ตัวบึ้งซึ่งเป็นแมงมุมขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่งกำลังกลายเป็นอาหารยอดนิยมในกัมพูชา เมนูนี้ขายดิบขายดีมาก ยิ่งเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ชาวกัมพูชาต่างมุ่งหน้าไปยังแหล่งของอาหารจานพิเศษนี้ คือ ที่เมืองสะกุน (Skun) จ.กัมปงจาม (Kampong Cham) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไป 75 กิโลเมตร
แต่พ่อค้าแม่ขายที่นั่นบอกว่า เจ้าสินค้าพิเศษสุดชนิดนี้นับวันหายาก เนื่องจากมีนายทุนเข้าไปถางป่ารอบๆ ตัวเมืองกันมาก ทำให้เจ้าแมงมุมยักษ์ไม่มีถิ่นที่อยู่ ขณะที่ผู้คนนิยมรับประทานกันมากขึ้น
นักชิมบางรายกล่าวว่าไม่ว่าจะย่างหรือทอดกรอบ ตัวบึ้งก็มีรสชาติดีกว่าแฮมเบอร์เกอร์ หรือพวกฟาสท์ฟูดของตะวันตก
"เมื่อเทียบระหว่างเจ้าแมงมุมทอดกับแฮมเบอร์เกอร์แล้ว ก็มีความอร่อยแตกต่างกันไป แต่เมื่อทานแฮมเบอร์เกอร์มานานก็จะรู้สึกเบื่อ แต่กับเจ้าแมงมุมพวกนี้กลับไม่มีความรู้สึกนั้น" ติธ พัลลา (Tith Phalla) จากกรุงพนมเปญกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
"ชาวกัมพูชาหรือชาวต่างชาติบางคนอาจจะรู้สึกขยะแขยงเมื่อเห็นแมงมุมเหล่านี้ แต่สำหรับฉันแล้ว พวกมันดูน่ากินมากทีเดียว" หญิงสาววัย 26 ปี กล่าวพร้อมกับจ้องไปที่ถาดแมงมุมที่กองสูงกันเป็นร้อยๆ ตัว
พ่อค้าแม่ค้าจากทั่วกัมพูชาแห่ไปเมืองสะกุน ส่วนใหญ่จะไปซื้อตัวบึ้งที่ยังเป็นๆ ในขณะที่นักท่องเที่ยวมีจุดประสงค์ในการเดินทางเพื่อไปถ่ายรูปอาหารจานแปลกนี้ ซึ่งหลายคนทำท่าอ้าปากค้างด้วยความตกใจ
ผู้มีความรู้ความชำนาญกล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดในการรับประทานแมง 8 ขาชนิดนี้ คือ นำไปทอดให้กรอบเพื่อทำลายพิษในตัวเสียก่อน และอาจจะเพิ่มรสชาติด้วยการนำไปคลุกกระเทียมและเกลือก่อนได้
แต่คนขายในเมืองสะกุนกำลังวิตกกันว่า การทำลายป่ารอบๆ เมืองในตอนนี้ อาจจะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของตัวบึ้ง และเจ้าตัวประหลาดแต่รสชาติอร่อยนี้ก็จะหายไปด้วย
คนขายตัวบึ้งรายหนึ่งกล่าวว่า ก่อนหน้านี้จะขุดหาในป่ารอบๆ เมือง แต่ในตอนนี้ไม่มีโพรงเหลืออยู่แล้ว เพราะป่าถูกถางเตียนโล่งไปหมด เพื่อทำเป็นไร่มะม่วงหิมพานต์ ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ไปจาก จ.กำปงธม (Kampong Thom) และ จ.พระวิหาร (Preah Vihear)
"ตัวบึ้งเป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักเดินทาง แต่จำนวนในธรรมชาติก็ลดลงมากในแต่ละปี" คนขายรายเดียวกันกล่าวพร้อมทำเสียงถอนหายใจ เจ้าตัวกล่าวว่าในขณะนี้ราคาซื้อขายพุ่งขึ้นเป็นตัวละ 500 เรียล (ประมาณ 4 บาทเศษ) จากในช่วงต้นปีที่ขายกันเพียง 300 เรียล
