ผู้จัดการรายวัน- กรุงเทพฯ ได้เปิดเผยโฉมตัวเองบนอินเทอร์เน็ตในฐานะเป็นแหล่งใหญ่จำหน่ายโบราณวัตถุจากกัมพูชา ซึ่งในปัจจุบันบริษัทในประเทศไทยแห่งหนึ่งกำลังนำสร้อยลูกปัดสีสันสวยงาม ยุคก่อนนครวัดร่วม 20 รายการ ออกประกาศประมูลทางอีเบย์ (eBay.com) แข่งกับโบราณวัตถุชิ้นใหญ่ ที่บริษัทของประเทศอื่นๆ นำออกขาย
รัฐบาลกัมพูชากับหน่วยงานพิทักษ์โบราณวัตถุของเอกชนได้พยายามอย่างยิ่งในการป้องกันการลักลอบขุดค้นโบราณสถานต่างๆ ซึ่งเป็นการทำลายหลักฐานอันล้ำค่าในการศึกษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อาศัยในดินแดนกัมพูชาก่อนยุคเมืองพระนคร (Angkor) แต่ทุกฝ่ายก็ยังจนปัญญาที่จะนำเอาวัตถุล้ำค่าทางโบราณคดีเหล่านั้นกลับคืนประเทศ
สินค้าโบราณวัตถุจากกัมพูชาชิ้นล่าสุดที่บริษัทมอนซูนอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด (Monsoon International Co Ltd) นำขึ้นประมูลบนอีเบย์ รวมทั้งลูกปัดแก้วเม็ดเหลี่ยมหลากสี กับลูกปัดแก้วเม็ดกลมสีแดงสดใส ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 29 และ 235 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
บริษัทมอนซูน ซึ่งระบุว่าเป็นสมาชิกของ สมาคมผู้ค้าอัญมณีแห่งประเทศไทย บอกแต่เพียงว่าสินค้าทั้งหมดเป็นของเก่าแก่จากกัมพูชา
ลูกปัด 2 ชิ้นนี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งใน 19 รายการที่บริษัทในประเทศไทยนำขึ้นประมูลบนอินเตอร์เน็ต ด้วยราคาที่ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ความสมบูรณ์ของโบราณวัตถุ ตลอดจนความเก่าแก่ด้วย ระยะเวลาการประมูลสร้อยลูกปัดบางชิ้นกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พ.ค.นี้
มอนซูนกล่าวว่าสร้อยคอลูกแก้วและหินหลากสีมีอายุเก่าแก่ระหว่าง ค.ศ.100-300 ซึ่งเป็นอารยธรรมยุคอาณาจักฟูนัน (Funan Period) ในกัมพูชา หรือ กว่า 2,000 ปีมาแล้ว ทั้งหมดเป็นหลักฐานที่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ต่างแสวงหาเพื่อประกอบการศึกษาชีวิตและสังคมของผู้คนในยุคนั้น
บริษัทได้นำลูกปัดแก้วและหินมาร้อยเข้าด้วยกันใหม่รวมความยาว 58 เซ็นติเมตร รวมน้ำหนักเพียง 3.8 กรัม แต่ทั้งหมดเป็นของเก่าแก่ ยกเว้นเพียงเชือกที่ใช้ร้อยเท่านั้นที่เป็นของในยุคใหม่ และลูกปัดทั้งหมดถูกนำไปทำความสะอาดโดยไม่มีการซ่อมแซม บางชิ้นจึงมีรอยขรุขระตามกาลเวลา แต่บางชิ้นก็ยังมีมูลดินจากแหล่งเก่าของมันติดฝังอยู่
ในขณะที่หน่วยงานเฮอริเทจวอทช์ (Heritage Watch) เชื่อว่า ทั้งหมดไปจากหลุมฝังศพโบราณใน จ.บ้านใต้มีชัย หรือ “บันเตียเมียนเจย” (Banteay Meanchey) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ที่แหล่งโบราณสถานต่างๆ ถูกขุดคุ้ยมากที่สุดในระยะไม่กี่ปีมานี้
แต่สร้อยลูกปัดบางชิ้นก็มีความเก่าแก่จากคริสต์ศตวรรษที่ 12 หรือประมาณ 900 ปีมาแล้ว ซึ่งร่วมยุคเมืองพระนครหรือนครวัด (Angkorian) โดยบริษัทมอนซูนกล่าวว่าโบราณวัตถุเหล่านี้รับรองเป็นของแท้แน่นอน และผู้ซื้อสามารถขอเงินคืนได้หากพบในภายหลังว่าไม่ใช่ของแท้อันเก่าแก่จากยุคเขมรโบราณ
"ลูกปัดถูกร้อยเอาไว้ด้วยกันอย่างคร่าวๆ เชือกที่ใช้ร้อยเป็นวัสดุใหม่ ลูกปัดเป็นของแท้ 100% มีความสวยงาม และยังมีรอยคราบแต่ยุคโบราณติดอยู่" บริษัทมอนซูนประกาศข้อความนี้บนอีเบย์
บริษัทมอนซูนเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายบริษัทของไทยและต่างประเทศ ที่ต่างก็อ้างว่ามีสาขาอยู่ในประเทศไทยด้วย รวมทั้งบริษัทพูเลา (Pulao) ที่ระบุสัญชาติสิงคโปร์ แต่มีสำนักงานประจำในกรุงเทพฯ บริษัทนี้กำลังนำเอาโบราณวัตถุชิ้นโตพวกเทวรูปต่างๆ ทั้งยุคก่อนนครวัดและยุคร่วมสมัยกับนครวัด ออกประกาศประมูลบนอีเบย์ ราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยดอลลาร์จนถึง 7,000 ดอลลาร์
