xs
xsm
sm
md
lg

18 ปีเหตุการณ์ '8888' เผด็จการทหารก็ยังลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>หญิงสาวผู้ชุมนุมในกรุงธากา บังคลาเทศ ร้องตะโกน พร้อมชูรูปถ่ายผู้เสียชีวิต และการปราบปรามของทหารในเหตุการณ์ที่ประชาชนพม่าเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 ส.ค.1988 หรือเหตุการณ์นองเลือด 8888 เมื่อวันจันทร์ (7 ส.ค.) เพียงหนึ่งวันก่อนถึงวันครบรอบ 18 ปี</FONT></CENTER>

วันที่ 8 เดือน 8 (ส.ค.) ปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) สำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า นับเป็นวันที่มีความหมายอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นวันที่ประชาชนพม่าที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย ถูกรัฐบาลทมหรปราบปรามอย่างนองเลือด มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน อีกนับพันๆ ต้องหลบหนีออกลี้ภัยนอกประเทศ

จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 18 ปี แล้ว แต่ระบอบประชาธิปไตยในพม่าก็ไม่ได้พัฒนาไปไหน ผู้นำในการต่อสู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยในประเทศได้ถูกกักบริเวณให้อยู่ในบ้านพักเป็นเวลาประมาณ 11 ปี ตลอดช่วงเวลา 17 ปีมานี้

เมื่อย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์พม่า ภายหลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษประเทศนี้ยังไม่เคยสงบสุขจริงๆ เลยสักครั้ง

พม่าได้ประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2491 และได้ประกาศจัดตั้ง "สหภาพพม่า" ขึ้นมาโดยมี อูนุ (U Nu) ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล แต่เศรษฐกิจที่ตกต่ำ และขาดเสถียรภาพทางการเมืองเป็นผลทำให้เกิดรัฐบาลรักษาการณ์ ต่อมาในเดือนมี.ค. 2505 นายพลเนวิน (General Newin) นำคณะทหารทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากอูนุ

ในช่วง 26 ปีที่รัฐบาลของนายพลเนวินยึดอำนาจและปกครองประเทศในนามพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) หรือที่เรียกขานกันว่า "ระบอบเนวิน" นำพาประเทศไปสู่การตกต่ำถึงขีดสุดทั้งเศรษฐกิจและการเมือง จนประชาชนมิอาจทนได้ต่อไป

ปัจจัยที่ก่อตัวสั่งสมความไม่พอใจของประชาชนพม่านั้นเกิดจากการปกครองอย่างเผด็จการกดขี่ของฝ่ายทหาร นายพลเนวินประกาศยุบพรรคการเมืองอื่นๆ ให้เหลือ "พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า" หรือ BSPP เพียงพรรคเดียว

ต่อมาได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่ผู้ประท้วงถูกตอบโต้ ปราบปรามอย่างหนัก โดยรัฐบาลได้สั่งยิงกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุม และระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และสั่งปิดมหาวิทยาลัย

รัฐบาลได้ประกาศเลิกใช้ธนบัตรหลายราคาในช่วงปี 2507, 2510 และ 2528 โดยไม่มีการชดเชยให้กับประชาชนคนทั่วไป ซึ่งได้สั่งสมความไม่พอใจมาตลอด

ต่อมาในวันที่ 16 มี.ค. 2531 กลุ่มนักศึกษาได้ชุมนุมประท้วง เผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณสะพานขาว (White Bridge) ริมทะเลสาบอินยา (Inya Lake) ในกรุงย่างกุ้ง ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ทำร้ายและยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาหลายคนถูกจับกดน้ำตายในทะเลสาบ

วันรุ่งขึ้นกองกำลังทหารและตำรวจปราบจลาจล ติดอาวุธครบมือบุกมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง จับกุมนักศึกษาจำนวนหลายร้อยคน ในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุม นักศึกษาจำนวน 41 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในรถตำรวจที่เป็นพาหนะในการขนย้าย แต่เรื่องนี้ถูกปิดเงียบ กว่าจะถูกเปิดเผยก็อีกหลายเดือนต่อมา

