิจต่างๆ ได้ถึง 49%

นายปีเตอร์ เกร็ก หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ของแควนตัสได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (23 ม.ค.) ว่า แควนตัสกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนในสายการบินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมนี้ต่างพุ่งไปที่แปซิฟิกแอร์ไลน์สของเวียดนามที่ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด

ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนามนั้น แปซิฟิกแอร์ไลนส์ขาดทุน เนื่องจากถูก “บอนไซ” ไม่ให้โต ถูกจำกัดเส้นทางบิน มิให้บินแข่งกับเวียดนามแอร์ไลน์ส สายการบินแห่งชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินหมายเลข 2 ของประเทศนี้

แปซิฟิกฯ ถูกบังคับให้บินในเส้นทางบินที่ไม่มีผลกำไร หรือทำตลาดยาก ขณะที่เวียดนามแอร์ไลน์สได้เหมาเส้นทางบินอื่นๆ ทั้งหมดในประเทศ

ในเวียดนามยังมีสายการบิน VASCO ซึ่งเป็นสายการบินร่วมทุนรัฐกับเอกชนอีกแห่งหนึ่ง แต่ VASCO ก็ถูกจำกัดให้ทำได้แค่รับจ้างบนส่งสินค้า หรือบริการบินเช่าเหมาลำเท่านั้น

รัฐบาลเวียดนามได้เปิดทางให้คณะผู้บริหารของแปซิฟิกแอร์ไลน์ส หาทางแก้ไขปัญหา โดยปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ ตลอดจนเจรจากับนักลงทุนต่างชาติเพื่อระดมทุนเข้าพัฒนาสายการบินแห่งนี้

ในปี 2547-2548 แปซิฟิกแอร์ไลน์สได้เจรจาแผนการร่วมทุนอย่างยืดเยื้อกับ กลุ่มเทมาเส็ก (Temasek) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนของเวียดนาม เปิดเผยในเวลาต่อมา ว่า การเจรจายุติลงตั้งแต่สิ้นปี 2548 หลังจากฝ่ายเวียดนามไม่สามารถรับเงื่อนไขของเทมาเส็กได้

สื่อของเวียดนาม รายงานว่า เทมาเส็กได้ขอเข้าถือหุ้นใหญ่ในแปซิฟิกแอร์ไลน์ส แทนรัฐบาลเวียดนาม ด้วยเงินทุนหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งใช้หนี้สินทั้งหมดของสายการบินแห่งนี้ด้วย จากนั้นจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ท้องถิ่นระดมทุน

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขพ่วงท้ายด้วยว่า เทมาเส็กของสงวนสิทธิ์ที่จะจัดตั้งสายการบินใหม่ขึ้นในเวียดนามด้วย

ยังไม่เคยมีการแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาที่ล้มเหลวจากกลุ่มเทมาเส็ก

สื่อในออสเตรเลีย รายงานอย่างหลากหลายในต้นสัปดาห์นี้ ว่า แควนตัสที่ถือหุ้นในเจ็ทสตาร์เอเชีย 44.5% กำลังหาทางออกให้แก่สายการบินร่วมทุนแห่งนี้ หลังจากขาดทุนมาตลอด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นแหล่งที่ไม่เหมาะสมอย่างสิ้นเชิง สำหรับเป็นศูนย์การบินแบบต้นทุนต่ำ และยังต้องแข่งขันกับไทเกอร์แอร์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลอีกด้วย

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารนั้น ผู้บริหารของแควนตัสกล่าวปฏิเสธ ข้อสังเกตที่ว่า แควนตัสได้กลับไปเจรจากับสายการบินอดัมแอร์ (Adam Air) ของอินโดนีเซียอีก สายการบินเอกชนแห่งนี้เพิ่งพบกับโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกจมทะเล พร้อมผู้โดยสารกว่า 100 คน ในเขตใกล้กับเกาะสุลาเวสี (Sulawesi) เมื่อต้นเดือนนี้

ปัญหาก็คือ ออสเตรเลียขาดสิทธิการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ มองว่า ออสเตรเลียกำลังหาทางเข้าไปสวมสิทธิการบินของแปซิฟิกแอร์ไลน์ส รวมทั้งตลาดในเวียดนามก็ยังเปิดโอกาสให้อย่างสูง ให้แก่ทั้งแควนตัสและเจ็ทสตาร์

ประธานแปซิฟิกแอร์ไลนส์ นายฝั๊มหวูเฮี่ยน (Pham Vu Hien) ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ของทางการเวียดนามเมื่อไม่นานมานี้ ว่า สายการบินแปซิฟิก กำลังจะเริ่มเปิดให้บริการบินต้นทุนต่ำในเวียดนามในช่วงใหม่ประเพณี (ตรุษ) เดือน ก.พ.นี้ โดยจำหน่ายตั๋วโดยสารบินกรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์ ขั้นต่ำเพียง 1 ดอลลาร์เท่านั้น

แปซิฟิกแอร์ไลน์ส ยังมีแผนที่จะเปิดบินเชื่อมไต้หวันกับเกาหลีใต้อีกด้วย จึงต้องการทั้งเงินทุน ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเทคโนโลยีจากผู้ร่วมทุนต่างประเทศ

“หลังจากยุติการเจรจากับเทมาเสกของสิงคโปร์ เราได้พบกับ (นักลงทุน) ชาวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่ง แต่ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นการเจรจาเท่านั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ในขณะนี้” นายเฮี่ยน กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น บทสัมภาษณ์นี้ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของแปซิฟิกแอร์ไลน์ส

เจ้าหน้าที่ของสายการบินนี้ เปิดเผยในปลายปี 2549 ว่า กำลังมีการเจรจากับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สของไทย เพื่อเปิดบินโลว์คอสต์นครโฮจิมินห์-กรุงเทพฯ ซึ่งทางการเวียดนามยังสงวนเอาไว้ ยังมิให้สายการบินต้นทุนต่ำของประเทศใดบินไปที่นั่น แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการเจรจากับฝ่ายไทยอีก

สายการบินแอร์เอเชียของมาเลเซีย ได้เสนอต่อทางการเวียดนามาตั้งแต่เดือน มี.ค.2549 เพื่อขอเปิดบินเชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์-นครโฮจิมินห์ และปลายทางอื่นๆ ในประเทศนี้ แต่ฝ่ายเวียดนามยังไม่อนุญาต
กำลังโหลดความคิดเห็น