เทวรูปหินทรายชิ้นหนึ่งที่บริษัทปูเลาได้นำขึ้นประมูลอยู่ในขณะนี้มีมูลค่าเริ่มต้นกว่า 4,600 ดอลลาร์ และมีผู้ยื่นการประกวดราคาไปแล้วกว่า 10 ราย
การซื้อขายโบราณวัตถุเหล่านี้ในปัจจุบันผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนๆ เพียงแต่ใช้เมาท์คลิ๊ก ส่งตัวเลขราคาที่เสนอสู้ เมื่อสิ้นสุดการประมูลอีเบย์ก็จะประกาศผู้ชนะการประมูล และมีการจ่ายเงินทางเพย์พาล (Pay Pal) ซึ่งเป็นระบบจ่ายเงินอีเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง
มอนซูนซึ่งอ้างตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจำหน่ายอัญมณีหลากชนิดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ได้ประกาศขายโบราณวัตถุต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ http://stores.ebay.com/MONSOON-Collection ของบริษัท ซึ่งในบรรดาผู้ใช้บริการมาแล้วเกือบ 1,000 ราย ต่างโหวตให้คะแนนในความเชื่อถือได้ และ การนำส่งสินค้าที่รวดเร็วของบริษัทฯ ที่ผ่านทางบริการเฟดเดอรัล เอ็กซ์เพรส หรือ"เฟดเอ็กซ์" (FedEx)
แต่ทางการกัมพูชาและหน่วยงานพิทักษ์มรดกโบราณไม่ได้ชื่นชมกับธุรกิจของบริษัทค้าของเหล่านี้ และกำลังหาทางนำเอาโบราณวัตถุศิลปวัตถุกลับถิ่นฐานเดิมในประเทศ
นางลินเซย์ คัลลาฮาน (Lyndsey Callahan) เจ้าหน้าที่ของเฮอริเทจวอทช์ให้สัมภาษณ์สื่อในกัมพูชาเมื่อต้นปีนี้ว่า มีโบราณวัตถุชิ้นใหญ่น้อยจากกัมพูชาอย่างน้อย 69 ชิ้นถูกนำขึ้นประกาศขายโดยวิธีประมูลทางอีเบย์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" เนื่องจากยังมีการลักลอบซื้อขายอย่างลับๆ อีกนับร้อยๆ รายการ การซื้อขายบางครั้งกระทำกันในกรุงพนมเปญด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม "บางชิ้นมองปราดก็รู้ว่า เป็นของปลอมทำเลียนของเก่า แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะเป็นการยากที่จะมองวัตถุพวกนั้นผ่านภาพดิจิตอลภาพเล็กๆ" นางคัลลาฮานกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นของแท้เก่าแก่จากยุคโบราณ ก็ยังเป็นการยากที่จะนำกลับกัมพูชา เนื่องจากกฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้การส่งโบราณวัตถุกลับสู่ที่เดิมเป็นไปได้ลำบากมาก
เจ้าหน้าที่ของเฮอริเทจวอทช์กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาการลักลอบขุดคุ้ยหาสมบัติเก่าแก่ในกัมพูชา เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากเนื่องจากประชาชนยากจนและต้องหาเช้ากินค่ำ ขณะที่ตลาดมีความต้องการอย่างสูงแต่ชาวกัมพูชาที่ลักลอบขุดสมบัติล้ำค่าได้รับส่วนแย่งเพียงน้อยนิด หากเทียบกับพ่อค้าคนกลางและผู้รับซื้อรายใหญ่ในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่ขององค์การยูเนสโกบางคนก็เห็นทำนองเดียวเดียวกัน โดยอธิบายว่าโบราณวัตถุที่มีการประกาศขายในขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกลักลอบออกไปจากกัมพูชาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายโบราณวัตถุในประเทศนี้ ทำให้โอกาสที่จะได้กลับคืนนั้นลางเลือน
นางทามาร่า เทนีสวิลล์ (Tamara Teneishville) เจ้าหน้าที่ยูเนสโกคนดังกล่าวระบุว่า หนทางที่รัฐบาลกัมพูชาจะนำโบราณวัตถุกลับคืนประเทศได้ก็คือ ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งใช้การสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย.