กรุงเทพฯ - สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) ในพม่าได้ดำเนินการสำรวจประชากรโลมาในบริเวณหมู่บ้านแห่งต่าง ๆ ใกล้กับชายหาดหม่องมะกัน (Maung-ma-gan) ในเขตตะนาวศรีพบว่ามีโลมาจำนวนมากที่ถูกจับนำออกขายตามตลาดท้องถิ่น เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหาร โดยในจำนวนนั้นมีโลมาอิรวดีที่ใกล้สูญพันธุ์รวมอยู่ด้วย
นายทิ้นทุน (U Tint Tun) นักชีววิทยาทางทะเล หัวหน้าทีมที่ใช้เวลาสำรวจนานประมาณ 1 เดือน และได้เสร็จสิ้นไปเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ามีโลมาประมาณ 30 ตัวต่อเดือน หรือสูงสุดถึง 7 ตัวต่อวันถูกนำออกจำหน่ายที่ตลาดในหมู่บ้านม่องมะกัน ใกล้กับเมืองทวาย (Dawei) ในขนาดที่แตกต่างกัน บางตัวมีขนาดลำตัวยาวกว่า 5 ฟุต ขายทั้งแบบเนื้อสด และตากแห้ง
"เราพบว่าปลาโลมาถูกจับขึ้นมาด้วยวิธีที่แตกต่างกันหลายทาง ทั้งยิงด้วยฉมวกและดักจับด้วยตาข่าย" นายทิ้นทุน กล่าว พร้อมอธิบายว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพันธุ์นี้สามารถจับได้ง่ายในหลายพื้นที่ไม่ไกลจากชายฝั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นโลมาปากขวด (Indo-pacific bottlenose) หรือโลมาหลังโหนก (Indo-pacific humpback) ซ้ำร้ายจากการสำรวจยังพบว่ามีการจับโลมาอิรวดีพันธุ์หายากออกขายด้วย
นายทิ้นทุน แสดงความเป็นห่วงว่าเรื่องของการล่าโลมาเพื่อจำหน่ายและเป็นอาหารรับประทานตามร้านอาหารต่างๆ จะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น "ผมเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าเนื้อโลมาอาจกลายไปเป็นหนึ่งในรายการอาหารจานเด็ดตามโรงแรมหรู" ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์
การสำรวจในครั้งนี้มีขึ้นหลังการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าโลมาของชาวประมงในเมืองมะริด (Myeik) เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ตลาดในเมืองมะริดยังไม่มีการขายเนื้อโลมาเหมือนกับตลาดในเมืองหม่องมะกัน
"การขายโลมาเพื่อเป็นอาหารจะทำให้พวกมันดำรงชีวิตอยู่ได้ยากมากขึ้น แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ขยายลงไปตามแนวชายฝั่งเขตตะนาวศรี" นานทิ้นทุน กล่าว
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามชายฝั่งในเขตตะนาวศรีพบว่าโลมาค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากความตั้งใจของชาวประมงที่ไล่บ่าเพื่อนำออกขาย แต่ก็มีบ่อยครั้งที่โลมามักบังเอิญติดร่างแหดักจับปลามาด้วย ทำให้ในปัจจุบันโลมาหายากมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับโลมาอิรวดีเป็นโลมาสายพันธุ์น้ำจืด เป็นโลมาพันธุ์ท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีชุกชุมในแม่น้ำอิรวดีของพม่า แม่น้ำโขงตั้งแต่ภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเรียกว่า “ปลาข่า” และยังพบมากในกัมพูชา ลงไปจนถึงภาคใต้เวียดนาม
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ที่เชื่องและเป็นมิตรกับมนุษย์ทำให้ถูกล่าได้ง่ายจึงกลายเป็นสัตว์อนุรักษ์ในประเทศแถบนี้ แต่การสำรวจในลาวกับกัมพูชาเมื่อปี 2547 พบว่า ในลำน้ำโขงของ 2 ประเทศนี้ มีประชากรโลมาอิรวดีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยตัว.