กรุงเทพฯ - มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Laos - NUOL) ได้จัดพิธีมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 6 (2548-2549) ในวันศุกร์ (25 ส.ค.) ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 3,464 คน โดยเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์มากที่สุด ส่วนสาขาที่มีผู้เรียนสำเร็จน้อยที่สุดคือ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์
บัณฑิตจำนวนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 5 และ 7 ปี ในหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ในนั้นเป็นสตรีจำนวน 1,229 คน
หลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การศึกษาภาษาต่างประเทศ ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งมีผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีนี้จำนวน 593 คน ในขณะที่น้อยที่สุดคือคณะสถาปัตยกรรมที่มีผู้สำเร็จหลักสูตรเพียง 29 คน
นอกจากนั้นก็เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จำนวน 98 คน คณะวิทยาศาสตร์ 92 คน ครุศาสตร์ 370 คน วนศาสตร์จำนวน 75 คน เกษตรศาสตร์ 56 คน วิศวกรรมศาสตร์ 242 คน คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจจำนวน 410 คน และคณะแพทย์ศาสตร์อีก 156 คน
ศ.สุกกองแสง ซะยะเลิด อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า บัณฑิตสามารถผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนานของหลักสูตรการศึกษาที่เคร่งครัด และจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
ในปีการศึกษา 2547-2548 มีนักศึกษาเรียนจบหลีกสูตรปริญญาตรีและประกาศนียบัตรชั้นสูง รวม 3,0687 คน เป็นหญิง 1,029 คน การมอบปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร มีขึ้นในเดือน ส.ค. 2548 ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่
การสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาของลาวสำหรับปีการศึกษา 2549-2550 นี้ จัดขึ้นในต้นเดือนที่ผ่านมา โดยใช้ข้อสอบฉบับเดียวกันรวม 4 วิชา ได้แก่ ภาษาลาว ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.)
ตามตัวเลขของประทรวงศึกษาธิการ ในปีนี้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชนสามารถรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อได้เพียง 25,000-26,000 คน ในนั้นมหาวิทยาลัยแห่งชาติทั้ง 3 วิทยาเขต สามารถรับนักเรียนเข้าเรียนต่อได้เพียง 6,000 คนเท่านั้น เป็นนักเรียนจากการสอบคัดเลือก 60% อีก 40% คัดเลือกในระบบโควตา
ในปีการศึกษาที่ผ่านมามีนักเรียนสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศอย่างน้อย 40,000 คน จึงทำให้มีนักเรียนกว่า 10,000 คนไม่มีที่ศึกษาต่อในระดับสูง ทางการต้องจัดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพให้ ขปล.กล่าว
ในระบบโควตานั้นเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนดี และได้รับเลือกจากแขวงต่างๆ เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องกลับไปประกอบอาชีพ และพัฒนาแขวงของตนเอง แต่นักเรียนที่ได้รับโควตาก็สามารถเข้าสอบเอ็นทรานซ์ได้ ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถเลือกเรียนในสาขาที่ต้องการมากกว่าได้
อย่างไรก็ตามนักเรียนที่ผ่านการสอบเอ็นทรานซ์จะไม่ได้ศึกษาที่วิทยาเขตดงโดก ในนครหลวงเวียงจันทน์ทั้งหมด บางส่วนจะต้องไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุพานุวง แขวงหลวงพระบาง และมหาวิทยาลัยจำปาสัก ทางภาคใต้ ในปีนี้มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในเวียงจันทน์จะสามารถรับนักศึกษาใหม่ได้ไม่เกิน 1,000 คนเท่านั้น ขปล.กล่าว.