ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้จับกุมชายคนหนึ่งในข้อหาลักลอบค้าสัตว์ป่า ที่สนามบินนานาชาติโปเจินตง กรุงพนมเปญ พร้อมของกลางที่เป็นกล่องกระดาษภายในบรรจุลูก "หมีหมา" (MALAYAN SUN BEAR) จำนวน 1 ตัว ซึ่งไม่ใช่ตัวแรก แต่หลายเดือนมานี้มีการลักลอบขนหมีพันธุ์หายากนี้ออกจากป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นถึงรสนิยมที่เปลี่ยนไป ในหมู่ผู้ที่แสวงหาเมนูพิสดาร เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะตามความเชื่อ
ลูกหมีพันธุ์หายากที่ยึดได้นี้ เป็นการดำเนินการติดตามช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยทีมช่วยเหลือสัตว์ป่า WRRT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ WildAid ตามกฎหมายในกัมพูชา หากพบว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่า เมื่อค้นพบจะต้องริบเอาของกลางเหล่านั้นไว้เป็นของรัฐ
นิค มาร์กซ (Nick Marx) เจ้าหน้าที่ดูแลพิเศษขององค์การ WildAid กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูกาลผสมพันธุ์ของสัตว์ป่า ทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ได้พบการลักลอบขนลูกหมีหมาจำนวน 8 ตัว และลูกหมีหมาที่พบจะถูกส่งไปดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ใน เขตพนมตาเมา ต่อไป
เจ้าหน้าที่องค์การ WildAid เล่าว่า ทีมช่วยเหลือสัตว์ป่าเร่งด่วนในกัมพูชา (WRRT) ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนสัตว์ป่าที่ จ.รัตตะนะคีรี ทำให้ WRRT เริ่มติดตามเพื่อสืบหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ จนกระทั่งในวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าออกมาจากบ้านของคนค้าสัตว์ที่ต้องสงสัย จนในวันต่อมา พบว่ามีกล่องกระดาษที่บรรจุสัตว์ป่าไว้อยู่ภายในถูกขนส่งมาทางเครื่องบินโดยไม่มีผู้ติดตาม จาก เมืองบันลุง (Banlung) จ.รัตตะนะคีรี มายังกรุงพนมเปญ
ทีม WRRT ได้ติดต่อไปยังสมาชิกที่อยู่ในกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับกล่องต้องสงสัยดังกล่าว โดยมีสายสืบดักรออยู่ภายในท่าอากาศยานโปเจินตง เพื่อรอดูว่าใครเป็นคนที่มารับกล่องพัสดุกล่องนั้น ทันทีที่ชายคนหนึ่งมาหยิบกล่องไปจากสายพานลำเลียงกระเป๋า เจ้าหน้าที่ WRRT นอกเครื่องแบบ ได้เข้าจับตัวชายคนดังกล่าวทันทีที่ออกจากสนามบิน โดยภายในกล่อง ปรากฎว่าเป็นลูกหมีหมา
ระหว่างการสอบสวนเป็นระยะเวลานานโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงป่าไม้ ชายผู้นั้นยอมรับว่าเขาได้ซื้อลูกหมีมาในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในท้ายที่สุด ชายคนนั้นได้ถูกปล่อยตัวไป เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถคุมตัวได้เกิน 2 วัน หากไม่พบว่ามีความผิด และการดำเนินคดีฟ้องร้องในคดีอาชญากรรมสัตว์ป่า เกิดขึ้นได้ยากมากในกัมพูชา
"ความหวังของพวกเรา ก็คือ ให้กรณีการค้าสัตว์ป่านี้ถูกดำเนินคดีในศาล ไม่ว่าการลงโทษจะเป็นแค่การถูกปรับ หรือสั่งจำคุกก็ตาม แต่เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างต่อผู้ที่กำลังค้าสัตว์ป่า ให้เกรงกลัวกฎหมายมากกว่านี้ " นายมาร์กซ กล่าว
กลุ่ม WRRT ตั้งขึ้นในปี 2544 โดยมอบหมายให้มีหน้าที่ต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในกัมพูชา กลุ่มดังกล่าวได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษจากกรมป่าไม้และสัตว์ป่า และจากองค์การ WildAid เพียง 18 เดือนแรกของการออกปฏิบัติงานของกลุ่ม WRRT ได้จับกุมพ่อค้าสัตว์ป่ากว่า 239 คน และช่วยเหลือสัตว์ป่าได้มากกว่า 10,000 ตัว รวมไปถึงยึดของกลางที่เป็นเนื้อสัตว์กว่า 1.3 ตัน และชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ได้อีกกว่า 2 ตัน
เนื่องจากกัมพูชา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของพวกลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำให้กัมพูชากลายเป็นสถานที่ค้าสัตว์ป่าหลักของโลกเช่นกัน แต่บทลงโทษต่อผู้ที่ทำการลักลอบสัตว์ป่าในกัมพูชายังไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าได้พยายามที่จะผลักดันให้รัฐเพิ่มตัวบทกฎหมายและการลงโทษให้เข้มงวดมากขึ้น และควรดำเนินคดีตัวอย่างเพื่อให้คนอื่นที่กำลังลักลอบหรือคิดจะทำเกิดความเกรงกลัว และรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผิด
สำหรับลูกหมี ที่ยึดเป็นของกลาง ได้ถูกส่งตัวไปดูแลยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่พนมตาเมา และเมื่อมันแข็งแรง และโตมากกว่านี้ ก็จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
หมีหมา มีถิ่นกำเนิด ในพม่า อินโดจีน ไทย มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว ภาคใต้ของจีน เป็นหมีพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก หูเล็กกลม ขนสั้นและบาง มีสีดำทั้งตัว ใต้คอเป็นรูปตัว U สีเหลือง เมื่อเติบโตขึ้นสีเหลืองของตัว U จะเปลี่ยนเป็นสีขาว บริเวณหน้าตั้งแต่ตาไปจนถึงปลายจมูกสีค่อนข้างขาวหรือน้ำตาลอ่อน มักชอบหากินเป็นคู่ ชอบอยู่ในป่าทึบไม่ชอบอยู่ตามเขา ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนบนต้นไม้หรือตามโพรงไม้สูงๆ ไม่ชอบนอนพื้นดิน
หมีหมาสามารถนำมาเลี้ยงฝึกสอนให้เชื่องได้ บางครั้งร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่ากระโชก จึงเรียกมันว่า "หมีหมา"
หมีเหล่านี้ มักจะถูกขายเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง เลี้ยงไว้เพื่อรีดเอาน้ำดี เพื่อเป็นยารักษาโรค หรือนำไปทำเป็นเมนูอาหารพิสดารตามภัตรคาร โดยเฉพาะอุ้งตีนหมี ที่เชื่อว่ามีสรรพคุณต่างๆนาๆ เป็นยาอายุวัฒนะ รับประทานแล้วอายุจะยืนนาน.
* เรียบเรียงจากรายงานของ WildAid และ รายงานของนิตยสารข่าวรายปักษ์ Phnom Penh Post (ภาพประกอบ: WildAid)