xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเชื่อ..ข้อมูลใหม่ "กูปรี"ที่แท้ก็แค่วัวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ข้อมูลใหม่จากการตรวจดีเอ็นเอได้พบว่า กูปรี (Kouprey) หรือ "โคไพร" สัตว์ประจำชาติของกัมพูชา "วัวป่า" ที่นักอนุรักษ์ นักล่าและนักเผชิญไพร ต่างแสวงหามานานกว่าครึ่งศตวรรษ แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงวัวบ้าน ที่หนีไปอาศัยอยู่ในป่าและแพร่ลูกแพร่หลานให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิดคิดว่า เป็นสายพันธุ์จำเพาะที่เกิดตามธรรมชาติ

นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ได้แถลงผลการค้นพบใหม่นี้ หลังการตรวจดีเอ็นเอจากหัวกะโลกของกูปรีจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศฝรั่งเศส แล้วพบว่าดีเอ็นเอของมันไปเหมือนกั[ดีเอ็นเอของวัวแดง (Banteng) ซึ่งเป็นวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใช้งานในกัมพูชามากที่สุด

รายงานได้อ้างการเปิดเผยของพยานที่ยังมีชีวิตอยู่หลายราย ซึ่งอ้างว่าได้พบเห็นชาวนาในบางท้องถิ่นของกัมพูชา เลี้ยงวัวที่มีลักษณะคล้ายกับกูปรีเอาไว้ใช้งาน รวมทั้งการเทียมคราดหรือไถในนาและไร่ข้าวของพวกเขาด้วย

กัมพูชาได้ประกาศในปี 2503 ให้กูปรี หรือ "วัวป่า" หรือ "โคไพร" ในภาษาเขมร เป็นสัตว์ประจำชาติแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยความงดงามทางสรีระของวัวชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาของพวกมันงามที่งอโค้งเข้าหากันเป็นรูปวงพระจันทร์

หลังจากทำการตรวจดีเอ็นเอแล้ว นักวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสท์เทอร์น (North-Western University) ในนครชิคาโก สรุปว่าเจ้ากูปรีนี้อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์จำเพาะ (Species) ที่เกิดตามธรรมชาติ หากแต่เป็นเพียงวัวพันธุ์ผสมที่เคยเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป แต่ภายหลังได้หนีไปอาศัยและแพร่พันธุ์ในป่า กลายเป็นวัวป่า
<CENTER><FONT color=#009933> ภาพถ่ายฝูงกูปรีที่หากินตามธรรมชาติในดินแดนกัมพูชาจากการสำรวจในปี 2500  </FONT></CENTER>
การวิจัยที่นำโดยนักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทอร์น ชื่อ แกรี่ เจ กาลเบรท (Gary J Galbreath) ได้เปรียบเทียบดีเอ็นเอของกูปรีกับของวัวแดงจำนวน 2 ตัว แล้วพบว่าแทบจะไม่แตกต่างกัน

"เราไม่แน่ใจนักว่าแท้จริงแล้วกูปรีมันคืออะไร แต่อย่างน้อยที่สุดเราได้เปิดเวทีสำหรับการวิจารณ์สำหรับเรื่องนี้ขึ้นแล้ว มันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังไม่เคยมีขึ้นเลยในช่วงราวๆ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา" นายคาลเบรทกล่าว

"เราได้ข้อสรุป 5-6 ข้อ แต่ที่เข้ากับข้อมูลที่เรามีอยู่มากที่สุดก็คือ กูปรีนั้นเป็นวัวบ้านที่ (หลบหนี) ไปอาศัยอยู่ในป่า แต่ไม่ว่ากูปรีจะเป็นอะไรก็ตาม เราเชื่อว่าไม่ว่ามันมีจำนวนเหลืออยู่น้อยเต็มที่" นักชีววิทยาคนเดียว กันกล่าว ในรายงานที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ สมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Geographic Society)

เรื่องราวอันน่าพิศวงของกูปรีดูเหมือนจะเริ่มขึ้นในราวปี 2488 พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเปรียบเทียบ (The Museum of Comparative Zoology) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเอาส่วนศีรษะของสิ่งที่เรียกในตอนนั้นว่า "วัวสายพันธุ์ใหม่" ขึ้นตั้งแสดง มันเป็นวัวเพศผู้น้ำหนักราว 1 ตัน ถูกล่าจากดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบันนี้

รายงานที่ปรากฏตามสื่อในสหรัฐฯ ในช่วงนั้นระบุว่า นี่คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบนับตั้งแต่ปี 2443

กูปรีมีชื่อเสียงโดเด่นมาก ในปี 2504 ก็เลยได้กลายเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชา และ แต่นั้นก็ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้มิให้สูญพันธุ์ไปจากโลก และในปี 2539 กูปรี ก็ถูกประกาศให้เป็นสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด
<CENTER><FONT color=#009933>  กะโหลกกับเขาของกูปรี ที่ถูกนำออกจำหน่ายในตลาดมือค้าสัตว์ป่าเป็นครั้งคราว ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่า สัตว์ชนิดนี้จะยังไม่สูญพันธุ์ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม (ภาพ: WWF) </FONT></CENTER>
นักวิทยาศาสตร์กับนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย นอร์ธเวสต์เทอร์น ได้เปรียบเทียบดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียล (Mitocondrial DNA) ซึ่งเป็นดีเอ็นเอชนิดหนึ่งที่สืบทอดได้จากตัวแม่เท่านั้น แล้วก็ได้พบว่า ผังดีเอ็นเอของกูปรีนั้นเหมือนกันกับของวัวแดง ซึ่งทำให้สรุปได้ว่า กูปรีมิใช่สัตว์ป่าสายพันธุ์ใหม่ตามธรรมชาติ

