กรุงเทพฯ - ไม่ใช่กระรอก ไม่ใช่หนู ชาวบ้านเรียกมันว่า “ข่าหนู” ลำตัวของมันจากปลายจมูกจนถึงหางมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มันมีหนวดยาว ขาสั้น หางยาวมีขนปุกปุย ลำตัวสีเข้มตลอด ชาวบ้านในลาวทุบหัวมันจนตายแล้วนำไปขายเป็นอาหารในตลาดสด เช่นเดียวกันกับสัตว์ป่าอีกหลายชนิด
มันเป็นตัวอะไรกันแน่?
นักวิทยาศาสตร์ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Wildlife Conservation Society) ใช้เวลาศึกษามาเกือบปี และแถลงในวันนี้ว่า สิ่งที่เขาค้นพบนั้นเป็นสัตว์โลกชนิดใหม่ที่ไม่มีผู้ใดเคยรู้จักมาก่อน บรรพบุรุษของมันสูญพันธุ์จนหมดสิ้น
ญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้มันที่สุดก็คือ สัตว์ตระกูลหนูที่ปรากฏเป็นซากในหินหรือฟอสซิลที่มีอายุ 11 ล้านปี ซึ่งมีการค้นพบก่อนหน้านี้ในมณฑลส่านตง (Shandong) ของจีน และนักดึกดำบรรพ์ชีวศาสตร์เรียกมันว่า Diatomys shantungensis
ช่วงต้นปี 2548 โรเบิร์ต ทิมมินส์ (Robert Timmins) นักวิทยาศาสตร์คนนั้น ไปพบร่างไร้ชีวิตของสัตว์ประหลาดตัวนี้โดยบังเอิญขณะเดินดูโน่นดูนี่อยู่ในตลาดสดของเมืองคำม่วน ก็เลยต่อรองกับแม่ค้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าเขากำลังต่อรองเพื่อจะได้เป็นเจ้าของเรื่องราวที่น่าฉงนที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกยุคใหม่
ทิมมินส์กล่าวว่า ชาวลาวในแขวงคำม่วนบางคนเรียกมันว่า “หนูหิน” ซึ่งที่จริงไม่ควรจะเรียกเช่นนั้น เพราะว่าเจ้าสัตว์ชนิดนี้แม้จะดูคล้ายๆ หนู คล้ายๆ กระรอก แต่ก็ไม่มีอะไรที่ใกล้ชิดกับหนูหรือกระรอกเลยสักนิดเดียว แต่ถ้าจะเรียกว่า “ตัวเม่นที่ไม่มีขนแหลม” ดูจะเหมาะมากกว่า
ไม่เพียงแต่เจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้จะเป็นสมาชิกใหม่ของสัตว์ตระกูลหนูตัวโต (Rodent) เท่านั้น แต่มันยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในรอบ 30 ปี เลยทีเดียว
นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะรู้จักมัน แต่ชาวลาวในแขวงคำม่วนรู้จักกันมานาน และชอบนำมันไปสับแล้วแผ่ออกแบนๆ ทั้งตัว ทาเกลือ ใช้ไม้หนีบย่างไฟ ประกอบเป็นอาหารมื้ออร่อย
ทิมมินส์บอกว่า ในตลาดสดแห่งนั้นชาวบ้านจะนำผักที่เก็บจากป่าสดๆ ผลไม้ และสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นหนู กระรอก หรือ ตัวเม่นแล้วเขาก็สังเกตเห็นเจ้าตัวนี้
“ผมรู้ทันทีว่ามันเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน” นายทิมมินส์กล่าวในนิตยสาร “วิทยาศาสตร์” (Journal Science) ฉบับใหม่ที่นำออกวางจำหน่ายในสัปดาห์นี้้
ทิมมินส์ เล่าว่า เพื่อนร่วมทีมก็ซื้อเศษซากของตัวอื่นๆ ที่ชำแหละแล้วเอากลับไปด้วย ทั้งหมดถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน และพอล่า เจนกินส์ (Paula Jenkins) ผู้จัดการฝ่ายเก็บรวบรวมสัตว์ของพิพิธภัณฑ์ ได้ทำการตรวจสอบหัวกะโหลก ฟัน กระดูก และส่วนอื่นๆ ของเจ้าตัวแปลกจากลาว เปรียบเทียบกับชิ้นส่วนตัวอย่างของหนูและกะรอกที่เก็บเอาไว้เป็นตันๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
อีกทางหนึ่ง วิลเลียม คิลแพทริก (William Kilpatrick) นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ในสหรัฐฯ ได้เป็นผู้ศึกษาดีเอ็นเอของมัน และ เพิ่งจะตีพิมพ์ผลการวิจัยร่วมของทั้งสองสถาบันในนิตยสาร Systematics and Biodiversity ของพิพิธภัณฑ์เมื่อเร็วๆ นี้
