เทศกาลวันตรุษ หรือ เทศกาลปีใหม่ใกล้เข้ามา มันเป็นเทศกาลแห่งความเบิกบาน การพบปะกันพร้อมหน้าระหว่างสมาชิกครอบครัว การเฉลิมฉลองและการใช้จ่าย และ การรับประทาน
ชาวเวียดนามนับวันเดือนปีตามปฏิทินจันทรคติ เช่นเดียวกันกับชาวจีน ในจีนมีเทศกาลตรุษจีน หรือ ขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ในเวียดนามก็มี "ตรุษญวน" หรือ Tet ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ของเวียดนาม
ชาวเวียดนามมีกิจปฏิบัติที่สำคัญอยู่จำนวนหนึ่งในเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณี โดยถือปฏิบัติกันใน 3 วัน วันก่อนวันปีใหม่ วันแรกกับวันที่สอง
นั่นคือวันไหว้ ที่มีการเซ่นไหว้ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ เพื่อศิริมงคล เป็นการขอให้ดวงวิญญาณต่างๆ คุ้มครองป้องกันให้อยู่รอดปลอดภัย ชาวเวียดนามเชื่อว่าบรรพบุรุษ พ่อแม่พี่น้องที่ล่วงลับจะกลับบ้านในวันก่อนวันขึ้นปีใหม่ ก็จึงร่วมเฉลิมฉลองเพื่อคนตายด้วย มีการจัดข้าวปลาอาหารเลี้ยง ต้อนรับ
เป็นความคิดที่ดีทีเดียว เพราะนี่จะเป็นมื้ออาหารที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะไปรับประทานร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลเพียงไร
ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ครอบครัวชาวเวียดนามจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารต่างๆ รวมทั้งขนมพิเศษบางชนิด ที่สมาชิกครอบครัวจะร่วมกันทำเฉพาะในเทศกาลนี้ ส่วนจะเป็นอะไรขึ้นอยู่กับประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ
ในภาคเหนือ ชาวเวียดนามในภาคเหนือของประเทศส่วนใหญ่จะจัดพิธีกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกับวัตรปฏิบัติของชาวจีนมาก ซึ่งเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
อาหารของชาวเหนือส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกไก่ หมู แหนมที่ทำจากหนังหมู หมูยอ ไก่ยอ กระทั่งเนื้อยอ ทั้งหมดนี้เป็นอาหารบนจาน ส่วนพวกที่เสิร์ฟในถ้วยหรือชามก็นำโดย และ ขาหมูพะโล้ หมูบะช่อต้ม
อาหารในวันตรุษจะทานกับข้าวเหนียว หรือ ไม่ก็ข้าวต้มมัดเวียดนาม ที่เรียกว่า "แบ๋งจึง" (Banh Chung) ที่ทำจากข้าวเหนียว รับประทาน ผสมผสานกับการร่วมดื่มสุราพื้นเมือง
แบ๋งจึงต้องถือว่าเป็นอาหารบังคับในเทศกาลนี้ ครอบครัวต่างๆ ต่างก็มีสูตรเฉพาะของตนเอง หลายครอบครัวก็จะผสมผักอะไรต่างๆ ลงไปตามชอบ รับประทานเสร็จก็ตามด้วยของหวาน ซึ่งมักจะเป็นพวกถั่ว หรือไม่ก็ตามด้วยผลไม้ หรือ ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้แห้งก็ได้
ในภาคกลางก็จะมีเมนูหลักๆ คล้ายกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด ในอดีตภาคกลางของประเทศค่อนข้างทุระกันดานแห้งแล้ง การฉลองวันตรุษจึงมักจะขึ้นต่อพวกผลไม้ที่ทำถนอมเอาไว้จากฤดูต่างๆ พวกแหนมหมู เนื้อบดแผ่นทอด แหนมเนือง และเนื้อย่าง
ชาวเวียดนามในภาคกลางเป็นเจ้าตำหรับแหนมเนืองกับปอเปียะรสอร่อย ที่นั่นนิยมทำปอเปียะกันมาก ทั้งสดและแห้ง ไส้ข้างในมีทั้งไก่ ทั้งหมู พอถึงวันตรุษสมาชิกครอบครัวจะช่วยกันทำแบ๋งจึง ก่อนจะร่วมกันฉลองอย่างเอร็ดอร่อย ตามหมู่บ้านต่างๆ จะทำผลไม้แห้งหรือทำแช่อิ่มเอาไว้แต่หลายเดือนก่อน เอาไว้รับประทานตลาดเดือนแรกของปีใหม่
ในภาคใต้ก็มีเมนูอาหารวันตรุษเฉพาะกันออกไป ชาวเวียดนามภาคใต้จะรับประทานอาหารประเภทเย็นๆ แทนอาหารจานร้อนทั้งหลาย แต่ก็มักจะมีรสที่จัดจ้านมากกว่าอาหารของภาคอื่นๆ เมนูจากไก่ หรือกุ้งจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่จะเป็นพิเศษก็คือ หูหมูที่นำไปต้มและนำไปปรุงเป็นอาหารประเภท รวมทั้งยำ รับประทานกับผักหลากชนิด กับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวหวาน
อาหารมื้อหลักทางภาคใต้ซึ่งเป็นพวกแกงต่างๆ มักจะใส่น้ำกะทิมากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ และ ในหลายท้องก็มี "แบ๋งเต็ต" (Banh Tet) หรือ "ขนมปีใหม่" ของใครของมันเฉพาะท้องถิ่นไป
เวียดนามภาคใต้ก็จะคล้ายๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน มีการรับประทานข้าวเหนียวกันมากกว่าภาคอื่นของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
พอใกล้ๆ วันตรุษ ก็จะได้กลิ่นหอมสารพัด รวมทั้งข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ ยังใหม่ และมีกลิ่นหอมหวนเมื่ออยู่บนเตานึ่ง.