xs
xsm
sm
md
lg

"บุญข้าวประดับดิน" สืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ของลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>ในเทศกาลงานบุญประจำปี บุญห่อข้าวประดับดิน ในเมืองหลวงพระบาง จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากท้องถิ่นอื่น ๆ ในลาว เนื่องจากในช่วงบ่ายจะมีกิจกรรมการแข่งเรือตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านมาร่วมแข่งขันกันเพื่อเป็นกิจกรรมเพื่อความสุนกสนานหลังจากการปักดำนาเสร็จสิ้น</FONT></CENTER>

เทศกาลงาน "บุญห่อข้าวประดับดิน" (Boun Ho Khao Pa Dab Din) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวลาวเป็นวันทำบุญแผ่กุศลแค่ผู้ที่ล่วงลับ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดช่วง ในประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้

เป็นวันที่ชาวลาวในท้องถิ่นต่างๆ จะไปรวมตัวกันที่วัดใกล้บ้าน เพื่อร่วมทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ และประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เทศกาลงานบุญนี้จะจัดขึ้นตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จัดเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีต

ในหลวงพระบางก็ไม่ต่างกับแขวงอื่นๆ ชาวเมืองพร้อมใจกันร่วมสืบสานตำนานงานบุญดังกล่าวนี้มาจนถึงปัจจุบัน บางคนเรียกว่า "บุญคืนเดือนดับ" แต่บางคนก็ชอบที่จะเรียกว่า "บุญคืนเดือนเต็ม" ซึ่งแล้วแต่ว่าจะดูดวงเดือนกันในช่วงไหน ช่วงหัวค่ำหรือย่ำรุ่ง

ย่ำรุ่งของวันงานซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 02.00 - 04.00 น. บรรดาพุทธศาสนิกชนก็จะไปที่วัดพร้อมด้วยอาหารคาว และขนมหวานที่เตรียมไว้ไปทำบุญและถวายแด่พระสงฆ์ที่วัดประจำท้องถิ่น และเชื้อเชิญให้ดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับผลบุญในครั้งนี้ด้วย

เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่ยึดถือและปฏิบัติกันเรื่อยมานานหลายศตวรรษ ในวันนี้ของทุกปีเหล่าฆราวาสต้องจัดเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อทำบุญส่งไปให้กับญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งดวงวิญาณอื่นๆ ที่ถูกทอดทิ้งให้ต้องทนทุกข์ทรมานชดใช้กรรมอยู่ในขุมนรก ที่พอถึงวันนี้จะได้รับการปลดปล่อยจากขุมนรกให้ขึ้นมารับส่วนบุญจากอาหารที่จัดถวายอยู่ตามวัดและบ้านเรือน

พิธีกรรมเหล่านี้มีปรากฏให้เห็นที่ทุกวัดในท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้ที่เลื่อมใส ศรัทธาต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่วันก่อน ซึ่งก็คือ "ห่อข้าว" ที่ใส่สิ่งของ 9 อย่างประกอบด้วย ผลไม้ ขนมหวาน ไก่ต้ม ดอกไม้ และอื่น ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น แล้วห่อด้วยข้าว จากนั้นก็ห่อหุ้มชั้นนอกสุดด้วยใบตอง

ชาวบ้านจะพากันออกจากบ้านเพื่อไปที่วัดตั้งแต่ราวๆ ตีสอง เมื่อถึงบริเวณวัดก็จะแยกย้ายกันนำห่อข้าวที่เตรียมไว้ไปถวายให้แก่ดวงวิญญาณ โดยนำไปวางไว้ตามกำแพงวัด สถูปเจดีย์ ธาตุบรรจุอัฐิ ใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือตามพื้นดิน จากนั้นก็ไปสักการะจากพระสงฆ์ และเชื้อเชิญดวงวิญญาณให้รับประทานอาหาร รับส่วนบุญเพื่อส่งเสริมให้ไปเกิดในภพใหม่หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปวัดได้ ก็จะนำห่อข้าวไปวางถวายไว้ตามรั้วบ้าน ต้นไม้ หรือจัดวางไว้ตามมุมบ้านทั้ง 4 ทิศ ชาวบ้านบางกลุ่มก็อาจเดินทางไปที่วัดสายหน่อยคือราวๆ 07.00 - 08.00 น. เพื่อนำสิ่งของไปถวายแด่พระสงฆ์โดยตรง ตามความเชื่อที่ต้องการให้ของถวายนั้นได้ไปถึงดวงวิญญาณของบุคคลนั้นๆ อย่างเจาะจง

ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ความงดงามของขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีให้เห็นกัน คือการแต่งกาย นุ่งถือ ด้วยเสื้อผ้าแบบพื้นเมืองการเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสงฆ์ สวดมนต์ไหว้พระ ซึมซับวิถีทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้เข้ากับชีวิตประจำวัน

เมื่อกิจกรรมต่างๆ เสร็จสิ้นลง ชาวบ้านก็จะเดินทางกลับบ้านด้วยจิตใจที่เบิกบานอิ่มบุญ ด้วยความเชื่อมั่นว่าญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วคงจะได้รับส่วนกุศลส่งผลให้ทั้งคนเป็น และคนตายอยู่อย่างสงบสุขร่มเย็น

สำหรับเมืองหลวงพระบาง นั้นบุญข้าวประดับดินดูจะมีสีสันเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ นั่นคือมีการจัดแข่งเรือด้วย

นายคำผุย พมมะวง หัวหน้าสำนักงานการท่องเที่ยวแขวงกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ทางโทรศัพท์จากหลวงพระบางว่าประเพณีบุญแข่งเรือที่นั่นแตกต่างออกไป เพราะจัดขึ้นในช่วงวันเทศกาลบุญห่อข้าวประดับดิน ไม่ใช่เทศกาลออกพรรษาเหมือนที่อื่นๆ

"งานบุญนี้เป็นประเพณีแข่งเรือของชาวหลวงพระบางนั้นมีมาแต่โบราณเก่าแก่ สอดคล้องกับหลักความเชื่อ ศรัทธาทางศาสนาพุทธ โดยจะมีการทำบุญตักบาตรข้าวปลาอาหารให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งจัดงานการแข่งเรือเพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างบ้านต่อบ้านภายหลังจากการเสร็จสิ้นหน้าที่ปักดำนาแล้ว และเป็นการเฉลิมฉลอง ม่วนซื่นของชาวบ้านด้วย" นายคำผุย กล่าว

แต่ละบ้าน หรืออาจจะเป็นบริษัท และหน่วยธุรกิจต่างๆ ในแขวงหลวงพระบางส่งทีมเข้าร่วมการแข่งเรือซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำคาน ที่ไหลผ่านตัวเมือง

แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 22 ส.ค. ทางแขวงจะจัดตลาดนัดขายสินค้า บนถนนสีสะหว่างวง เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมจับจ่ายไว้เพื่อพิธีทำบุญตักบาตรในงานบุญห่อข้าวประดับดินในช่วงเช้าด้วย

นายคำผุย กล่าวอีกว่า การแข่งเรือมีขึ้นในตอนบ่าย ปีนี้มีเรือเข้าร่วมประมาณ 15 ลำ เป็นประเภทเรือฝีพาย 45-50 คน ทั้งเป็นทีมตัวแทนจากบ้านต่างๆ และหน่วยธุรกิจในแขวงหลวงพระบาง ทีมชนะเลิศได้รับขันเงินแชมป์ พร้อมเงินรางวัลอีก 1 ล้าน กีบ ส่วนทีมที่เข้าร่วมทั้งหมดจะได้รับรางวัลชมเชยด้วย

"การจัดงานในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่นเพื่อสร้างความม่วนซื่น สนุกสนานให้แก่ชาวลาวแล้ว ยังเพื่อเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวหลวงพระบางให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ชื่นชมด้วย" หัวหน้าสำนักงานการท่องเที่ยวแขวงหลวงพระบาง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น