xs
xsm
sm
md
lg

‘พีรพล ตริยะเกษม’ ผู้อยู่เบื้องหลังสัมพันธ์สองชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>พีรพล ตริยะเกษม ผู้อยู่เบื้องหลังในการสานสายสัมพันธ์ไทย-เวียดนามมาตั้งแต่ต้น</FONT></CENTER>

บทส่งท้ายในการเล่าเรื่องราวการเดินทางมาเยือนเวียดนามของคณะสื่อมวลชนไทยและมูลนิธิวิชาการ 14 ตุลา ในวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม อยากจะกล่าวถึง พีรพล ตริยะเกษม บุคคลผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังท่ามกลางผู้คนอีกหลากหลายที่ร่วมสร้างสรรค์มิตรภาพระหว่างสองชาติ

พีรพล มีส่วนร่วมสร้างสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งอาศัยพื้นฐานจากการที่เขาเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เมื่อปี พ.ศ. 2516 ช่วงที่ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นอธิการบดี ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ขณะนั้นขบวนการนักศึกษามีอิทธิพลต่อสังคมค่อนข้างมาก และบทบาทและการเรียนรู้ของนักศึกษาก็ไม่ได้จำกัดแคบๆ อยู่เพียงแต่เพียงภายในประเทศเท่านั้น พวกเขาสนใจใฝ่รู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของชาติมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา จีน ฯลฯ ผ่านกิจกรรมการจัดนิทรรศการให้ความรู้ต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเปิดม่านไม้ไผ่สู่โลกภายนอกด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มีการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตจีน-สหรัฐฯ

พีรพล เล่าว่า แรกทีเดียวเขาได้รู้จักกับผู้แทนของเวียดนามเหนือ (ตอนนั้นเวียดนามถูกแบ่งเป็นเหนือ-ใต้) ที่จังหวัดอุดรธานี ด้วยการแนะนำให้รู้จักของไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม ผู้แทนเวียดนามบอกกับเขาว่าอยากเปิดสัมพันธ์กับไทย ตัวเขาเองซึ่งมีความความสัมพันธ์อยู่กับทั้งรัฐบาลและทหาร คือ พล.อ.กฤษ สีวะรา ก็ได้คิดหาหนทางทำให้เป็นจริง

การติดต่อได้ดำเนินอย่างจริงจังหลังจากที่เวียดนามได้รวมประเทศในปี 2519 แล้ว โดยฝ่ายเวียดนามได้ประสานงานเข้ามา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายทหาร และ การดำเนินเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเกิดขึ้นในปีนั้น สมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

บวร ยะสินธร หนึ่งในแกนนำขบวนการนักศึกษา ซึ่งเวลานั้นเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ช่วยงานอยู่กับ พิชัย รัตกุล รัฐมนตรีต่างประเทศ และมีส่วนร่วมในคณะเจรจาเปิดสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า ช่วงที่เดินทางไปเวียดนามเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนก่อนนำไปสู่การเปิดเจรจาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการนั้น คณะของรัฐมนตรีพิชัย ต้องไปต่อเครื่องบินที่ลาว เพราะเครื่องบินที่บินตรงจากไทยไปเวียดนามยังไม่มี และเครื่องบินที่ลาวเกิดล่าช้า หิวตาลายมาถึงโรงแรมที่เวียดนามเขาก็เก็บข้าวปลาอาหารหมดแล้ว พนักงานเขาจึงทำเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) ให้รับประทานกันคนละถ้วยแทน

“ตอนนั้น ถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างหนักว่าเราก้มพนมกรให้กับเวียดนาม แต่เรามองระยะยาวว่าต้องเปิดความสัมพันธ์ต่อกัน เวลานั้นสภาพบ้านเมืองของเวียดนามเด็กหนุ่มๆ ถือปืนกันทั่วเมือง ไม่เจริญอย่างที่เห็นทุกวันนี้” บวร เล่าย้อนความหลัง