วันที่ 15 มิ.ย.2531 รัฐบาลทหารส่งกองกำลังตำรวจและทหารเข้าสลายการชุมนุมในเขตมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ทำให้การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายรัฐบาลใช้วิธีการโหดร้ายปราบปรามผู้ชุมนุม โดยการขับรถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วสูงเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วง พร้อมทั้งยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การออกมาร่วมกับนักศึกษาต่อต้านรัฐบาล
<CENTER><FONT color=#3366FF>นางออง ซาน ซู จี ที่ยังคงถูกขังอยู่ภายในบ้านพักมานานกว่า 10 ปี ในระยะ 17 ปีที่ผ่านมานี้ </FONT></CENTER>
เหตุการณ์ก็ได้ลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทางการสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ห้ามการชุมนุมประท้วง การปราศรัย ประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงย่างกุ้งทั้งหมด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมในเมืองอื่นๆ ของพม่า

รัฐบาลทหารถูกกดดันให้ต้องออกมายอมรับเรื่องการเสียชีวิตของนักศึกษา 41 คน ส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นนายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า และได้ลงมติให้นายพลเส่งลวิน ขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทน

ในวันที่ 27 ก.ค.2531 เส่ง ลวิน ขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า นำไปสู่ความขัดแย้งภายใน เนื่องจากเส่ง ลวินไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

3 สิงหาคม 1988 2531 เส่ง ลวินประกากฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วง แต่ไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจของสาธารณชนได้ นักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้อง ให้ขับไล่เส่ง ลวิน ให้พ้นจากตำแหน่ง ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชน และคืนเสรีภาพแก่ประชาชน

ผู้ชุมนุมได้ประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศคือวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ซึ่งประชาชนต่างขานรับและออกจากบ้านพร้อมกัน เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังกึกก้องขึ้นว่า "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น"

กลางดึกของคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงเข้าไปในฝูงชน

ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นเกือบหมื่น ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์"

อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นแล้วบทบาททางด้านการปกครองก็ยังคงตกอยู่ในมือของกลุ่มทหาร มีการแต่งตั้งผู้นำพลเรือนขึ้นเป็นหุ่นเชิด

12 ส.ค.2531 เส่ง ลวิน ลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาล และ ดร.หม่อง หม่อง อดีตผู้พิพากษาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า

18 ก.ย.1988 กลุ่มทหารนำโดยนายพลซอหม่อง (Saw Maung) ยึดอำนาจการปกครอง ประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สมาชิกของคณะปฏิวัติ ประกอบด้วยนายทหารระดับนำจำนวน 21 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผู้ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน

ต่อมาบทบาทของผู้นำประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซู จี ก็ปรากฏขึ้น เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2531 โดยเข้าร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National League of Democracy - NLD) และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2533 พรรคเอ็น แอล ดี ชนะแบบถล่มทลาย ได้ 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง โดยที่พรรค National Unity Party ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้เพียง 10 ที่นั่ง แต่ฝ่ายทหารไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ผู้ชนะ

23 เม.ย. 2535 นายพลซอหม่อง อ้างปัญหาสุขภาพลาออกจากตำแหน่งประธาน SLORC อย่างกะทันหัน โดยมีนายพลตาน ฉ่วย (Than Shwe) ขึ้นรับตำแหน่งแทน ตาน ฉ่วย เป็น 1 ใน 21 สมาชิกของคณะปฏิวัติ และเป็นนายทหารมือขวาของ ซอหม่อง

ต่อมาในเดือน พ.ย. 2540 SLORC ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (The State Peace and Development Council - SPDC) โดยมีนายพลตาน ฉ่วย เป็นผู้นำสูงสุดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน แต่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกและยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ว่ากำลังจะมีการปฏิรูปอะไรขึ้นในประเทศนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น