ชาวเวียดนามที่พอมีอันจะกินในเมืองด่งฮา (Dong Ha) เมืองเอกของ จ.กว๋างจิ (Quang Tri) ที่มีชายแดนติดกับ สปป.ลาว เปลี่ยนรถยนต์กันบ่อยเหลือเกิน จนกระทั่งเล่าลือกันไปว่าคนที่นั่นเปลี่ยนรถเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะรถยนต์ที่นั่นราคาถูกมาก เป็นรถสภาพป้ายแดง เพียงแต่ซิกแซ็กติดป้ายทะเบียนลาวข้ามแดนเข้าไป ทำให้ราคาถูกเท่าๆ กับจากต้นทางในประเทศผู้ผลิต
ในเมืองด่งฮา มีรถยนต์หรูเกือบทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นบีเอ็มดับลิว (BMW) โตโยต้า แลนด์ครุยเซอร์ (Land Cruiser) ฮอนด้าแอคคอร์ด LX มิตซูบิชิ ซูเปอร์ซาลูน 2.8 GLX หรือปิกอัพรุ่นใหม่อย่างโตโยต้า Hilux Vigo ยี่ห้อและรุ่นเหล่านี้ราคาถูกมาก ถูกเกือบเท่าๆ กับราคาจากโรงงานในประเทศผู้ผลิต เพียงแต่ว่าจะเลือกสียังไม่ได้ และรถเหล่านี้ติดแผ่นป้ายทะเบียนสีเหลืองที่มีอักษรลาวกำกับ
ผู้ค้าในเมืองด่งฮารายหนึ่งที่ชื่อ “เกียม” (Kiem) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเวียดนามเน็ตว่า ถ้าหากคุณมีเงินไม่มาก แต่ยังอยากจะเป็นเจ้าของรถสักคัน ก็น่าจะซื้อรถที่ติดป้ายทะเบียนลาว
ยกตัวอย่าง BMW ซีรีส์ 3 ราคาในประเทศผู้ผลิตคันละ 29,300-37,450 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,172,300-1,498,000 บาท) เมื่อถึงตลาดเวียดนามราคาจะพุ่งขึ้นเป็น 63,000-76,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,520,000-3,040,000 บาท) เช่นเดียวกัน ฟอร์ดโฟกัส (Ford Focus) ราคาจากต้นทางในประเทศผู้ผลิตคันละ 14,075-17,410 ดอลลาร์ (563,000-696,400 บาท) แต่พอถึงเวียดนามราคาก็จะพุ่งกว่าเท่าตัวเป็นคันละ 32,500-39,300 ดอลลาร์
สำหรับ ฟอร์ดเอสเคป (Ford Escape) ก็ไม่ต่างกัน ราคาในประเทศผู้ผลิตคันละ 19,425-28,455 ดอลลาร์ (777,000-1,138,200 บาท) เทียบกับ 41,900-47,900 ดอลลาร์ในเวียดนาม หรือมาสด้า 6 (Mazda 6) ราคาคันละ 18,955-24,345 ดอลลาร์ แต่พอถึงเวียดนามก็จะพุ่งขึ้นเป็น 42,500-46,900 ดอลลาร์
นายเกียม กล่าวว่า ราคารถรุ่นและยี่ห้อเหล่านี้ที่ตีทะเบียนลาวจะมีราคาเท่าๆ กับราคาจากประเทศผู้ผลิต หรือต่ำกว่าเสียอีกสำหรับบางรุ่น เพียงแต่วางเงินดาวน์ประกันเอาไว้หน่อยอีกไม่กี่วันก็จะได้รถ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน สปป.ลาวยังไม่มีการประกอบรถยนต์รุ่นต่างๆ เหล่านี้ และสื่อของทางการเวียดนามก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า “ประเทศผู้ผลิต” ที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงประเทศใด ในขณะที่รถยนต์บางรุ่นในนั้นผลิตในประเทศไทย
แต่ นายดว่านซวนทุย (Doan Xuan Thuy) หัวหน้าศุลกากรที่ด่านลาวบ๋าว (Lao Bao) บนทางหลวงเลข 9 ระหว่างแขวงสะหวันนะเขตของลาว กับ จ.กว๋างจิ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “รถหรูราคาถูก” ที่กำลังเล่าลือกันอยู่นี้เป็นรถที่น้ำเข้าเวียดนามเพื่อที่จะส่งออก แต่แล้วรถจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้มีการส่งออก แต่กลับนำไปจำหน่ายให้กับชาวเวียดนาม และใช้ในประเทศเวียดนาม
นายทุยยังแสดงให้เห็นรถที่นำเข้าจาก สปป.ลาว โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะส่งออกไปยังต่างประเทศอีกที แต่แล้วก็มีอยู่ 83 คันซึ่งมีกำหนดจะส่งออกภายในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการส่งออก ตอนนี้ก็ยังมีอีก 36 คัน ที่ยังค้างอยู่ทั้งๆ ที่มีกำหนดจะต้องส่งออกภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้
หัวหน้าด่านศุลกากรแห่งนี้ กล่าวอีกว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกที่เหมาะสมในการควบคุมรถยนต์ที่นำเข้าเพื่อส่งออกอีกทอดหนึ่ง เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถเอาผิดได้ เนื่องจากรถยนตร์ยังเป็นทะเบียนจากประเทศลาวมีเอกสารทุกอย่างถูกต้อง โดยมีชาวลาวเป็นเจ้าของ แต่ผู้ครอบครองในฐานะที่เป็น “เจ้าของ” ที่แท้จริงนั้นเป็นชาวเวียดนาม
เมื่อเร็วๆ นี้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 คันหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุกับใน จ.กว๋างจิ มีผู้เสียชีวิต 4 คน จากการตรวจสอบทะเบียนปรากฏว่า เจ้าของรถคันนั้นเป็นชาวลาวที่อนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้นายเหวียนวันเก๋ย (Nguyen Van Coi) ซึ่งเป็นพลเมืองเวียดนาม นำไปใช้อย่างถูกต้องทุกประการ แถมยังไม่ได้ระบุระยะเวลาที่อนุญาตให้ใช้รถคันดังกล่าวอีกต่างหาก
กว๋างจิ มิใช่จังหวัดเดียวที่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นในเกือบจะทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดกับลาวและกัมพูชา เช่น จ.ห่าติ๋ง (Ha Tinh) อานยาง (An Giang) หรือ เกียนยาง (Kien Giang) ที่มีการนำเข้ารถยนต์เป็นการชั่วคราว เพื่อ “ส่งออก” อีกทอดหนึ่ง จังหวัดต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เผชิญกับปัญหารถยนต์ทะเบียนนอก และยังมีความยุ่งยากที่จะจัดการ