xs
xsm
sm
md
lg

ปราสาทบาปวนที่เก่าแก่กลับมาผงาดอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



สูงขึ้นไปบนภูเขาที่เต็มไปด้วยทรายและศิลาแลง ช่างก่ออิฐและคนงานต่างก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่เหนือแท่งหินขนาดใหญ่หลายชิ้น พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทุบไปบนพื้นผิวของหินเป็นจังหวะดังก้องไปทั่วบริเวณ

มองลงไปหลายสิบเมตรเบื้องล่าง หินหลายหมื่นก้อน ที่บางก้อนก็มีลวดลายแกะสลักอยู่ที่ผิว วางนอนเรียงกันอยู่บนพื้นเป็นแถวลึกเข้าไปในแนวต้นไม้ที่อยู่รอบๆตัวปราสาทขนาดใหญ่ที่มีสภาพปรักหักพัง

ปราสาทบาปวน หนึ่งในปราสาทที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทเมืองพระนคร ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระราชวังหลวง เป็นปราสาทที่มีความสูงมากในสมัยนั้น แต่ในปัจจุบัน ที่ยอดของปราสาทและปรางค์ต่างๆ ที่ได้พังทลายลงมาตามกาลเวลานั้น กำลังได้รับการบูรณะให้กลับมาปรากฏสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง

ตามแบบฉบับดั้งเดิม ปราสาทบาปวนมีความสูง 43 เมตร เป็นทรงปิระมิด 3 ชั้น แทนลักษณะของเขาพระสุเมรุ แต่ชั้นบนของปราสาทได้หักพังลงมา ในปี 2488 โดยครึ่งหนึ่งของฝั่งปราสาททางทิศเหนือ ชั้น 2 และชั้น 3 แตกออกจากกันและพังทลาย

การบูรณะปราสาทบาปวนได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2503 โดยสถาบัน Ecole Francaise d'Extreme-Orient (EFEO) ได้ส่งกลุ่มนักโบราณคดีเข้าสำรวจและทำการบูรณะ โดยการรื้อชิ้นส่วนหินของปราสาทที่ยังเหลืออยู่ลงทีละก้อน เพื่อซ่อมแซมโครงสร้างภายในของตัวปราสาท การบูรณะดำเนินไปเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะหยุดลง เนื่องจากสงครามกลางเมืองในประเทศ ทำให้การบูรณะปราสาทถูกยกเลิกไป

ต่อมาในปี 2514 เมื่อพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชามีความปลอดภัยมากขึ้น งานบูรณะจึงได้เริ่มต้นอีกครั้ง โดยการนำหินกว่า 300,000 ก้อน ย้ายลงจากปราสาท และวางลงบนพื้นในบริเวณป่าข้างองค์ปราสาทอย่างระมัดระวัง โดยคว่ำผิวหน้าของหินลงเพื่อซ่อนส่วนที่เป็นภาพประติมากรรมตามความเชื่อทางศาสนา ป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพลักขโมยหินเหล่านี้ไป

แต่เมื่อเกิดสงครามอีกครั้งหนึ่ง ก็ทำให้คนงานและช่างบูรณะต้องอพยพออกจากพื้นที่ไป และในปีถัดมาส่วนอื่นของปราสาทก็ได้พังลงมาอีก รวมถึงมุขด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ของชั้น 2 และ ชั้น 3 ของตัวปราสาทด้วย

แย่ไปกว่านั้น ในปี 2518 บันทึกรายละเอียดของตัวปราสาทที่ทีมบูรณะเก็บไว้ เพื่อระบุถึงตำแหน่งลักษณะของแท่งหินที่ใช้ประกอบตัวปราสาทได้หายไป เมื่อกลุ่มเขมรแดงเข้าครองอำนาจ และเข้ารื้อค้นในสำนักงานของ EFEO นับแต่นั้นการบูรณะประกอบชิ้นส่วนหินต่างๆ ของปราสาทบาปวน กลายเป็นจิ๊กซอขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความสับสนซับซ้อน ไม่มีรูปแบบโครงร่างให้ดูเป็นตัวอย่าง

ทีมบูรณะจากฝรั่งเศสได้เดินทางกลับเข้ากัมพูชาอีกครั้งในปี 2535 หลังจากที่นครวัดได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก พวกเขาได้นำอุปกรณ์เครื่องมือทุกชนิดเข้าใช้ในการบูรณะ ทั้งเครนก่อสร้าง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์วาดโครงร่างตัวปราสาทในลักษณะสามมิติ เพื่อวาดแผนที่ระบุตำแหน่งแท่งหินแต่ละชิ้น ให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด

ในปี 2538 สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ปาสกาล รอแยร์ (Pascal Royere) หัวหน้าทีมบูรณะจาก สถาบัน EFEO ซึ่งได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับไปยังกัมพูชา เพื่อบูรณะปราสาทบาปวนให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

"ในตอนนั้น การบูรณะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แทบจะจินตนาการไม่ได้เลยว่า เราจะประสบความสำเร็จในการบูรณะปราสาทหลังนี้ได้อย่างไร เพราะว่าการทำงานได้ขาดช่วงไปเป็นเวลานาน แล้วยังข้อมูลเอกสารการบูรณะสูญหายไปอีก" นายรอแยร์ กล่าว ขณะที่นั่งอยู่ในห้องทำงานที่สร้างเป็นกะท่อมมุงจาก อยู่ที่ชั้นล่างสุดของตัวปราสาท