ในทางตรงข้ามกูปรีอาจจะเป็นเพียงลูกของวัวแดงสัตว์เลี้ยงตามบ้าน เป็นลูกผสมระหว่างวัวแดงกับวัวบ้านอีกพันธุ์หนึ่งที่มีเขายาว (Zebu) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เราไม่เคยรู้จักไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอของกูปรีมาก่อน.. ถ้าหากกูปรีเป็นลูกผสมพันธุ์พื้นบ้าน สิ่งที่เราสนใจก็คือจะต้องสืบค้นว่า บันเต็งมีอะไรคล้ายกับกูปรีหรือไม่ และก็เป็นอย่างที่เราคาดเอาไว้อย่างมั่นใจ วัวทั้งสองชนิดนี้มีทุกอย่างคล้ายกัน" นายคาลเบรทกล่าว

"เราได้พยากรณ์ความเหมือนทางด้านพันธุกรรมเอาไว้ล่วงหน้า มันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่คาดคิดมาก่อน และในที่สุดเราก็ได้พบว่าสิ่งที่เราคาดนั้นถูกต้อง"

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้นำรายงานการค้นพบตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่อยู่ในแวดวงแคบๆ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ชาวนาในกัมพูชาได้รายงานการพบเห็นชาวบ้านนำเอาวัวลูกครึ่งคล้ายกับวัวป่าออกไปใช้งานไถนาในนาข้าว วัวพวกนั้นอาจจะเป็นกูปรีซึ่งแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในป่า แต่ก็ยังมีความผูกพันและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ออกมาโต้แย้งว่า กาลเบรทกับคณะด่วนสรุปเกินไป เพราะการค้นพบของพวกเขาอาจจะมีคำอธิบายได้อีกหลายแนวทาง

"กูปรีอาจจะเป็นพันธุ์ลูกผสมโดยกำเนิด ที่เกิดจากพ่อวัวซีบูจริง นั่นก็จะเป็นเพียงคำอธิบายหนึ่งเท่านั้น อาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริงก็ได้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฮันส์ เลสตรา (hans Lestra) แห่งมหาวิทยาลัยอูเทร็ค (Utrecht University) ในเนเธอร์แลนด์ กล่าว ตอบโต้งานวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ที่ตีพิมพ์ในวารสารสัตววิทยา (Journal of Zoology)

งานเขียนชิ้นดังกล่าวได้ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อเรื่อง "วิชายีนส์วิทยาได้ช่วยไขความลี้ลับด้านสัตววิทยา" ซึ่ง ผศ.เลสตรากล่าวว่า ข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ไม่ค่อยจะตรงกับชื่อเรื่อง เนื่องจากความลี้ลับทางยีนส์วิทยาในเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกไขออกมาทั้งหมด

คณะนักวิจัยในสหรัฐฯ ยังไม่เคยได้วิจัยดีเอ็นเอของกูปรีอย่างละเอียดเลย รวมทั้งยังไม่ได้ตรวจดูการถ่ายทอดโครโมโซม-วาย (Y-chromosomal sequence) หรือ โครโมโซมเพศเมียของกูปรี เปรียบเทียบกับของวัวแดงและวัวเขายาวอันเป็นการถ่ายทอดระหว่างพ่อแม่และลูก ก่อนจะสรุปว่ากูปรีเป็นวัวบ้านที่หนีเตลิดเข้าไปอาศัยในป่า

อเล็กซานเดอร์ ฮัสซานิน (Alexander Hassanin) แห่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (National Museum of Natural History) ของฝรั่งเศส ก็ให้ความเห็นคล้ายกันว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ

นายฮัสซานินกำลังเขียนบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง ที่ระบุว่า ควรจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์วัวแดงในประเทศไทย ลาว พม่าและเวียดนามด้วย ก่อนจะหาข้อสรุปเกี่ยวกับฐานะของวัวแดงและกูปรี

ส่วนหัวหน้าทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ คือ นายคาลเบรท ยอมรับว่า ยังจะต้องมีข้อมูลอีกมากเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปสุดท้าย

ตามรายงานของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) นั้น การสำรวจหากูปรีอย่างจริงจังมีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2500 โดยการนำของนักสัตววิทยา ชาร์ลส วอร์ตัน (Charles Wharton) ที่ได้เข้าไปศึกษาและถ่ายภาพกูปรีในธรรมชาติ แต่นั้นมาก็แทบจะไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับสัตว์ชนิดอีกเมื่อกัมพูชาเข้าสู่ยุคสงคราม

จากนั้นมาก็มีแต่ข่าวลือเกี่ยวกับการพบเห็นที่ไม่สามารถยืนยันได้ แต่ก็มีผู้ถ่ายรูปหัวกะโหลกและเขาของกูปรีจากตลาดมืดค้าสัตว์ป่าอยู่เป็นระยะๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่า สัตว์ชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก

เชื่อกันว่าในปัจจุบันอาจจะยังมีกูปรีหลงเหลืออยู่ราว 250 ตัว ในป่าชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา อาจจะรวมทั้งเขตวนอุทธยานแห่งชาติในที่ราบภาคกลางของเวียดนามด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น