เจ้าหน้าที่ขององค์กร Wildlife At Risk ได้พบลิงลมสีน้ำตาล (Nycticebus bengalensis) บนเกาะฟู๊ก๊วก จ.เกียนยาง (Kien Giang) ของเวียดนาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเชื่อว่าจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนามชนิดนี้อยู่บนเกาะในอ่าวไทย ทางภาคใต้ของประเทศ และเคยพบแต่ในจังหวัดภาคกลาง
นายเหวียนหวูเขย (Nguyen Vu Khoi) ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร Wildlife At Risk กล่าวว่า การสำรวจสัตว์ป่าบนเกาะฟู๊ก๊วกเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2548 จนถึงเดือน เม.ย. 2549 นี้ ซึ่งองค์กรได้พบสัตว์หลากหลายชนิดบนเกาะฟู๊ก๊วก และเป็นครั้งแรกที่สัตว์เหล่านี้ถูกระบุว่ามีชีวิตอาศัยอยู่บนเกาะในทะเลอ่าวไทยของเวียดนาม ก่อนหน้านี้ในเอกสารทางวิทยาศาสตร์ได้บันทึกเพียงแค่ว่า สามารถพบสัตว์เหล่านี้ได้ตามบริเวณแนวชายแดนของ จ.เถื่อเทียนเหว (Thua Thien Hue) ภาคกลางของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ ครอบครัวชาวนาบนเกาะฟู๊ก๊วกจับนางอายได้ 3 ตัว ในสวนของพวกเขา โดย 2 ตัวแรกถูกจับเมื่อเดือน ต.ค. 2548 และอีกตัวหนึ่งในเดือน ธ.ค. 2548 โดยสัตว์ทั้งหมดได้เข้าไปในสวนเพื่อกินขนุนและมะม่วงหิมพานต์ที่ครอบครัวนี้ปลูกเอาไว้
นางอายแคระทั้ง 2 ตัว มีขนาดยาวประมาณ 37 ซม. ขนหนาสีน้ำตาลอ่อน และมีเส้นสีน้ำตาลเข้มพาดตามแนวสันหลัง ส่วนตัวปรกติมีขนาดโตกว่า
ตามที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ระบุไว้ นางอายคู่แรกเป็นลิงลมแคระส่วนอีกหนึ่งตัวเป็นขนาดปกติ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากบนเกาะฟู๊ก๊วก พวกมันมักจะปรากฎตัวตามถนนหรือริมชายป่า ในเวลากลางคืนหลังจากหมดฤดูฝน
ครอบครัวที่จับลิงลมได้นั้น ได้ปล่อยพวกมันคืนสู่ป่าให้เป็นอิสระตามเดิม โดยในเวียดนามนั้น ลิงลมเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า และถูกระบุอยู่ในหนังสือ Vietnam Red Book ด้วย.