กรุงเทพฯ - แอร์พุกาม (Air Bagan) สายการบินภายในพม่าจะขยายเส้นทางการบินปลายทาง จ.เสียมราฐ (Siem Reap) เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในกัมพูชา เพื่อบินเชื่อมแหล่งโบราณสถานที่มีชื่อเสียงของทั้งสองประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายเส้นทางการบินในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในปลายทางใหม่ๆ ของสายการบินแห่งนี้เช่นเดียวกัน
สายการบินแอร์พุกาม เกิดขึ้นจากการลงทุนร่วมกันระหว่างกระทรวงขนส่งพม่า และบริษัทตู๋ (Htoo Company) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนระดับแห่งชาติ โดยจะเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงไปกลับเส้นทาง ย่างกุ้ง-เสียมราฐ- ย่างกุ้ง และเส้นทาง ย่างกุ้ง-เสียมราฐ-นองอู (พุกาม)- ย่างกุ้ง บริการ 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ในระบบเช่าเหมาลำ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในเที่ยวบินดังกล่าวเมื่อใด
จุดประสงค์ของการจะเปิดให้บริการในเที่ยวบินดังกล่าวก็เพื่อเชื่อมเส้นทางไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งเมืองพระนคร ใน จ.เสียมราฐ ของกัมพูชา และสนามบินในเมืองนองอู ที่จะนำนักท่องเที่ยวไปชมความรุ่งเรืองของอาณาจักรพุกามโบราณ ในภาคเหนือของพม่าได้ ซึ่งทั้งสองแห่งนับเป็นศูนย์กลางมรดกทางวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิรวดี
นอกจากกัมพูชาและไทยแล้ว สายการบินแอร์พุกามยังมีโครงการจะเปิดเที่ยวบินเชื่อมเมืองสำคัญภายในประเทศปลายทางอื่นๆ เช่น สิงโคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น อีกด้วย ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวซินหัว
สายการบินแอร์พุกามเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2547 โดยเริ่มจากการเปิดเที่ยวบินเชื่อมระหว่างกรุงย่างกุ้ง กับอีก 14 เมืองภายในประเทศ อาทิเช่น เมืองมัณฑะเลย์ นองอู ท่าขี้เหล็ก มะริด เกาะสอง ซิตตเว และมี๊ตจินา ด้วยเครื่องบิน Fokker-100 ขนาด 108 ที่นั่ง 1 ลำ เครื่องบิน ATR-72 ขนาด 70 ที่นั่ง 2 ลำ และเครื่องบิน ATR-42 ขนาด 46 ที่นั่ง อีก 3 ลำ
อย่างไรก็ตาม แอร์พุกาม ยังคงเป็นสายการบินภายในประเทศแบบร่วมลงทุนที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับ 3 ถัดจากสายการบินแอร์มัณฑะเลย์ (Air Mandalay) และ ย่างกุ้งแอร์เวย์ส เริ่มให้บริการมาก่อนแล้ว ในขณะที่ เมียนมาร์แอร์เวย์ส (Myanma Airways) ยังคงเป็นสายการบินภายในประเทศที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารพม่าเพียงหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ยังอีก 3 สายการบินที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลพม่ากับต่างประเทศ บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ได้แก่ สายการบินเมียนมาร์แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชันแนล (Myanmar Airways International - AMI) ยูไนเต็ดเมียนมาร์แอร์ไลน์ส (United Myanmar Airlines - AMA) และแอร์เมียนมาร์ (Air Myanmar).