กรุงเทพฯ - คณะกรรมการคุ้มครองทรัพย์สินบริเวณ เจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) ในกรุงย่างกุ้ง ได้เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการแต่งกายของสตรีอย่างเข้มงวดกวดขันมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป โดยมีการระบุเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเคารพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
เสื้อผ้าที่คณะกรรมการระบุไว้ว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมาะสมได้แก่ กางเกง กระโปรงสั้น เสื้อซีทรู เสื้อคอลึก เสื้อกล้าม และเสื้อไม่มีแขนอื่น ๆ
ตามรายงานของนิตยสารข่าว Weekly Eleven มีป้ายประกาศระบุไว้ชัดเจนบริเวณประตูทางเข้า ร้องขอให้บรรดาสตรีทั้งหลายที่ต้องการเข้าสักการะเจดีย์ชเวดากองแต่งกายให้สุภาพ ซึ่งทางพนักงานดูแลบริเวณทางเข้าได้รับคำสั่งให้ดำเนินการควบคุม ดูแลให้เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าวในทันที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.เป็นต้นไป ในการสกัดกั้นสตรีที่แต่งกายไม่เหมาะสมเข้าบริเวณเจดีย์ได้
เจดีย์ชเวดากองนี้เป็นเจดีย์คู่เมืองพม่า และเป็นเลื่อมใส บูชาของชาวพม่า และพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น
พนักงานรักษาความปลอดภัยจะเตือนให้สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่ทางคณะกรรมการได้จัดเตรียมไว้ให้ยืมเสียก่อน ถ้าผู้ใดไม่ยอมปฏิบัติตามก็จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณเจดีย์เด็ดขาด เพราะคณะกรรมการเห็นว่าการแต่งกายเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการไม่ไปรบกวนสมาธิของผู้เลื่อมใสศรัทธาขณะแสดงการสักการะ
ทางการได้พบว่าปัญหา เรื่องการแต่งกายนี้เกิดจากการที่นักท่องเที่ยวมักจะไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ก่อนจะไปยังเจดีย์เวกากอง เช่น สวนสาธารณะกันดอจี (Kandawgyi Park) สวนสัตว์ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีกฎข้อห้ามเรื่องการแต่งกายที่เข้มงวด เมื่อไปถึงชเวดากองซึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง สตรีส่วนใหญ่จึงแต่งกายในสภาพที่ไม่เรียบร้อยนัก
ตามตำนาน เจดีย์ชเวดากองนั้น แต่เดิมชื่อ เจดีย์พระเกศธาตุเมืองตะเกิง สร้างเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างปี คริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 10 สร้างโดยชาวมอญ ตามตำนานนั้นเริ่มจากว่า มีสองพี่น้องพ่อค้าชาวเมืองตะเกิง (ย่างกุ้ง) 2 คน ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาทั้งสองจึงขอถวายตัวเป็นอุบาสกในพุทธศาสนา
ครั้นเมื่อต้องกราบลากลับเมืองทั้งสองจึงทูลขอพระราชทานสิ่งของเพื่อเอาไปไว้บูชา พระองค์จึงประทานพระเกษามา 8 เส้น ให้ทั้งสองนำกลับไปที่เมืองตะเกิง สร้างสถูปประดิษฐานไว้บนยอดเนินขนานนามว่า เจดีย์พระเกศธาตุเมืองตะเกิง
แต่เดิมได้เรียกขานกันว่า "พระธาตุศกแห่งเนินบ้านตะเกิง" มาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหงสาวดีกษัตริย์แห่งรามัญ ซึ่งทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระเกศธาตุองค์นี้มาก มีการบูรณปฏิสังขรณ์จนมีรูปแบบของเจดีย์มอญที่กลายเป็นต้นแบบเจดีย์ไปทั่วพม่า และยังเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรมอญ ก่อนที่มอญจะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่า
ครั้งเวลาผ่านมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์คองบอง จึงได้มีการเปลี่ยนนามเมืองตะเกิงเป็น "ย่างกุ้ง" ซึ่งมีความหมายว่า "สิ้นสงคราม" ปัจจุบันได้กลายมาเป็นเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon) "ชเว" แปลว่า ทอง ส่วน "ดากอง" สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "ตะเกิง" นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นเพียงพระเกศธาตุองค์เล็ก ๆ แต่ต่อมาจึงมีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ทับให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คติดังกล่าวนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของกษัตริย์มอญ และพม่า กลายเป็นราชประเพณีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เพื่อแผ่บุญบารมีให้ยิ่งขึ้นไป การรบ หรือสงครามชิงชัยระหว่างพม่า - มอญ แต่เมื่อฝ่ายใดมีชัยชนะ ก็จะต้องสร้างเสริมบารมีด้วยการบำรุงพระพุทธศาสนา หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเคยทำการขุดเจาะพระเจดีย์ชเวดากองเข้าไปสำรวจภายใน ก็พบว่าภายในขององค์พระเจดีย์ชเวดากองมีการสร้างเจดีย์ครอบทับรอยเดิมถึง 7 ครั้ง ซึ่งถ้าดูจากหลักฐานพงศาวดารพม่าเดิมระบุไว้ว่าเจดีย์นี้สูงเพียง 5 วา 1 คืบ (7 - 10 ม. เท่านั้น) จนถึงครั้งสุดท้ายพระเจ้าอลองพญา หรือพระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะ (พ.ศ.2295 - 2303) ก่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 111 ม. ทั้งยังมีแผ่นทองประดับรอบองค์พระเจดีย์อีกจำนวน 8,000 แผ่น แต่ละแผ่นกว้างยาวเป็นฟุต ๆ การกระทำเช่นนี้จะมีขึ้นทุกครั้งหลังจากพม่าชนะสงคราม
รูปแบบที่เป็นปัจจุบันนั้นได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์โดยรัฐบาลทหารพม่า มีมหาเจดีย์ทองคำตั้งเด่นตระหง่าน เปล่งประกายอยู่ตรงกลาง บนยอดสุดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด โดยเฉพาะชั้นข้างบนสุดมีเพชรเม็ดใหญ่อยู่ 72 กระรัต และทับทิม 2,317 เม็ด รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กอยู่ราบรอบอีกนับร้อย ๆ องค์
คราวนี้ใครจะไปเยี่ยมชม หรือไปนมัสการพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้อีก.