xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเปิดท่าขี้เหล็กเป็นเขตสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน- ทางการพม่าได้เริ่มทำสวนยางอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเขตชาน ตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงรายของไทย ในแผนการที่จะทำสวนยางพาราให้ได้เกือบ 2 แสนไร่ภายในปีงบประมาณ 2549-2550 นี้ เพื่อทำให้เขตชาน (Shan) ตอนใต้ เป็นเขตไร่ยางเขตที่ 3 ของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าลงทุนแบบเกษตรพันธะสัญญาได้

จนถึงปัจจุบันมีการปลูกยางไปแล้วในพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 20,000 ไร่ ในเขตเมืองเชียงตุง เมืองสาด เมืองฟัดและเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกยางพารา 127,000 ไร่เศษ ภายในปีงบประมาณปัจจุบัน หนังสือพิมพ์นิวๆไล้ท์อ๊อฟเมียนมาร์ของทางการอ้างตัวเลขสถิติจากแผนกการเกษตรของจังหวัดท่าขี้เหล็ก

การปลูกยางพาราทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการที่ใหญ่กว่า คือ การสร้างเขตชานใต้ ให้เป็นเขตสวนยางแห่งใหม่ของประเทศ เช่น เดียวกันกับในเขตสะกาย (Sagaing) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือและเขตตะนาวศรี (Tanintharyi) ในภาคใต้ ใน จ.ทาขี้เหล็กแห่งนี้จะมีพื้นที่สวนยางถึง 250,000 ไร่ ภายในปีงบประมาณ 2550-2551 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกฝิ่นในการผลิตยาเสพติด

พล.จอวิน (Kyaw Win) สมาชิกสภาปกครองสูงสุดของพม่า และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางตรวจราชการถึงเมืองท่าขี้เหล็กในวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการตรวจเยี่ยมสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งใหม่ และเยี่ยมชมโครงการการเกษตรต่างๆ รวมทั้งพื้นที่สวนยางของจังหวัดด้วย

นายทหารผู้นี้ยังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นศูนย์กลาการทำสวนยางที่ใหญ่ที่สุดในรัฐชานตะวันออกโดยได้รับการต้อนรับจาก พล.ต.มินอองหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพภาคชานตะวันออก ซึ่งนำ พล.ท.จอวิน ไปเยี่ยมชมโครงการเกษตรต่างๆ ในพื้นที่

ในเดือน ธ.ค.2548 มีการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการให้ควยช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เคยประกอบอาชีพปลูกฝิ่นในพม่า โดยมีหน่วยงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจากประเทศอาเซียนต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากจีนด้วย ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ทางการพม่าได้ประกาศนโยบายที่จะเปิดรัฐชานให้เป็นพื้นที่สวนยาง และ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

ตามรายงานของสื่อทางการพม่าก่อนหน้านี้ ระหว่างปี 2540-2546 ทางการพม่าได้ประกาศให้หลายเขตในรัฐชานเป็นเขตที่ปลอดจากฝิ่นซึ่งรวมทั้งเขตเมืองลา (Mongla) เมืองโกกาง (Kokang) ที่อยู่ติดกับชายแดนจีนและลาวให้เป็นพื้นที่ปลอดฝิ่น เมื่อปีที่แล้วก็ได้ประกาศดินแดนของว้า (Wa) ในรัฐชานใต้ที่อยู่ติดเขตแดนไทยด้าน จ.เชียงราย ให้เป็นพื้นที่ปลอดการปลูกฝิ่นอีกแห่งหนึ่ง ทั้งหมดนี้พม่าจะเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าลงทุนแบบเกษตรพันธะสัญญา

ทางการพม่าได้ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราซึ่งมีตลาดใหญ่คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนพืชน้ำมันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มน้ำมัน เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

นิตยสารว้อยซ์ (Voice) ซึ่งเป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ข่าวรายสัปดาห์ได้รายงานในเดือน ต.ค. ปีที่แล้วว่า กระทรวงเกษตรฯ พม่าได้จัดสรรเนื้อที่ในเขตยะไข่ (Rakhine) กับเขตตะนาวศรี เอาไว้เพื่อทำสวนยางโดยเฉพาะรวมเป็นพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ทั้งสองเขตนี้มีภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการปลูกยางพาราเป็นอย่างมาก

นิตยสารฉบับนี้ยังกล่าวอีกว่าเขตยะไข่แห่งเดียวมีพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้เพื่อทำสวนยางพารากว่า 1 ล้านเอเคอร์ (2.5 ล้านไร่) ส่วนในเขตตะนาวศรีที่มีชายแดนติดกับไทยก็มีพื้นที่ทำสวนยางกว่า 1 แสนเอเคอร์ (กว่า 2 แสน 5 หมื่นไร่)

รัฐบาลไทยประกาศระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว จะไม่เก็บภาษีสินค้าการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผลิตภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา ซึ่งทำให้ทางการพม่าเชื่อว่า จะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้นักลงทุนจากไทย เข้าไปใช้พื้นที่ในพม่าปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น