xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียช่วยกัมพูชาฟื้นฟูบูรณะปราสาทตาพรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทตาพรม เป็นปราสาทอีกหลังหนึ่งในกัมพูชาที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปเยี่ยมชม นอกจากนั้นปราสาทหลังนี้ ยังเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่องทูมเรเดอร์ (Tomb Raider) อีกด้วย


กรุงเทพฯ- หลังจากประสบความสำเร็จในโครงการบูรณะองค์ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา สถาบันสำรวจทางโบราณคดีประเทศอินเดีย (ASI) ได้เตรียมดำเนินการที่จะทำการบูรณะปราสาทสำคัญอีกหลังหนึ่ง ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 ในเขตปราสาทเมืองพระนครและพระนครใหญ่ (นครวัด-นครธม) แห่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากเนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่น้อยกว่า 100 ต้นขึ้นปกคลุมไปทั่ว

ปราสาทตาพรม สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 เพื่ออุทิศถวายแด่พระมารดา และยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระอารามหลวงในศาสนาพุทธ ปราสาทแห่งนี้มีความโดดเด่นตรงที่มีต้นไม้ขนาดยักษ์ หรือต้นสะปง ขึ้นปกคลุมทั่วปราสาท ไม่ว่าจะเป็นผนัง หลังคา หรือยอดปรางค์ของตัวปราสาทก็ตาม ทำให้โครงสร้างของปราสาทยังคงรูปร่างอยู่

กระบวนการในการศึกษาของสถาบัน ASI ในโครงการบูรณะที่ท้าทายนี้ ได้เปิดเผยขึ้นในวันจันทร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา ในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันของการประชุม ที่จัดขึ้นโดยรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นางอำพิกา สุนี (Ambika Soni) ให้กับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชาลาย โปรฮาส (Lay Prohas)

รมว.กระทรวงท่องเที่ยวได้ย้ำถึงความจำเป็นในการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และยังได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาเป็นอีกประเทศปลายทางของการท่องเที่ยวของอินเดียด้วย รัฐมนตรีกัมพูชายังได้แสดงความปรารถนาที่จะดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนของอินเดียเข้ากัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว

ทุกปี จะมีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียราว 3,000 คน เดินทางไปเที่ยวชมประเทศกัมพูชา ในขณะที่ชาวกัมพูชาประมาณ 600 คน เดินทางไปเที่ยวยังประเทศอินเดีย

โครงการบูรณะปราสาทตาพรมนี้ มีหน่วยงานเฉพาะหลายหน่วยงานได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือสถาบัน ASI ในการปฏิบัติงานศึกษาการบูรณะเบื้องต้น

"งานบูรณะปราสาทตาพรม นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอยู่มากเหมือนกัน เนื่องจากต้นไม้ขนาดใหญ่กว่า 150 ต้นที่ขึ้นอยู่รอบบริเวณตัวปราสาทนี้ รวมทั้งต้นที่เติบโตครอบคลุมโครงสร้างปราสาทด้วย รากของต้นไม้ได้แทรกผ่านเข้าไปตามตัวปราสาท และผนัง หลังคาโค้ง และปรางค์ ทำให้การบูรณะจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบอย่างมาก" กระทรวงการท่องเที่ยวระบุในเอกสารฉบับหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น