นางแลมโสกเทือน (Lem Sok Thoeun) แม่ค้าวัย 40 ปี กล่าวว่า เธอสามารถหาเงินได้มากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวของเธอด้วยการขายตัวบึ้งนี้ แมงพวกนี้จับจากป่าตามธรรมชาติและไม่มีสารเคมีเจือปน เธอเริ่มธุรกิจนี้มาได้ 2 ปีแล้วและกำลังไปได้ดี
"ฉันสามารถขายตัวบึ้งได้ 200-300 ตัวต่อวัน และในวันที่ดีๆ หน่อย ฉันก็อาจจะขายได้มากกว่า 500 ตัวเลยด้วยซ้ำ" นางเทือนกล่าว
เชื่อกันว่าบึ้งได้กลายมาเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ในยุคที่เขมรแดงครองอำนาจ ซึ่งมีการขับไล่ประชาชนนับล้านออกจากตัวเมืองไปอยู่ในชนบท เพื่อนำเอาระบบสังคมบุพกาลไปใช้ในการพัฒนาตั้งแต่ระดับรากฐานคือ คอมมูน หรือ นิคมการเกษตร โดยพยายามทำลายระบบครอบครัว ล้มเลิกการศึกษา ศาสนา และ ระบบเงินตรา
ประชาชนมากกว่าล้านคน ถูกสังหาร เสียชีวิตลงจากความอดอยากและทำงานหนัก ในระหว่างช่วงปี 2518-2522 จนชาวกัมพูชาต้องหันไปพึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแมงมุมยักษ์ หนู หรือจิ้งจก เพื่อประทังชีวิตในยามหิวโหย
"เมื่อประชาชนหนีเข้าไปในป่า เพื่อหลบหนีออกจากกองกำลังเขมรแดง พวกเขาแทบไม่มีอะไรจะรับประทานกันเลย จนต้องจับแมงมุมยักษ์พวกนี้กินประทังชีวิต และพวกเขาก็พบว่าเจ้าแมงมุมพวกนี้มีรสชาติอร่อยเหมือนกัน" คนขายแมงมุม กล่าว
ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างแดนเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดก็จะต้องเดินทางแวะมายังเมืองสะกุนแห่งนี้ เพื่อซื้อหาเมนูเฉพาะถิ่นที่ถูกปากพวกเขา
"บางคนที่หนีเขมรแดงไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านพวกเขาไม่เคยลืมที่จะเดินทางมาเมืองสะกุนเพื่อซื้อตัวบึ้งไปรับประทาน" แม่ค้าที่ขายแมงมุมมานานกว่า 2 ปี กล่าว
สำหรับวัน นารี (Van Nary) วัย 56 ปี ที่เดินทางไปจาก จ.กำปงจาม ไม่ได้ไปที่สะกุนเพราะติดใจรสชาติเจ้าแมงมุมยักษ์ทอดกรอบเพียงอย่างเดียว แต่สรรพคุณทางยาของมันทำให้เธอต้องไปที่นั่นเป็นประจำ
"ฉันมักจะแวะมาที่เมืองนี้ เพื่อซื้อตัวบึ้งย่างเพราะเจ้าแมงมุมพวกนี้อร่อยมาก และพวกมันยังช่วยรักษาอาการเจ็บคอ ปวดหลังและปอดของฉันด้วย" นางนารีกล่าว พร้อมทั้งคว้าแมงมุมเข้าปากเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย.
(เขียนขึ้นใหม่จากรายงานเรื่อง Cambodian spider sellers worry the tasty treat may soon disappear โดย Suy Se สำนักข่าวเอเอฟพี)