ผู้จัดการรายวัน - เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและชลประทานพม่ายืนยันว่าการก่อสร้างเขื่อนทะมันตี (Htamanthi) จะดำเนินต่อไปถึงแม้จะถูกทักท้วงเขื่อนไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ซึ่งอยู่บนแนวร้าวของเปลือกโลกที่รู้จักกันในชื่อ "แนวร้าวสะกาย" หรือ Sagaing Fault อาจจะได้รับอันตรายจากการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงก็ตาม คาดว่าการออกแบบเขื่อนแห่งนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2550
เขื่อนทะมันตีกำลังจะเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประทศ ใหญ่โตกว่าเขื่อนเยวา (Yewa) และเขื่อนอื่นๆ ทั้งหมดที่กำลังจะสร้าง
นายอองนายวิน (Aung Naing Win) เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและประทานกล่าวว่า กระทรวงได้ร่างแบบการก่อสร้างเขื่อนไว้เรียบร้อยแล้ว และหวังว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า ภายใต้การดูแลจัดการของบริษัทโคเลนโค (Colenco) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมระหว่างประเทศ
เขื่อนทะมันตีจะสร้างกั้นลำน้ำชินวิน (Chindwin) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศบริเวณชายแดนติดกับอินเดีย โดยได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2548 และกำลังดำเนินไปภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงานไฟฟ้า 1 ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และทางน้ำไหล
"ตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ ติดตั้งเครื่องจักร และหาแหล่งชั้นหินที่จะใช้เป็นฐานก้นเขื่อน" นิตยสารข่าวรายสัปดาห์เมียนมาร์ไทมส์ อ้างคำกล่าวของนายอองนาย
เขื่อนแห่งใหม่นี้จะมีขนาดความยาว 2,350 ม. หรือกว่า 2 กิโลเมตร สูง 72 เมตร จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำครอบคลุมพื้นที่ 540 ตารางไมล์ เป็นเขื่อนที่มีศักยภาพสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 1,200 เมกกะวัตต์
โครงการนี้ยังรวมถึงการติดตั้งสายส่งกระแสไฟฟ้าคู่ขนาด 500 กิโลโวลต์ เป็นระยะทางกว่า 373 กม.สำหรับการแจกจ่ายไฟฟ้าจากเขื่อนไปเมืองมอนยอ (Monywa) ถึงแม้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะส่งจำหน่ายให้อินเดีย โครงการทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 7 ปี
ก่อนหน้านี้นักธรณีวิทยาที่มีชื่อเสียงตลอดจนองค์การที่ไม่สังกัดรัฐบาลหลายแห่งได้ออกเตือนทางการพม่าให้ล้มเลิกโครงการเขื่อนทะมันตี เนื่องจากแนวของแม่น้ำชินวินนั้นไหลไปตามแนวร้าวเปลือกโลกที่รู้จักกันในชื่อ "รอยร้าวสะกาย" ที่พาดแนวเหนือ-ใต้ขึ้นไปจากทางด้านตะวันตกของเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย
การเกิดแผ่นดินเลื่อนใต้ผืนสมุทรตามแนวร้าวสะกายนี้ได้ทำให้เกิดคลื่นสึนามีเคลื่อนเข้าซัดกระหน่ำชายฝั่งทะเลอันดามันและเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกา กินบริเวณกว้างขวาง และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
ข่าวคราวเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนทะมันตีได้เงียบหายไปเป็นเวลานานจนกระทั่ง สำนักข่าวอิรวดีรายงานในปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่าทางการพม่ากำลังบังคับให้ประชาชนในท้องถิ่นกว่า 30,000 คนอพยพย้ายออกไปจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำแต่เนิ่นๆ เป็นการ การเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างเขื่อนแห่งนี้
ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนทะมันตี (Tamanthi) กว่า 80% จะส่งจำหน่ายให้กับอินเดีย ซึ่งทางฝั่งนั้นของพรมแดนก็กำลังจะมีการขับไล่ผู้คนออกจากหมู่บ้านจำนวน 35 แห่ง ทั้งหมดเป็นชนชาติส่วนน้อยกูกิ (Kuki) ทั้งนี้เนื่องจากเขตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด 42,500 ไร่ ในโครงการก่อสร้างเขื่อน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่า และบริษัท พลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ จากอินเดีย ( India’s National Hydro-electric Power Corporation) ลงนามในบทบันทึกความเข้าใจร่วมกันก่อสร้าง และดำเนินการเขื่อนทะมันตี กั้นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองคำตี (Khamti)โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อใด หรือใช้งบประมาณเท่าใด
เขื่อนทะมันตีจะมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าเขื่อนไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในพม่าปัจจุบัน โดยมีขนาดใกล้เคียงกับเขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ใน สปป.ลาวด้วยงบประมาณมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากความวิตกกังวลว่าเขื่อนอาจจะพังทลายสักวันหนึ่งข้างหน้าหากเกิดแผ่นดินเคลื่อนตัวครั้งใหญ่ตามแนวร้าวสะกาย องค์กรอิสระ และนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงที่หนักหน่วงที่สุดในปัจจุบันก็คือ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนทั้งสองฝั่งระหว่างพม่า และอินเดีย รวมทั้งชนชาตินากา (Naga)
กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมต่างก็เตือนว่าโครงการพัฒนาเขื่อนดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบเสียหายต่อเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าหุบเขาฮูกอง (Hukaung) คุกคามการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อาทิเช่น เสือ เสือดาว และ ลิงพันธุ์หายากหลายชนิด
รัฐบาลทหารพม่ากำลังเร่งพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน โดยจะมีการสร้างเขื่อนหลายสิบแห่งทั่วประเทศในช่วงปีใกล้ๆ นี้ รวมทั้งเขื่อนสาละวิน (Salween) ในรัฐชาน แต่ในทางกลับกันเสียงต่อต้านเพื่อยับยั้งการก่อสร้างจากนักสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมก็มีเพิ่มมากขึ้นตามมาเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มอนุรักษ์ชนชาติกลุ่มน้อยและสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนผู้ลงทุนจากประเทศไทยถอนตัวออกจากการสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนสาละวินในพม่า โดยอ้างว่าเขื่อนใหญ่แห่งนั้นจะทำลายสภาพการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่
คำแถลงที่ออกใน จ.เชียงใหม่ของไทย ระบุว่าจะมีการรณรงค์ประท้วงที่บริเวณด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตไทยพร้อมกันในหลายประเทศ เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2549 นี้
"เราต้องการให้รัฐบาลและนักลงทุนไทยหยุดให้การสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อน ซึ่งจะถือเป็นการขับไล่ประชาชนของเราหลายพันคนต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเอง" คำแถลงระบุ ทั้งนี้เป็นรายงาของสำนักข่าวอิรวดี
ตามรายงานในหัวชื่อ "สัญญาณเตือน: ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแผนโครงการเขื่อนสาละวินในรัฐชานของพม่า" (Warning Signs: An Update on Plans to Dam the Salween in Burma’s Shan State) ซึ่งรวบรวมมาจากการสำรวจวิจัย และสัมภาษณ์ในพื้นที่ ระบุว่าเมื่อเขื่อนเสร็จสมบูรณ์จะทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมเป็นอาณาบริเวณกว้างครอบคลุม 870 ตร.กม. สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอีกจำนวนมาก
"สัญญาณนี้นับเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงน่าเป็นห่วงมาก" เกิดการบังคับใช้แรงงานและตัดไม้ทำลายป่า นางชามทอง (Charm Tong) หนึ่งในเครือข่ายกลุ่มสตรีรัฐชาน กล่าว
โครงการเขื่อนสาละวินนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อแล้วเสร็จทั้งโครงการจะมีศักยภาพผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,110 เมกกะวัตต์.