หลังจากเตรียมการมาหลายปี บัดนี้ที่เผาศพ นาย 'พอล พต' (Pol Pot) หรือ "โปลโป้ต" อดีตของผู้นำเขมรแดงก็กำลังจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกัมพูชา ทั้งนี้ด้วยศักยภาพเชิงประวัติศาสตร์ อยู่ใกล้กับชายแดนไทยและกำลังจะมีถนนทันสมัยตัดผ่าน
กระทรวงการท่องเที่ยวกำลังวางแผนฟื้นฟูบูรณะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ฐานที่มั่นของฝ่ายเขมรแดงในอดีต ที่เมืองอันลองแว็ง (Anlong Veng) ตลอดจนอาณาบรนิเวณโดยรอบ
นายทองคอน (Thong Khon) รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลได้มองหาสถานที่กว่า 38 แห่ง ตามแนวภูเขาพนมดงรักทางภาคเหนือของประเทศ ที่ซึ่งเคยเป็นที่มั่นของกลุ่มเขมรแดง โดยสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเขตฐานที่มั่นเหล่านี้ คือ บริเวณที่ฝ่ายกบฎเขมรแดงเคยใช้ยางรถยนต์เผาศพของพอลพต อย่างไม่มีพิธีการใดเมื่อปี 2541
อย่างไรก็ตามบริเวณแห่งนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม ซึ่งเฉพาะหน้านี้จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปได้สะดวกขึ้น
"เราได้ตกลงเห็นด้วยถึงสถานที่ท่องเที่ยวในหลายๆ จุดแล้ว เหลือเพียงแต่ในส่วนของหลุมศพของพอลพตเท่านั้น ที่ยังคงเป็นปัญหา เพราะที่ตรงนั้นไม่มีบริเวณรอบๆ ให้สามารถเดินทางได้สะดวก" นายทองคอนกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี หลังเดินทางกลับมาจาก อ.อันลองแว็ง จ.อุดรมีชัย (Oddar Meanchey) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
"เราต้องการทบทวนสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง เพราะปลายทางท่องเที่ยวและศูนย์กลางธุรกิจการค้า หากอยู่ใกล้กับประเทศไทย เราจะสามารถทำกำไรได้มหาศาล" รมว.กระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชากล่าว
รัฐบาลได้มีแผนการที่จะเปลี่ยนอันลองแว็ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2543 แต่แผนการต้องล่าช้า เนื่องจากต้องเคลียร์กับระเบิดในพื้นที่ออกให้หมดเสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี จากนั้นต้องวาดแผนที่เส้นทางบริเวณและสถานที่โดยรอบซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเสร็จเช่นกัน
สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ นอกจากที่เผาศพของพอลพตแล้ว คือ คลังเก็บอาวุธของกลุ่มเขมรแดง และบ้านพักที่เป็นของอดีตผู้นำกลุ่มทหาร เช่น นายเขียวสัมพัน หรือ "เคียว สมพอน" (Khiue Samphan) และ ตา ม็อก หรือ "ม๊อกตา" (Mok Ta) ผู้บัญชาการทหารเขมรแดงที่ถูกจับในปี 2542 และ ยังถูกคุมขังมากระทั่งทุกวันนี้ เพื่อรอการนำตัวขึ้นไต่สวนคดีค่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา
นอกจากนั้นในแถบภูเขาพนมดงรัก ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศก็ยังเป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขาพระวิหารที่เลื่องลือชื่อ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งชาวไทยและชาวเขมร
อาณาบริเวณ อ.อันลองแว็ง ที่กำลังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้อยู่ใกล้กับชายแดนไทยด้านช่องสะงำ จ.ศีรสะเกษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงสายใหม่ในกัมพูชาที่ทอดยาวไปจนถึงปราสาทบันทายศรี จ.เสียมราฐ
"ถนนสายปราสาทหิน" นี้ มีความยาวประมาณ 128 กิโลเมตร ฟื้นฟูบูรณะและสร้างขึ้นใหม่ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลไทย ในนั้นจำนวนหนึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวการค้าขาย และการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน 2 ประเทศ การก่อสร้างดำเนินมาได้ปีเศษแล้ว กำหนดเปิดใช้การในปลายปี 2550
เมื่อครั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือที่รู้จักกันดีกว่าในชื่อ "เขมรแดง" ครองอำนาจนั้น ประชาชนชาวกัมพูชากว่า 2 ล้านคนได้เสียชีวิตลง เนื่องจากขาดอาหาร ทำงานหนักเกินไป และถูกประหารชีวิต
กัมพูชาได้นำความน่าสยดสยอง จากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งอดีต มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวของกัมพูชานั้น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนกัมพูชาแล้ว 1.5 ล้านคน.