กรุงเทพฯ- ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กำลังจะนำคณะเจ้าหน้าที่ภาครัฐบาลและเอกชนเกือบ 1,000 คน ไปร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก ที่จะจัดขึ้นในกรุงฮานอยของเวียดนามในเดือน พ.ย.ศกนี้ ซึ่งจะเป็นการเยือนเวียดนามครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำสหรัฐฯ
ร่วมคณะของประธานาธิบดีบุช ประกอบด้วยนางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ อีกหลายนาย กับบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ฟอร์ดมอเตอร์ บริษัทโบอิ้ง เฟดเอ็กซ์ และอื่นๆ
ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้นับรวมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและบรรดาผู้สื่อข่าว ทั้งนี้เป็นร่ายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหย่ายฝอง (Saigon Giai Phong) หรือ "ไซ่ง่อนปลดปล่อย"
เมื่อเร็วๆ นี้นักธุรกิจ-อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ได้จัดตั้งกลุ่ม "พันธมิตรของผู้ประกอบการเอเปก-สหรัฐฯ" (Alliance of APEC-US Entrepreneurs) ขึ้นมา โดยมีนางเวอร์จิเนีย ฟูต (Virginia Foote) ประธานสภาหอการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ และ รองประธานบริหารสภาหอการค้าสหรัฐฯ-อาเซียน
กลุ่มพันธมิตรดังกล่าวได้เป็นผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่งสำหรับการประชุมสุดยอดทางธุรกิจเอเปก 2006 (APEC CEO Summit 2006) ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำของภาคธุรกิจเอกชนที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมของผู้นำเศรษฐกิจสมาชิก ในทุกครั้งที่มีการประชุมเอเปก
องค์กรสื่อระดับโลก รวมทั้งข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น นิตยสารฟอร์จูน และนิตยสารไทมส์ ต่างก็ได้เสนอตัวเข้าเป็นผู้สนับสนุนการประชุมสุดยอดของเหล่าซีอีโอเอเปกในครั้งนี้ด้วย
ในปีนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังจะจัดการประชุมหารือระหว่างผู้นำธุรกิจอเมริกันกับผู้นำธุรกิจในเวียดนามอีกวงหนึ่ง หนังสือพิมพ์ของทางการเวียดนามกล่าว
สื่อของทางการเวียดนามหลายสำนักได้รายงานในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยอ้างการเปิดเผยของนักการทูตว่า ประธานาธิบดีบุชจะเดินทางเข้าเวียดนามพร้อมด้วยฐานะการเป็นประเทศคู่ค้าปกติที่ถาวร (Permanent Normal Trade Relation) หรือ PNTR ที่คาดว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะอนุมัติผ่านในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ เป็นเสมือน "ของขวัญ" สำหรับเวียดนาม
สหรัฐฯ กับเวียดนามได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 11 ปีที่แล้ว อันเป็นการสิ้นสุดความบาดหมางยาวนานนับตั้งแต่สงครามเวียดนามได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2518
สองฝ่ายได้ค่อยๆ ปรับความสัมพันธ์ให้เข้าขั้นเป็นปกติ และในปี 2544 ก็ได้เซ็นความตกลงการค้าสองฝ่าย (Bilateral Trade Agreement) หรือ BTA ซึ่งทำให้เวียดนามได้รับฐานะ เป็นประเทศคู่ค้าปกติชั่วคราว (Normal Trade Relation) ซึ่งจะมีการพิจารณาต่ออายุทุกปี
ฐานะ PNTR จะทำให้เวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรอย่างมหาศาล ในการส่งสินค้าออกไปยังตลาดใหญ่สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสินค้าในหมวดที่ไม่มีการผลิตโดยผู้ผลิตในสหรัฐฯ
เวียดนามกำลังจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนหน้าที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปก ปี 2549 จึงเป็นขีดหมายที่สำคัญสำหรับเวียดนามในด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาครวมอยู่ด้วย.