กรุงเทพฯ-- ธนาคารแห่งรัฐเวียดนามหรือ SBV (State Bank of Vietnam) ได้ประกาศขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่ง (Dong) กับเงินดอลลาร์ขึ้นเป็น 0.50% จาก 0.25% ในปัจจุบัน อันเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์มองว่า เพื่อหาทางผ่อนคลายแรงกดดันจากเงินสกุลต่างประเทศที่กำลังลุ้นตลาด ส่งผลทำให้เงินด่งแข็งค่าอย่างมากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549
มาตรการใหม่นี้ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. และ ถูกมองว่า เป็นความพยายามของธนาคารแห่งชาติ โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้ค่าเงินด่งสามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น อันเป็นการผ่อนคลายเกี่ยวกับค่าเงินครั้งแรก นับตั้งแต่ทางการได้ยอมลดค่าเงินด่ง ภายใต้การกำกับเมื่อปี 2545
นายเจื่องวันเฟื๊อก (Truong Van Phuoc) หัวหน้าฝ่ายปริวรรตเงินตราของ SBV กล่าวว่า มาตรการที่ออกมานี้ก็เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนสามารถนยืดหยุ่นได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ตลาดค้าเงินในเวียดนามได้ออกยกย่องการตัดสินใจของแบงก์ชาติ และนายแบงก์เอกชนกล่าวว่า ทางการน่าจะใช้มาตรการนี้มาตั้งนานแล้ว
การขยายช่วงห่างของอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหม่นี้ หมายความว่าตลาดจะสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่งกับเงินดอลลาร์ในอัตราที่ใกล้กับสัดส่วนของอุปสงค์และอุปทานมากยิ่งขึ้น อัตราเมื่อวันพฤหัสบดี (4 ม.ค.) นี้ อยู่ที่ 16,100 ด่งต่อดอลลาร์ จาก16,096 ด่ง เมื่อวันพุธ
อัตราแลกเปลี่ยน 16,100 ด่งต่อดอลลาร์ฯ อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราเมื่อเดือน พ.ย.2549 ก่อนที่ค่าเงินด่งจะแข็งตัวขึ้นอย่างผิดความคาดหมายในเดือน ธค.
นายเฟื๊อกยังกล่าวอีกว่า อัตราแลกเปลี่ยนใหม่นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟอง (Tien Phong) หรือ "ผู้บุกเบิก" เมื่อวันพุธ
เขายังกล่าวอีกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในต้นปี 2550 นี้ ได้อ่อนตัวลงอย่างมากในตลาดเวียดนาม และสถานการณ์นี้จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลอื่นๆ กับดอลลาร์ ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
การประกาศมาตรการด้านค้าเงินครั้งนี้ยังมีขึ้นในขณะที่กระทรวงการค้าเวียดนาม ตั้งเป้าการส่งออกใหม่ เป็น 47,540 ล้านดอลลาร์ในปี 2550 นี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยรัฐสภากับรัฐบาล
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามอีโคโนมิคไทมส์ รัฐสภากำหนดเป้าหมายเอาไว้เพียง 46,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 39,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2548 ในปีนี้กระทรวงการค้าตั้งเป้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ เอาไว้ที่ 9,750 ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรป 8,900 ล้าน กลุ่มอาเซียน 7,800 ล้าน ญี่ปุ่น 6,090 ล้าน และตลาดจีนอีก 3,950 ล้านดอลลาร์
การส่งออกที่ขยายตัวถึง 22% กับเงินลงทุนของต่างประทศที่ทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์ ได้สร้างแรงกดดันต่อค้าเงินด่งอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2549 ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเงินด่งอาจจะผันผวนอย่างหนักในต้นปี 2550 นี้ หาก SBV ไม่ยอมปรับค่าเงินหรือไม่ซื้อดอลลาร์เข้าเก็บให้ทันเวลา
ปริมาณของเงินดอลลาร์ได้ส่งผลกระทบโดยตรงถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร ที่ไม่สามารถจะขายดอลลาร์ออกได้ เนื่องจากความต้องการซื้อลดลง ขณะที่กฎระเบียบของ SBV จำกัดเพดานการครอบครองเงินสกุลนี้ของธนาคารแห่งต่างๆ
ธนาคารหลายแห่งกล่าวว่า ไม่มีเงินด่งเพียงพอที่จะซื้อดอลลาร์ในตลาด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติอย่างยิ่งในระบบการเงินของประเทศ
ความวิตกกังวนยิ่งรุนแรงเมื่อตลาดเงินพบกับความจริงว่าในปี 2549 ค่าเงินด่งอ่อนตัวลงเพียงประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งบ่งบอกว่าค่าเงินสกุลเวียดนามแข็งเกินไป และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งขึ้นไปอีก
ในปี 2549 ค่าเงินด่งเปลี่ยนแปลงในระดับที่ต่ำมาก กล่าวคือในกลางเดือน พ.ย. อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารการค้าต่างประเทศเวียดนาม หรือ เวียดคอมแบงก์ (Vietcombank) อยู่ที่ 16,100 ด่งต่อดอลลาร์ จากประมาณ 15,600 ด่งเมื่อต้นปี หลายฝ่ายคาดกันว่าเงินด่งคงจะอ่อนค่าลงเหมือนเมื่อปีที่แล้ว
แต่การกลับตรงกันข้ามในปลายเดือน ธ.ค. อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยเวียดคอมแบงก์ได้ปรับขึ้นเป็น 16,067 ด่งต่อดอลลาร์ สูงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ และ สูงกว่าอัตาแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารที่กำหนดโดยธนาคารแห่งรัฐ
ก่อนวันที่ 2 ม.ค. อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยธนาคารแห่งต่างๆ คิดคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารที่กำหนดโดย SBV บวก 0.25% ซึ่งอัตราในวันที่ 22 ธ.ค.อยู่ที่ 16,088 ด่งต่อดอลลาร์ นั่นก็คือ ธนาคารจะซื้อดอลลาร์ในอัตรา 16,128 ด่งต่อดอลลาร์ ขณะที่เสนอขายเพียง 16,067 ด่งต่อดอลลาร์เท่านั้น
สภาพเช่นนี้สร้างแรงกดดันอย่างสูงให้กับธนาคารพานิชย์แห่งต่างๆ นอกจากนั้น ช่วงปลายปี 2549 ต้นปี 2550 ยังมีเงินดอลลาร์อีกปริมาณมหาศาลที่ชาวเวียดนามโพ้นทะเลโอนกลับประเทศ ในช่วงเทศกาลวันตรุษ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์หมุนเวียนอย่างเชี่ยวกรากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ธนาคารแห่งรัฐเวียดนามก็ตกอยู่ในฐานะลำบาก และมีแนวโน้มว่าจะไม่ยอมกว้านซื้อดอลลาร์ออกจากตลาด เพราะหากทำเช่นนั้นก็จะมีเงินด่งออกหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น ซึ่งปัญหาใหม่ที่จะติดตามก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นสูงลิ่ว จนอาจจะควบคุมไม่ได้
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ธนาคารแห่งรัฐเวียดนามต่อขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในที่สุด.