การเปิดสัมพันธ์ระหว่างไทย–เวียดนาม แท้จริงแล้วจึงเริ่มต้นจากกลุ่มขบวนการนักศึกษา ซึ่งถือเป็นภาคประชาชนก่อนจะต่อยอดไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ และกระทั่งปีนี้บทบาทนำยังเป็นภาคประชาชนเช่นเคย เพราะวาระครบรอบสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ในปีนี้ ไม่ปรากฏว่าฝ่ายรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศ จัดกิจกรรมใดๆ มีแต่เพียงคณะของภาคประชาชนเท่านั้นที่เดินทางไปกระชับมิตรภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามตึงเครียดอย่างมากหลังจากที่เวียดนามบุกและยึดครองกัมพูชาในปี 2521-2531 และไทยถือว่าเวียดนามเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง ตลอดสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะต่อต้านเวียดนาม

พีรพลซึ่งเป็นประธานมูลนิธิวิชาการ 14 ตุลา ในเวลานี้ ยังเล่าว่า อีกครั้งหนึ่งที่ตัวเขามีโอกาสเข้าไปมีส่วนช่วยปรับระดับความสัมพันธ์ที่มีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างไทย–เวียดนาม หลังเวียดนามถอนทหารจากกัมพูชา ในคราวนั้น ช่วงแรกๆ เขาแค่ตั้งใจไปเที่ยวเวียดนามเพราะไม่ได้ไปเยือนนานแล้วเท่านั้นเองและพานายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในขณะนั้นไปด้วย เพราะเวลานั้นประมงไทยที่เข้ามาจับปลาในเวียดนามมีปัญหามาก เรือประมงไทยถูกจับเพราะรุกล้ำเขตน่านน้ำหรือจับปลานอกเขตสัมปทาน ฯลฯ ซึ่งคณะของเขาได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

ในเวลาเดียวกันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของเวียดนาม ก็ให้เกียรติเชิญไปรับประทานอาหารและแจ้งว่าขอให้เรียนรัฐบาลไทยว่าเวียดนามต้องการปรับระดับความสัมพันธ์กับไทยให้อยู่ในขั้นปกติ

พีรพล จึงเข้าๆ ออกๆ เวียดนามอยู่ระยะหนึ่งถึง ปี พ.ศ. 2531 เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้าแทน พล.อ.เปรม และมีนโยบายเปิดสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งเวลานั้นถือเป็นนโยบายที่กล้าหาญมาก เนื่องจากระดับความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านช่วงก่อนนั้นตกต่ำสุดขีด มีแต่ความตึงเครียดและความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

เมื่อสนามรบจะเปลี่ยนเป็นสนามการค้า พีรพล และ “3 ศักดิ์” คือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พร้อมด้วย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็จับเข่าทำการบ้านร่วมกันว่าจะปรับความสัมพันธ์กับเวียดนามอย่างไรดี พล.อ.ชาติชาย ได้ส่ง นายพิชัย ซึ่งตอนนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเวียดนาม เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง

จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่ นายพิชัย ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับช่วงสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามทั้งสองครั้งสองครา และโดยที่พีรพล มีส่วนร่วมทั้งสองครั้งสองคราอีกเช่นกัน

เมื่อความสัมพันธ์กลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว การค้าและการลุงทุนก็เริ่มสะพัดขึ้นอย่างมาก และนับจากนั้นเป็นต้นมา พีรพล ก็ถูกเรียกขานว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์แห่งอินโดจีน การเจรจาความเมือง หรือธุรกิจกับเวียดนาม มักมีเขาอยู่เบื้องหลังเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทุนไทยหรือทุนต่างประเทศ

ปัจจุบัน พีรพล เป็นที่ปรึกษาของบริษัทยักษ์ใหญ่โฮเดอร์แบงก์ หรือ โฮลซิม ของสวิสเซอร์แลนด์ ที่ลงทุนทำโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคเหนือของเวียดนาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น