หลังการบูรณะปราสาทบาปวนดำเนินมานานกว่าทศวรรษ ก็ใกล้จะถึงเวลาที่สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมบางส่วนของตัวปราสาทได้อีกครั้ง นักท่องเที่ยวสามารถชมส่วนของปราสาทฝั่งตะวันออก ที่มีความกว้างกว่า 300 เมตร และสามารถเดินไปรอบๆ ปราสาทเพื่อชมพระนอน ยาว 70 เมตร ที่สร้างขึ้นลงบนระเบียงปราสาทชั้นล่างสุด เมื่อหลายร้อยปีก่อน หลังจากที่ปราสาทยุคศตวรรษที่ 11 นี้ ได้ถูกสร้างขึ้น

นายรอแยร์กล่าวว่า เขาหวังที่จะให้การบูรณะส่วนใหญ่ของปราสาทเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2551

ปราสาทบาปวน ได้เริ่มสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ในปี 1603 หรือ 949 ปีมาแล้ว เป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เป็นรองเพียงปราสาทนครวัดที่สร้างขึ้นในอีกราว 100 ปีให้หลัง

"ปราสาทบาปวนเป็นปราสาทที่ยิ่งใหญ่ มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สมัยพระนคร และยังมีความสำคัญต่อชาวกัมพูชา รวมถึงชาวฝรั่งเศสด้วย" ทูตฝรั่งเศสประจำประเทศกัมพูชา นายอีวง โร ดาลแบร์ (Yvon Roe D'Albert) กล่าว กระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศฝรั่งเศส ได้มอบเงินช่วยเหลือในการบูรณะปราสาทบาปวนเป็นจำนวน 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"เราหวังว่าในเร็วๆ นี้ เราจะสามารถส่งคืนปราสาทบาปวน ไม่เพียงให้แก่ประชาชน แต่ให้ชาวกัมพูชาทั้งหมด" เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกล่าว

ปัญหาที่สำคัญในการบูรณะปราสาทหลังนี้คือ แผนผังตำแหน่งหินของปราสาทที่หายไป ทำให้งานบูรณะมีความยากลำบากและซับซ้อนขึ้นอีกหลายเท่า แต่การทำงานในแบบของนายรอแยร์ คือ การใช้จดหมายเหตุรูปถ่ายของปราสาทบาปวนที่ย้อนหลังไปในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นแบบในการบูรณะ

การใช้ภาพบันทึกเหล่านี้ รวมถึงส่วนมุขปราสาทที่ยังเหลืออยู่ ทำให้ ทีมสถาปนิกสามารถที่จะตัดสินใจนำหินที่วางอยู่เต็มลานรอบปราสาทกลับเข้าตำแหน่งเดิม โดยคนงานต้องเดินผ่านลานที่มีแท่งหินเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เพื่อค้นหาหินที่มีรูปร่าง ขนาด และลวดลาย ที่เข้ากันมาต่อกลับเข้าที่เดิม

"เรามีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความแตกต่างของลวดลายแกะสลัก ที่ทำให้เราสามารถค้นหาและนำมาแท่งหินเชื่อมต่อกัน เมื่อเราพบวิธีแก้นี้แล้ว การบูรณะก็เป็นเรื่องง่าย และสามารถเข้าใจได้มากขึ้นด้วย" นายรอแยร์ กล่าว

นอกจากนั้น ชาวกัมพูชาที่เคยทำงานบูรณะกับฌ้าค ดือมาร์คาย (Jacques Dumarcay) สถาปนิกจากสถาบัน EFEO ที่เคยควบคุมงานบูรณะปราสาทบาปวน ตั้งแต่ปี 2503 ก็ได้กลับเข้าร่วมบูรณะปราสาทในตอนนี้ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยากลำบากและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบูรณะ คือการสร้างระบบระบายน้ำภายในปราสาท ที่ผู้สร้างเดิมในสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 นั้นไม่ได้สร้างไว้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ปราสาทพังลงมา

โครงสร้างของปราสาทบาปวนที่สร้างขึ้นโดยช่างในสมัยก่อน ใช้วิธีสร้างจากการใช้แท่งหินประกบกันโดยมีทรายอยู่ภายใน ซึ่งน้ำหนักของทรายที่อยู่ในแกนกลางของตัวปราสาทนั้น มีมากเกินกว่าที่ผนังที่ยังเหลืออยู่จะรับไว้ได้ และน้ำที่รั่วซึมผ่านแท่งหินทำให้หินมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ส่วนทั้งหมดของผนังแต่ละชั้นหักพังลงมา

ด้วยความต้องการที่จะสร้างปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำให้ผู้สร้างปราสาทบาปวน ได้สร้างปราสาทที่มีความเปราะบางมากที่สุดหลังหนึ่งของนครวัดขึ้นมาพร้อมกันด้วย

ถึงอย่างไรก็ตาม งานหลักยังคงเป็นการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ปราสาทบาปวนให้เสร็จ และความท้าทายทางวิศวกรรมอีกหลายขั้นตอนยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งสร้างความหงุดหงิดให้กับผู้บูรณะต่อไป

"ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาได้มีการทำหลายสิ่งหลายอย่างไปแล้ว -- ระดับความรู้ของพวกเราก็เพิ่มสูงขึ้น และผลที่ออกมาก็ไม่เลว" นายรอแยร์กล่าว.

(เรียบเรียงจากบทเขียนเรื่อง Baphuon, one of Angkor's greatest monuments, emerges piece-by-piece โดย Seth Meixner สำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น