ปราสาทหินวัดพู (Wat Phou) จำปาสักเป็นสถาปัตยกรรมศิลป์ที่เก่าแก่ ตั้งบนภูเก้า (Phoukao) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจำปาสัก ภาคใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันพนักงานรัฐในท้องถิ่นกำลังดำพัฒนาบริวเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี
ที่ผ่านมาโบราณสถานนี้ต่างก็ได้รับความสนใจ และมีโอกาสเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศทั้งจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ไทย จีน และญี่ปุ่น แต่กระนั้นก็ยังเป็นการยากที่คนจำนวนมากจะมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมได้ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้สถานที่นี้มีความพิเศษ คุ้มค่าในความพยายามที่จะเดินทางเข้าไปสัมผัส
วัดพู วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแขวงจำปาสัก ได้ถูกรับรองเป็นมรดกโลกแห่งที่สอง ในลาว เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2544 เป็นต้นมา และทางกระทรวงแถลงข่าว และวัฒนธรรม ได้ร่วมกันกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญสากล จัดทำแผนการและร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเรียบร้อยเรื่อยมา
ในระยะ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2548 - 2549 (ต.ค.2548 - มิ.ย.2549) มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนวัดพูแล้วกว่า 40,000 คน ทำรายได้แล้วกว่า 900 ล้านกีบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วที่มีเพียง 38,000 คน
สถานที่สำคัญที่น่าสนใจแห่งหนึ่งก็คือ ภูเขาสูงกว่า 1,150 ม. ที่เด่นตระหง่านทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า บรรยากาศบนยอดภูช่างแสนสดชื่น อากาศเย็นสบายกำลังดี สามารถมองเห็นมาถึงประเทศไทย โอบล้อมด้วยต้นไม้หายากอายุกว่า 1,000 ปี พันธุ์พืชและสัตว์ป่านานาชนิด
ปราสาทหินวัดพู แสดงศิลปะที่สะท้อนความเชื่อตามศาสนาฮินดู ที่บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ และมนุษย์ โดยมียอดภูเขาสูงเป็นแกนกลาง และมีวัดที่ล้อมรอบด้วยสระน้ำ พร้อมแท่นบูชา ซึ่งอยู่ในระยะเวลาเดียวกันกับอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมร
สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่12สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน เพื่อใช้เป็นสถานที่บูชาเทพเจ้าและประกอบพิธีทางศาสนาตามลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาลาวได้รับพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศ (ราว ๆ คริสตวรรษที่ 13) เทวสถานแห่งนี้จึงเปลี่ยนเป็นวัดทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท
เป็นศาสนสถานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของอายธรรมบนที่ราบลุ่มริมน้ำโขงในแขวงจําปาสัก และถือเป็นรากฐานสําคัญที่แสดงให้เห็นการก่อร่างสร้างตัวมีพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม และรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณะแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสังคมบุพกาลที่ดําเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายสู่สังคมแห่งอารยธรรมที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-18
ในสมัยโบราณได้ปรับใช้ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ให้ตอบสนองต่อแนวความคิดทางศาสนาโดยเปรียบให้ยอดภูเก้าที่เรียกว่า ลึงคปรวต (Lingaparvata) อันเป็นที่สถิตแห่งองค์ศิวะเทพหรือสัญลักษณะแห่งบุรุษเพศ แม่น้ำโขงก็เปรียบได้กับแม่น้ำคงคา (Ganges River) ส่วนศาสนสถานทางฝั่ง ซ้ายตรงตําแหน่งปลายอีกด้านของแกน เป็นศาสนสถานแห่งพระรุทรานีอันเป็นศักติของพระอิศวรก็เปรียบเป็นศาสนสถานแห่งอิตถีเพศ ที่ราบลุ่มระหว่างภูเก้าและน้ำโขง อันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ
วัฒนธรรมแห่งนี้ จึงเป็นการแสดง ออกให้เห็นอัจฉริยะภาพของการสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อจักรวาลทัศน์และตํานานความเชื่อในลัทธิไศวนิกายแห่งศาสนาฮินดู รวมไปถึงการประยุกต์เอาแนวคิดดั้งเดิมของภูมิภาคที่เคารพต่อภูเขาและแม่น้ำด้วย นอกจากการวางผังเมืองแล้ว การวางผังกลุ่มอาคารศาสนสถานวัดพูก็ยังมีความสําคัญเนื่องจากเป็นการวางผังศาสนสถานในลักษณะศาสนบรรพตที่เป็นแม่แบบให้แก่ศาสนสถานแห่งอื่นๆ
ศาสนสถานแห่งนี้จะมีงานประเพณีประจำปีมีชื่อเสียงโด่งดังมากจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (วันเพ็ญเดือนสาม) เป็นเวลา 3 วัน ภายในงานมีการละเล่นการบันเทิงการออกร้านขายของขายอาหาร และการแข่งขันต่างๆ เช่น เรือพาย ชนไก่ ชกมวย ฯลฯ เป็นงานรื่นเริงสนุกสนานมากว่างานทำบุญทางศาสนา