เจนกินส์ กล่าวว่า เธอได้พบสิ่งมหัศจรรยเข้าแล้ว ์เพราะบุคลิกลักษณะของมันแตกต่างอย่างชัดเจนและโดดเด่นจากบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายที่ี่รู้จักกันในปัจจุบัน มันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จะเปิดทางไปสู่การศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทหนูทั้งหลาย
ผลการศึกษาได้นำเสนอว่า เจ้าข่าหนูจากแขวงคำม่วนนี้เป็นเสมือน “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต” (Living Fossil) ที่แยกตัวเองจากเผ่าพันธุ์หนูๆ เมื่อหลายล้านปีก่อน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพันธุ์ใหม่ที่พบชนิดล่าสุด คือ ค้างคาวขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ซึ่่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ค้นพบในประเทศไทยในปี 2517
นักวิทยาศาสตร์ให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (ภาษาละติน) แก่สัตว์พันธุ์ใหม่จากภาคกลางของลาวว่า Laosnastes aenigmamus คำแรกหมายถึง “ผู้อาศัยอยู่ในหินในลาว” ส่วนคำหลังหมายถึง “หนูประหลาด” เชื่อกันว่า มันเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน และน่าจะกินพืชเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามซอกหินในที่ราบสูงป่าเขตร้อน นักวิทยาศาสตร์กำลังออกควานหาตัวเป็นของมัน เพื่อจะได้ศึกษาความลี้ลับอีกเรื่องหนึ่งของวิวัฒนาการ
บัดนี้ทุกฝ่ายกำลังออกค้นหาตัวเป็นๆ ที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ในป่าแขวงคำม่วน ในภาคกลางของลาว ที่ที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งกำลังจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนท่วมพื้นที่ราว 450 ตางรางกิโลเมตร ในนั้นส่วนใหญ่เป็นผืนป่าเขตร้อนอันอุดมสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับสถานะของข่าหนู... เป็นที่ชัดเจนว่ามีอยู่ไม่มากในโลกนี้ (แต่บางที) มันอาจจะกระจัดกระจายอยู่ในเขตเขาหินปูนในภาคกลางของลาว เป็นไปได้ว่าจะยังไม่สูญพันธุ์ไปในชั่วข้ามคืน” ทิมมินส์กล่าว
“ปัญหาหนึ่งในการสืบหาที่มาที่ไปของมันก็คือ เราไม่มีแนวทางใดที่พอจะเทียบเคียงกันได้ เพราะมันไม่มีญาติสนิทอยู่เลยในโลกนี้เลย” นักวิทยาศาสตร์ที่เห็นมันเป็นคนแรกกล่าว
ทิมมินส์ยังบอกอีกว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพันธุ์นี้เป็นความลี้ลับมานาน แต่คิดอีกทีก็ไม่น่าประหลาดเพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในแถบนี้หลายชนิดก็เคยหลบหนีสายตาของนักวิทยาศาสตร์มาก่อน
ทิมมินส์ได้ยกตัวอย่าง ละมั่งซาวลา (Saola) ที่มีเขายาวก็เพิ่งจะค้นพบกันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฟองญา-แกบ่าง (Phong Nha- Ke Bang) ในภาคกลางเวียดนาม ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษเดียวกันก็มีการค้นพบกวางขนาดใหญ่อีกบางชนิดในแถบภูหลวง ที่กั้นพรมแดนลาวกับเวียดนาม แต่ทั้งหมดก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สังกัดครอบครัวกวาง ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว
เขายังกล่าวอีกว่า นับเป็นน่าสนใจอย่างยิ่งการสำรวจในแถบแขวงคำม่วนในปี 2463 ก็มีการค้นพบนกกับลิงสายพันธุ์ใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็อาศัยอยู่ในเขตเขาหินปูนเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มีใครพบเห็นสัตว์พวกนั้นอีกเลย จนกระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990
นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเช่นกัน ว่าจะมีการค้นพบเจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่นี้