ผู้จัดการรายวัน- ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดระหว่างประเทศของบริษัทโบอิ้ง (Boeing Co) แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า บริษัทของเขาได้ช่วยเหลือเวียดนามล็อบบี้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ มาตลอด เพื่อให้รัฐสภาผ่านร่างรัฐบัญญัติที่ให้ฐานะประเทศคู่ค้าปรกติถาวร (Permanent Normal Trade Relation- PNTR) แก่เวียดนามในสมัยประชุมนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เวียดนามสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ในช่วงปลายปี
ผู้แทนของโบอิ้งยังกล่าวอีกว่า บริษัทฯ สร้างเครื่องบินของเขากำลังหาทางขยับขยายการลงทุนเข้าไปผลิตชิ้นส่วนบางอย่างในเวียดนาม ซึ่งจะช่วยการจ้างงานในประเทศนี้ด้วย
"ข้าพเจ้าเชื่อว่าตอนนี้การสนับสนุนให้ PNTR กับเวียดนามสูงมีมาก ไม่ใช่แค่โบอิ้งเท่านั้น มีอีกหลายบริษัทรวมทั้งผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ต่างสนับสนุนเรื่องนี้และเราได้เร่งให้รัฐสภาลงมติผ่านอย่างรวดเร็ว โบอิ้งเชื่อในนโยบายการค้าเปิด การค้าจะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับการค้าขายทั่วไปและโดยเฉพาะฝ่ายการบิน การให้ PNTR กับเวียดนามเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและมิตรภาพระหว่างสองประเทศ" นายคริส ฟลิ้นต์ (Chris Flint) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ลาวด่อง (Lao Dong) หรือ "แรงงาน" รายวันในวันพุธ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา
นายฟลิ้นต์ระบุดังกล่าวหลังจากนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้อนุมัติให้สายการบินเวียดนาม จัดทำแผนซื้อเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุดคือ โบอิ้ง 787 เพิ่มอีกจำนวน 10 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขยายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมทั่วโลก
ที่ผ่านมาเวียดนามได้สั่งซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 787 (หรือ 7E7) "ดรีมลายเนอร์" ไปแล้วจำนวน 4 ลำ กับเครื่องบินแอร์บัส A321S อีกจำนวน 10 ลำ และกำลังรอการส่งมอบ.
นายกรัฐมนตรีเวียดนามยังได้สั่งการให้สายการบินแห่งชาติหาทางเช่าเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777-200ER อีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้สามารถบินเชื่อมสหรัฐฯ ได้โดยเร็วภายในปลายปีนี้ หรือ ช้าที่สุดก็ไม่เกินต้นปีหน้า
นายฟลิ้นต์กล่าวอีกว่า ตัวเขาเองและบริษัทโบอิ้งกำลังเฝ้าดูการพัฒนาของเวียดนามและเชื่อว่าเวียดนามมีศักยภาพที่สูงมากในการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว "เป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคนและ มีความรู้ ความขยัน ในเชิงภูมิศาสตร์เป็นที่ยอดเยี่ยมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเชื่อว่าเวียดนามจะเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชีย"
"เราอยากเปิดบริษัทผลิตชิ้นส่วนย่อยของเครื่องบินในเวียดนาม เราสนับสนุนให้เอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในเวียดนาม เริ่มต้นเราได้ทำการฝึกอบรมเพื่อจะให้ทรัพยากรมนุษย์มีความรู้และมีทักษะในการทำงานเพื่อสามารถทำงานที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ได้และเราก็เห็นว่ามีโอกาสดีที่เวียดนาม" นายฟลิ้นต์กล่าว
นายฟานวันข่าย (Phan Van Khai) อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นการเมื่อปีที่แล้ว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทโบอิ้งที่เมืองซีแอตเติ้ล และได้เชื้อเชิญโบอิ้งให้ไปลงทุนในเวียดนามด้วย
ในปัจจุบันมีชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามกำลังทำงานที่บริษัทโบอิ้งราว 2,000 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 180,000 คน โดยชาวเวียดนามส่วนใหญ่เป็นวิศวกร นอกจากนั้นอีกหลายคนเป็นหัวหน้างานด้านบัญชี รวมทั้งฝ่ายเทคนิค ซึ่งล้วนมีความสามารถสูงนายฟลิ้นต์กล่าว
ผู้บริหารของบริษัทโบอิ้งกล่าวอีกว่า ในขณะนี้กำลังเตรียมการในขั้นตอนสุด เพื่อให้สายการบินเวียดนามสามารถบินเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ในต้นปี 2550 เนื่องจากเครื่องโบอิ้ง 777-200ER ก็สามารถใช้บินได้โดยแวะที่นครซานฟรานซิสโกก่อนจะต่อไปยังปลายทางอื่นๆ ซึ่งโบอิ้งกำลังมีส่วนช่วยเวียดนามพิจารณา
ผู้อำนวยการฝ่ายขายฯ ของโบอิ้งเชื่อว่า ในช่วงปี 2552-2563 สายการบินเวียดนามอาจจะต้องการเครื่อง 787 อีกถึง 15 ลำ จึงจะเพียงพอกับการขยายกิจการในขณะที่ประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคและในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการอนุมัติให้สายการบินแห่งชาติทำแผนจัดซื้อเครื่องโบอิ้ง 787 ในวันจันทร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเติ๋นยวุ๋งก็ยังเปิดทางให้เวียดนามแอร์ไลน์ สามารถพิจารณาเครื่องบินโดยสารแอร์บัส A350s เป็นทางเลือกได้อีกด้วย ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการเวียดนาม
เวียดนามแอร์ไลน์กำลังจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมอีกรวม 15 ลำ ในนั้นจะเป็นเครื่องแบบ ATR42 จำนวน 5 ลำเพื่อขยายเส้นทางการบินในประเทศ ส่วนอีก 10 ลำจะเป็นเครื่องบินระยะไกล ซึ่งในปัจจุบันสายการบินนี้มีเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200ER อยู่เพียง 4 ลำ ที่สามารถบินไปยังยุโรปได้ ทั้งหมดเป็นเครื่องบินเช่า ส่วน อีก 6 ลำที่ซื้อเองนั้น ไม่สามารถบินระยะไกลได้ เพราะติดเครื่องยนต์ไม่ตรงตามจุดประสงค์.