xs
xsm
sm
md
lg

'น้ำงึม 2' โปรเจ็กท์ 3 หมื่นล้าน ‘ช.การช่าง’ ฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กรุงเทพฯ- โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ใน สปป.ลาวของกลุ่ม ช.การช่างจากไทย เดินหน้า เมื่อธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซ์ซิมแบงก์ (Export-Import Bank of Thailand) กับรัฐบาลลาวได้ลงนามในความตกลงเงินกู้จำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,300 ล้านบาทเศษ) ในวันอาทิตย์ (21 พ.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นหุ้นส่วนของรัฐบาลลาวในโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในแขวงเวียงจันทน์ อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศลาวและไทย

โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังติดตั้ง 615 เมกกะวัตต์ (MW) มูลค่าการก่อสร้าง 832 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยมีบริษัท เซ้าท์อีสท์ เอเชีย เอเนอร์จี จำกัด (South East Asia Energy Company - SEAN) ที่นำโดย ช.การช่าง เป็นผู้ถือหุ้น 75% ที่เหลืออีก 25% ถือโดยรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

พิธีลงนามจัดขึ้นที่ โรงแรมลาวพลาซา นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีนายจันสี โพสีคำ รมว.กระทรวงการเงิน เป็นผู้แทนรัฐบาลลาว และ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร และ รักษาการกรรมการผู้จัดธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนฝ่ายไทยร่วมลงนามในข้อตกลง ซึ่งมีนายอ่อนเนื้อ พมมะจัน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมลาว อุปทูตไทยประจำลาว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)จากไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เซ้าท์อีสท์ เอเชีย เอเนอร์จี กลุ่มนี้ได้ลงนามในข้อตกลงสัมปทานโครงการไฟฟ้าน้ำงึม 2 กับรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทาน 32 ปีนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ระยะเวลาทดสอบระบบของโรงไฟฟ้า 2 ปี และระยะส่งพลังงานไฟฟ้าข้ามประเทศให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) เป็นเวลา 25 ปี

ไฟฟ้าท่าผลิตได้จากเขื่อนน้ำงึม 2 จำนวนหนึ่งจะกระจายนำไปใช้ภายใน สปป.ลาว ในโครงการขยายระบบไฟฟ้าออกสู่ชนบท ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ “ประชาชน” รายวัน ของศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมลาวมีแผนการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้ารวม 23 แห่ง และโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านลิกไนต์อีก 2 โครงการ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกภายในปี ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกในนั้นมี 17 โครงการ จัดอยู่ในโครงการเร่งด่วน และมี 4 โครงการที่มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 ได้แก่ เขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนเซกะหมาน 3 เขื่อนน้ำเทินเทินหินบูนส่วนต่อขยาย เขื่อนน้ำงึม 2 และเขื่อนน้ำโม ซึ่งมีกำลังติดตั้งรวมทั้งหมด 2,400 เมกะวัตต์

โครงการอีกส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการก่อสร้าง เช่น โครงการเขื่อนน้ำงึม 3 โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เขื่อนน้ำเงียบ 1 เขื่อนน้ำเทิน 1 เขื่อนเซกะหมาน 1 รวมทั้งกำลังหาข้อสรุปโครงการเขื่อนน้ำอู 8 และโครงการเขื่อนน้ำทา 1 ด้วย

ทางการลาวยังมีโครงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเชื่อมต่อกับบรรดาประเทศใกล้เคียง เนื่องจากลาวตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของอนุภูมิภาค การพัฒนาระบบสายส่งแห่งชาติ เชื่อมต่อระบบสายส่งอนุภูมิภาค และอาเซียน จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

ในปัจจุบันไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อกระแสไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อปี 2540 ได้มีการลงนามขอซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวรวม 3,000 เมกะวัตต์ระหว่างปีนั้นจนถึงสิ้นปี 2549 ต่อมาไทยได้แสดงเจตจำนงจะขอซื้อกระแสไฟฟ้าจากเพิ่มขึ้นเป็น 5,000-6,000 เมกะวัตต์ โดยมีการประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับความตกลงระหว่างผู้แทนรัฐบาลทั้งสองประเทศในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยได้ตกลงซื้อไฟฟ้าจาก 6 โครงการของลาว คือ เขื่อนน้ำงึม 2 และ 3 น้ำเงียบ 1 น้ำเทิน 1 น้ำเทินหินบูน เซเปียน-เซน้ำน้อย และหงสาลิกไนต์ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว

ทางการลาวได้เปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อส่งออกภายใต้แผนการทำให้ สปป.ลาวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” นอกจากบริษัทจากประเทศไทยแล้วก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับอนุญาตจากทางการลาวให้เข้าลงทุนในแขนงนี้ รวมทั้งบริษัทจากจีน เวียดนาม รัสเซียและมาเลเซียด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น