น้ำดีจากร่างของหมีเป็นๆ ยังเป็นที่นิยมกันอย่างสูงในหมู่ชาวเวียดนามและชาวจีน ทำให้การเลี้ยงหมีแบบขังกรงเพื่อดูดเอาของเหลวอันล้ำค่าของมันออกขาย ยังกระทำกันแพร่หลายแม้ว่าทางการจะประกาศให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไปแล้วก็ตาม
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ในปัจจุบันมีหมีควายระหว่าง 4,000-5,000 ตัว กำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ในกรงเลี้ยงแคบๆ แทบจะกระดิกตัวไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายของมันเร่งผลิตน้ำดี เพื่อที่ผู้เลี้ยงจะดูดออกส่งขายได้มากขึ้น
ผู้เลี้ยงจะต่อท่อเหล็กเข้าไปที่ถุงน้ำดีในร่างของมัน เพื่อดูดเอาน้ำดีสดๆ ออกมาตามท่อที่ต่อออกมายังนอกกรง เป็นระยะๆ
กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ กับกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกำลังขบคิดหาทางแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากมีการลักลอบจับหมีควายที่อาศัยตามธรรมชาติในเขตป่าสงวนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อนำไปขังกรงเลี้ยงตามบ้าน จนหมีควายในป่าของประเทศนี้ตกอยู่ในฐานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ไม่เพียงแต่จะมีการเลี้ยงในครัวเรือนละตัวหรือสองตัวเท่านั้น ในหลายท้องที่เลี้ยงกันเป็นฟาร์ม แห่งละนับร้อยๆ ตัว
"ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหนในเวียดนาม คุณจะเห็นดีหมีวางขายอยู่ทั่ว" นายทิม ไนท์ (Tim Khight) จากกลุ่มไวด์ไลฟ์ แอ็ท ริสค์ (Wildlife at Risk) หรือ WAR กล่าว
ชาวตะวันออกเชื่อกันว่า ดีหมีมีสรรพคุณทางยาอย่างสูง สามารถรักษาโรคร้ายในมนุษย์หลายชนิดให้หายขาดได้
ในเวียดนามผู้คนนิยมดื่มดีหมีเป็นประจำ เพื่อรักษาอาหารปวดภายในร่างกาย รักษาอาการที่เกี่ยวกับตับและหัวใจ และยังใช้ทารักษาอาการผื่นคันตามผิวหนัง หรือพวกกลากเกลื้อนได้เป็นอย่างดี ใช้เป็นยาถอนแก้อาการเมาสุรา บางแห่งนำไปผสมกับยาหยอดตาเพื่อรักษาอาการนัยตาพร่ามัว หระทั่งผสมกับแชมพูสระผม ซึ่งทำให้ผมสลวยเป็นเงางาม
"ดื่มดีหมีจะช่วยหลุดผ่อนผลร้ายที่เกิดจากแอลกอฮอล์" สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างคำกล่าวของนายหวูยวีเตี๋ยน (Vu Duy Tien) เจ้าของร้านสุราพื้นเมืองแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย ที่นั่นจำหน่ายดีหมีซีซีละ 80,000 ด่ง หรือประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ
เขากล่าวว่านอกจากช่วยให้หายเมาแล้ว ยังช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศให้กับชายอีกด้วย เป็นยาสารพัดประโยชน์เลยดีเดียว
การสอดท่อเข้าไปในช่องท้องของหมี เพื่อให้ปลายอีกข้างหนึ่งไปเสียบเข้ากับถุงน้ำดีอย่างพอเหมาะพอเจาะนั้น ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ระบบอัลตราซาวด์เข้าช่วย เพื่อหาตำหน่งที่ถูกต้องของอวัยวะ
ไม่เพียงแต่หมีควายเท่านั้นที่ชาวเวียดนามนิยมเลี้ยงกัน หลายครอบครัวยังเลี้ยงหมีหมา (Sun Bear) ที่เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย พวกมันให้น้ำดีได้ดีเช่นเดียวกัน
สัตว์ป่าพวกนี้จะถูกขังในกรุงเหล็กหรือกรงไม้ที่แคบจนกระทั่งพวกมันเคลื่อนตัวได้ลำบาก ทำให้หมีบางตัวเกิดอาการเครียด เอาหัวโขกกับกรง และ กัดอุ้งเท้าตัวเอง
ทางการเวียดนามออกกฎหมายในเดือน มี.ค.2548 ให้การเลี้ยงหมีในบ้านเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หลังจากมีแรงกดดันจากกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่ประณามเรื่องนี้ว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน
แต่เนื่องจากมีหมีอยู่ตามความเรือนต่างๆ เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะจัดการไปยึดคืนและนำพวกมันกลับสู่ป่าได้ ก็จึงทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และ พยายามหยุดยั้งผู้เลี้ยงรายใหม่ และห้ามนำเข้าลูกหมี
ในปี 2547-2548 กลุ่ม WAR ได้รณรงค์ฝังไมโครชิปในหมีทุกตัวที่เลี้ยงอยู่ตามครัวเรือนทั่วเวียดนามขณะนั้น และร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ของประเทศนี้หาทางหยุดยั้งไม่ให้มีการเลี้ยงเพิ่ม
เจ้าหน้าที่ของ WAR กล่าวว่า เป้าหมายก็คือ หาทางช่วยให้สัตว์ป่าพวกนี้ไม่ถูกทรมาน และมีการเลี้ยงดูอย่างมีมนุษยธรรมจนกว่าพวกมันจะตายไป และ ห้ามไม่ให้มีการเจาะท่อเข้าไปดูดน้ำดีของมันออกมา ห้ามการจำหน่าน้ำดีหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งในทางปฏิบัติจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก รวมทั้งมีงบประมาณกับบุคคลากรที่จำกัดจำเขี่ยด้วย
การค้าน้ำดีหมีก็ยังเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูต่อไปในประเทศนี้ เจ้าหน้าที่อีกผู้หนึ่งกล่าวว่าไม่ว่าจะเดินเข้าไปในร้านจำหน่ายยาแผนโบราณที่ไหน เจ้าของร้านจะเปิดตู้เย็นนำดีหมีออกมาให้แก่ลูกค้าตามความประสงค์เสมอ
ในป่าเวียดนามทุกวันนี้จะหาหมีควายสักตัวได้กลายเป็นเรื่องยาก พวกนักล่าก็เลยข้ามแดนเข้าป่าในลาวและในกัมพูชา ลักลอบนำลูกหมีตัวน้อยถูกมาจำหน่ายตัวละ 100 ดอลลาร์ นำไปขุนอีกสัก 6 เดือนมันก็จะโตพอที่จะให้น้ำดี กระบวนการดูดออกขายก็จะเริ่มขึ้น
ตอนนี้มูลนิธิสัตว์แห่งเอเชีย (Animals Asia Foundation) หรือ AAF ที่มีสำนักงานอยู่ในฮ่องกง กำลังก่อสร้างศูนย์พักฟื้นสำหรับหมีประมาณ 200 ตัว ขึ้นทางตอนเหนือของกรุงฮานอย และ กำลังสร้างเพิ่มเติมอีกแห่งในจีน
กลุ่มนี้มีแผนที่จะเปิดสถานกักกันขึ้นมาสำหรับหมีควายสัก 50 ตัวภายในเดือ น เม.ย.นี้ และ กำลังรอรัฐบาลอนุญาตขยายสถานกักกันออกไปให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรับหมีที่บาดเจ็บสาหัสหรือทุภพลภาพเข้าไว้ในอุปถัมภ์
การก่อสร้างศูนย์แห่งนี้ยังเป็นการช่วยเหลือทางการเวียดนาม ปฏิบัติตามกฎหมายโดยยึดหมีที่ถูกเลี้ยงดูอย่างทุกข์ทรมานตามครัวเรือนต่างๆ เข้าไว้ในศูนย์เพื่อพักฟื้นและหาโอกาสส่งตัวพวกมันกลับสู่ป่าอีกครั้ง
ผู้อำนวยการบริหารของ AAF นางแอนนี เมเธอร์ (Annie Mather) กล่าวว่า การก่อสร้างศูนย์ฯ สำหรับหมี 200 ตัวต้องใช้งบประมาณราว 3 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังจะต้องมีพนักงานจำนวนใกล้เคียงกับศูนย์ที่อยู่ในจีนที่กำลังดูแลหมีพิการ 170 ตัว ต้องใช้คนงานถึง 140 คน
"จุดประสงค์ก็เพื่อจะช่วยหมี ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพรวมของเรื่องนี้ ซึ่งก็คือการเลี้ยงหมีอย่างโหดร้าย เพื่อที่จะให้รู้ว่าการเลี้ยงหมีไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมียาแผนโบราณทางเลือกอื่นๆ อีกจำนวนมาก" แอนนีกล่าว.
ส่วนอีกทางหนึ่ง กลุ่ม Education for Nature Vietnam ได้มีแผนที่จะรณรงค์ให้ความรู้ในนครโฮจิมินห์ภายใต้หัวชื่อ "นำสันติสู่หมีในเวียดนาม" โดยมีกำหนดจะจัดขึ้นในครึ่งแรกของปี 2550 นี้ หลังจากทำมาครั้งหนึ่งในกรุงฮานอยเมื่อปีที่แล้ว.