สุนัขหลังอานพันธุ์ฟู๊ก๊วกกำลังได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ จึงทำให้เกิดการรณรงค์จดทะเบียนสุนัขพื้นเมืองพันธุ์นี้ แต่ก็มีเสียงโต้แย้งจากฝ่ายที่เห็นว่า สิ่งนั้นจะทำให้สุนัขกลายเป็นสินค้าพาณิชย์และอาจจะทำให้การคัดพันธุ์ทำได้ไม่ดี จนถึงกับกลายพันธุ์ไป
ด้วยคุณสมบัติและคุณลักษณะทางกายภาพที่ไม่ธรรมดา ฉลาด เป็นนักล่าชั้นเยี่ยม และมีทักษะการว่ายน้ำเป็นเลิศ ทำให้สุนัขพื้นเมืองบนเกาะฟู๊ก๊วกกลายเป็นที่รู้จัก เช่นเดียวกับสุนัขไทยหลังอาน และโรดิเซียหลังอาน หมาหลังอานฟู๊ก๊วกจะมีพังผืดระหว่างนิ้วทั้ง 4 ขา ตามแนวยาวของแผ่นหลังมีแผงขนกว้าง 2 ซม. แผงนี้จะลุกชันขึ้นเมื่อมันรู้สึกตื่นตกใจ หรือระวังภัย
นักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรที่จะจัดตั้งศูนย์แห่งชาติ ในการศึกษาถึงหนทางขยายพันธุ์สุนัขฟู๊ก๊วก ให้กับบรรดาผู้ผสมพันธุ์สุนัขที่ต้องการหาผลกำไรในตลาดโลก เพราะเกรงว่า ขั้นตอนการผสมพันธุ์ที่ไม่ถูกต้องจะทำลายลักษณะทางธรรมชาติของสุนัขหายากพันธุ์นี้
ในปัจจุบันมีหมาหลังอานพันธุ์พื้นเมืองนี้ประมาณ 14,000 ตัว อาศัยอยู่บนเกาะฟู๊ก๊วก ที่ห่างจากชายฝั่ง จ.เกียนยางไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 45 กม. ในอ่าวไทย หมาพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลอมแดง น้ำหนักตั้งแต่ 16-30 กก. เจ้าของสุนัขหลายคนเป็นเกษตรกรบนเกาะ ก่อนหน้านี้พวกมันเคยเดินทางท่องเที่ยวไปได้อย่างอิสระทั่วทั้งเกาะ แต่ในปัจจุบันมันถูกคนที่เป็นเจ้าของใช้เฝ้ายาม
นายเหวียน วัน เบียน อาจารย์ฝ่ายสัตววิทยา ที่มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ ผู้ทำการศึกษาสุนัขพื้นเมือง เกาะฟู๊ก๊วก มาเป็นเวลากว่าทศวรรษ มีความตั้งใจที่จะสงวนคุ้มครองสุนัขพื้นเมืองพันธุ์นี้ แต่เขาก็ไม่ได้คัดค้านต่อต้าน ความพยายามของเหล่าผู้ผสมพันธุ์ ที่จะจัดตั้ง ก่อตั้งเครื่องหมายการค้าสำหรับสุนัข
เครื่องหมายการค้า จะช่วยให้สุนัขได้รับการรับรองและเป็นที่ยอมรับในสากล และแน่นอนว่าราคาขายสุนัขจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
สุนัขที่ขายอยู่ในตลาดภายในประเทศ มีราคาประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจจะขายได้ถึงตัวละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่านั้น หากได้รับการลงทะเบียนเครื่องหมายการค้า
สุนัขไทยหลังอานที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมนักผสมพันธุ์สุนัขนานาชาติ บางตัวสามารถขายได้ในราคาตัวละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
นายเลเกื๊อกตวน วัย 44 ปี เจ้าของฟาร์มที่ใหญ่ที่สุด "แถ่งงา" (Thanh Nga) มีเนื้อที่ 8,000 ตารางเมตร มีสุนัขกว่า 400 ตัว มีผู้ควบคุมดูแล 4 คน นอกจากนั้น บนเกาะยังมีฟาร์มอีก 3 แห่ง ที่แต่ละแห่งมีสุนัขอยู่ประมาณ 50 -100 ตัว
ถึงแม้เบียนจะเชื่อว่า ฟาร์มขนาดใหญ่ไม่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์สุนัข แต่ นายตวนกลับกล่าวว่า ฟาร์มขนาดใหญ่ของเขาเหมาะสม สำหรับการสงวนพันธุ์สุนัข เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่สุนัขต้องการ คือพื้นที่กว้างให้พวกสุนัขได้สำรวจตามลักษณะนิสัยของพวกมัน
นอกจากนั้นที่ฟาร์มแถ่งงา นายตวนได้ให้การดูแลเป็นพิเศษแก่สุนัข 75 ตัว ที่มีลักษณะที่พิเศษโดดเด่น เช่น สันหลังที่มีรูปร่างต่างออกไป รวมทั้งลักษณะของหางหรือตา โดยพวกมันจะถูกกันให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีรั้วกั้นขนาด 1,900 ตารางเมตร สุนัขตัวอื่นๆ จะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5- 10 ตัว ในพื้นที่ที่มีรั้วกั้น และทำพื้นที่แยกออกไปอีกสำหรับสุนัขตัวเมียที่ตั้งท้อง ที่ตามสภาพแวดล้อมแล้ว มักจะเดินเข้าไปในป่า ขุดหลุม และตกลูก แล้วถึงจะออกมาจากป่าหลังเลี้ยงดูลูกเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
นายตวน วางแผนที่จะขายสุนัขให้กับชาวเวียดนามและชาวต่างประเทศ โดยจะใช้เวลา 2 เดือนฝึกฝนก่อนที่จะขาย เพื่อให้พวกมันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ให้พวกมันเรียนรู้ที่จะอยู่ในพื้นที่จำกัด และแนะนำวิธีการดูแลสุนัขให้กับลูกค้า
ถึงแม้เบียน จะไม่ได้คัดค้านการลงทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้กับสุนัขฟู๊ก๊วก แต่เขาเชื่อว่าสุนัขไม่ควรที่จะถูกเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ควรที่จะอยู่กับบ้านเรือน เป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2-3 ตัว ในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เนื่องจากมีสุนัขหลายตัวเมื่อขายไปแล้ว อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ไม่นานก็ตาย เพราะพวกมัน ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศ น้ำและสถานที่อยู่อาศัยที่เล็ก
นอกจากนั้น ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะคงสภาพทักษะพิเศษแบบเดิมของสุนัขฟู๊ก๊วก คือให้เจ้าของพาสุนัขไปล่าสัตว์เล็กๆน้อยๆ บางครั้ง หรือพาพวกมันว่ายน้ำในทะเล แม่น้ำ เป็นต้น
"ในปัจจุบัน ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลปกป้องคุ้มครองสุนัขเหล่านี้ แต่ฟาร์มสุนัขก็ขายสุนัขฟู๊ก๊วกออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพสุนัขรุ่นต่อไป และเพื่อคุ้มครองอนุรักษ์สุนัขพันธุ์นี้ หน่วยงานรัฐ เกษตรกรผู้เลี้ยง และนักวิทยาศาสตร์ควรให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด” นายเบียนกล่าว.
(รูปประกอบจาก http://www.chophuquoc.com.vn/)