xs
xsm
sm
md
lg

เขมรชู “ฉบับศรี” เป่าหูหญิงให้บำเรอสามีเยี่ยงทาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



องค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนเอ็นจีโอ พากันแปลกใจเมื่อพบว่า ในโรงเรียนแห่งต่างทั่วกัมพูชา ยังมีการสอน “ฉบับศรี” (Chhabab Srey) อันเป็นเสมือนคู่มือของหญิงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคศักดินานิยม ครั้งที่พวกขุนน้ำขุนนางได้ออกข้อปฏิบัติ เพื่อควบคุมภรรยาของตน (ที่มีหลายคน)

มันต่างกันอย่างยิ่งกับประเทศกัมพูชายุคใหม่ ที่ได้ร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศตรงข้าม และต่อต้านการทารุณกรรมต่อสตรีเพศ

ไม่มีการตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ “ฉบับศรี” ถูกสอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง ปลูกฝังให้สตรีเขมรต้องเป็นฝ่ายเชื่อฟังสามีอย่างยิ่งยวด ในโรงเรียนจะสอนเรื่องนี้ให้นักเรียนชายได้ยินด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาคาดหวังอะไรได้บ้าง เมื่อโตขึ้นมาได้มีโอกาสเป็นสามี

“ฉบับศรี” ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนหรือคล้ายๆ กับ “กฤษณาสอนน้อง” หรือ “สุภาษิตสอนหญิง” เพราะได้หยิบยกเอาคำสอนของพระศรีอินทรวัตตี (Intravattey) ที่ทรงสั่งสอนพระธิดา เกี่ยวกับข้อปฏิบัติเพื่ออยู่ในโลกนี้ให้ได้ ในยามที่ต้องเป็นศรีภรรยา

เรื่องใหญ่ที่สตรีเขมรถูกพร่ำสอนสืบกันมาหลายชั่วคนมีอยู่ 10 ข้อหลักๆ เช่นว่า เธอต้องไม่ลืมว่าเธอเป็นคนใช้ส่วนตัวเพียงคนเดียวที่จะต้องรับใช้สามี และ จะต้องเคารพใน “ไฟทั้ง 3” ซึ่งก็คือ

1.ดูแลบิดาและมารดาของสามีให้ดี เลี้ยงดูและจัดหาให้ทุกอย่างที่พ่อแม่ของสามีต้องการ
2.สนองกามารมณ์ของสามีให้จงดี ต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ ไม่ทำให้สามีผิดหวัง ต้องอ่อนน้อม ไม่ตีตนเสมอสามี ไม่นำเรื่องที่สามีถามไปเล่าให้พ่อแม่ของตนฟัง
3.สามีจะว่าอะไรต้องไม่ถือสาเอาความ ไม่โกรธ ไม่โต้ตอบ

เธอต้องไม่จับศีรษะของสามีโดยไม่ได้ขออนุญาตและขอขมาเสียก่อน เวลานอนเธอต้องไม่นอนหันหลังให้กับสามี หากทำเช่นนั้นเธอก็จะเป็นเหมือนงูที่อยู่ในบ้าน กัดทุกคน และในที่สุดก็จะต้องถูกแยกออกจากสามี ไร้ที่พึ่ง เหล่านี้เป็นต้น

กองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเฟม (United Nation Development Fund for Women- UNIFEM) เริ่มเข้าไปปฏิบัติงานในกัมพูชา เมื่อปี 2545 และได้พบว่าข้อปฏิบัติตาม “ฉบับศรี” เป็นอุปสรรคในการพัฒนายกระดับสตรีของประเทศนี้

นับเป็นเรื่องแปลก รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในสัญญาเพื่อกำจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือ ซีดอว์ (Convention on the Elimination of all forms of Discrimination against Women) ปี 2535 ประเทศนี้เข้าเป็นภาคีเกือบทุกสนธิสัญญาเกี่ยวกับสตรีที่มีอยู่ในโลก แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิสตรีออกมาบังคับใช้

สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเปิดช่องให้ “ฉบับศรี” ยังดำรงอยู่ต่อไป

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีการละเมิดสิทธิสตรี และการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในระดับสูงมาก การข่มขืน การทำร้ายสตรียังมีอยู่ทั่วไป แม้ว่าจะมีสตรีจำนวนหนึ่งอยู่ในรัฐสภาและ ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วยก็ตาม

ราว 40% ของประชาชนกัมพูชายังคงอาศัยอยู่ในความยากจนข้นแค้นสุดๆ ใต้ขีดหมายในนิยามความยากจนของทุกองค์การทุกสำนัก อัตราคนว่างงานสูงถึง 20.3% สตรีที่ไม่มีการศึกษาเป็นแรงงานที่ทุกข์ระกำอย่างยิ่ง

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศทำอาชีพเกษตรกรรมที่ราคาพืชผลไม่แน่ไม่นอน อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดสูงมาก อัตราการขาดสารอาหารของเด็กก็สูงมาก ยังไม่ต้องพูดถึงโรคร้ายต่างๆ ที่ไปกับน้ำดื่มน้ำใช้ไม่สะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้สตรีเป็นฝ่ายแบกรับตรงๆ

กัมพูชาได้รับความช่วยเหลืออย่างมากมายในแต่ละปี ราว 1 ใน 3 ของผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เป็นเงินช่วยเหลือผ่านองค์กรไม่สังกัดรัฐบาล หรือ เอ็นจีโอ

หลายหน่วยงานกำลังเป็นห่วงว่า “ฉบับศรี” จะทำให้สตรีกัมพูชาตกอยู่ในห้วงวังวนแห่งความทุกข์ยากต่อไป ขณะที่สตรีในประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนามากกว่า กำลังก้าวไปข้างหน้าในศตวรรษที่ 21
กำลังโหลดความคิดเห็น