กรุงเทพฯ- กระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ได้เริ่มใช้วิธีการขอวีซ่าเข้าประเทศแบบออนไลน์แล้ว นักท่องเที่ยวเพียงแต่เข้าเว็บไซต์ของกระทรวงฯ และกรอกแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่าออนไลน์ (e-Visa) และ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมด้วยบัตรเครดิตผ่านระบบออนไลน์
การขอวีซ่าออนไลน์ทำให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องไปยืนเข้าแถวเพื่อรอกรอกรายละเอียดแบบฟอร์มขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลกัมพูชาที่ประเทศต้นทางต่างๆ อีกต่อไป ประหยัดทั้งเวลาและค่าเดินทาง โดยจะใช้เวลาในการอนุมัติเพียง 3 วัน เท่านั้น
นักท่องเที่ยวทุกคนรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยด้วย จะต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้ากัมพูชา ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียนบางประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และลาว ที่ไม่ต้องใช้วีซ่า
อย่างไรก็ตามอี-วีซ่าของกัมพูชานี้ใช้สำหรับการเดินทางเพียงเที่ยวเดียวหรือเข้าออกได้ครั้งเดียว มีอายุการใช้งาน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออก และนักท่องเที่ยวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชาได้ถึง 30 วัน โดยสามารถยื่นคำขอต่ออายุได้อีก
สามารถใช้ได้กับด่านที่ท่าอากาศยานนานาชาติโปเจินตง กรุงพนมเปญ และสนามบินนานาชาติเสียมราฐ โดยนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำวีซ่าออนไลน์ เป็นจำนวน 25 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านบัตรเครดิตของวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด อย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับหนังสือเดินทางต้องมีอายุใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องใช้รูปถ่ายจากหนังสือเดินทางของตนเอง ในรูปแบบไฟล์ JPEG หรือ PNG เพื่อขออี-วีซ่า ทั้งนี้เป็นรายงานของเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาฯ http://evisa.mfaic.gov.kh/index.php?version=eng
รัฐบาลกัมพูชาได้ทำความตกลงยกเว้นวีซ่ากับรัฐบาลประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนด้วยกันจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีความตกลงนี้กับประเทศไทย ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ทำความตกลงยกเว้นวีซ่าให้กับนักการทูตและข้าราชการทั้งสองฝ่าย ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปยังต้องใช้วีซ่า ซึ่งอาจจะขอทางออนไลน์เช่นกรณีนี้ หรือ ไปยื่นขอที่ท่าอากาศยานนานาชาติ (Visa on Arrival) ทั้งสองแห่งก็ได้
อย่างไรก็ตามไทยกับกัมพูชาได้ตกลงมีความร่วมมือในโครงการ "ขอวีซ่าครั้งเดียวเที่ยวทั้งภูมิภาค" โดยให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ที่ขอวีซ่าเพื่อเดินทางท่องเที่ยวกัมพูชาหรือประเทศไทยแล้ว สามารถเดินทางต่อไปยังอีกประเทศหนึ่งได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก
ไทยกับกัมพูชากล่าวว่า ความร่วมมือนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับอนุภูมิภาค กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS โดยหวังว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ จะดำเนินการตาม.